สภาวะ ‘กองทัพ’ ที่ดูเหมือน ‘นิ่ง’ แต่กลับเต็มไปด้วย ‘ความเคลื่อนไหว’ โดยเฉพาะ ‘กองทัพบก’ ที่ ต.ค.นี้ จะมีการเปลี่ยน ผบ.ทบ. หลัง ‘บิ๊กต่อ’พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. (ตท.23) สายทหารเสือฯ จะเกษียณฯ ก.ย.67 แม้ว่าชื่อ ‘เสธ.ปู’พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. (ตท.26) จะเต็งหนึ่งมาตลอด หลังได้ไปฝึก ‘หลักสูตรทหารคอแดง’ ขณะเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้เข้ารับการฝึกหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ ของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) เพียงคนเดียว เพื่อขึ้นเป็น ‘แม่ทัพภาคที่ 1’ จากนั้นขึ้นตำแหน่ง ‘พลเอก’ เป็น เสธ.ทบ. เรียกว่าเป็น ‘ทหารคอแดง’ ชนิด ‘ฟาสต์แทร็ก’ ทันโยกนายพลปลายปี 2565 เพื่อรับตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1
อีกทั้งเป็น ตท.26 ที่จะมาเป็น ‘คั่นกลางอำนาจ’ ก่อนจะไปถึง ตท.27-28 ที่ขับเคี่ยวกันทั้งใน ทบ. และ นอก ทบ. ท่ามกลาง ‘สมรภูมิ ตท.27-28’ ทำให้ชื่อ พล.อ.พนา ยังไม่หลุดไปจากการเป็น ‘แคนดิเดต ผบ.ทบ.’
สำหรับ พล.อ.พนา เกษียณฯ ก.ย.70 เติบโตมาจาก กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) จนขึ้นเป็น ‘ผู้พัน’ แต่ไม่เคยเป็นหน่วย ‘ผู้กรมกรม’ หน่วยเดียวกับ ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีต ผบ.ทบ. (ตท.22)
อย่างไรก็ตามยังมีอีก 2 แคนดิเดต ผบ.ทบ. คนต่อไป คือ ‘บิ๊กหนุ่ย’พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.24) ที่เติบโตมาจาก พล.ร.2 รอ. เป็น ‘ทหารคอแดงบูรพาพยัคฆ์’ เกษียณฯก.ย.69 และ ‘บิ๊กหยอย’พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.24) เติบโตมาจากสายยุทธการ เกษียณฯ ก.ย.70 ไม่ได้เป็น ‘ทหารคอแดง’ แต่ทั้ง พล.อ.ธราพงษ์ กับ พล.อ.อุกฤษฎ์ ไม่เคยเป็น ‘แม่ทัพภาคที่ 1’ ทั้งคู่
ดังนั้นทำให้ชื่อของ พล.อ.พนา ยังคงมี ‘ดีกรี’ มากที่สุด อีกทั้ง ตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะต้องเป็น ‘ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904’ โดยตำแหน่งด้วย ทำให้ ผบ.ทบ. จะต้องเป็น ‘ทหารคอแดง’ เว้นแต่ พล.อ.อุกฤษฎ์ จะเข้าฝึกหลักสูตรทหารคอแดง เพื่อมารับตำแหน่ง ผบ.ทบ.
ซึ่งที่ผ่านมาน่าสนใจว่า พล.อ.พนา เก็บตัวพอสมควร เพื่อไม่ให้ตัวเอง ‘ตกเป็นเป้านิ่ง’ อีกทั้ง พล.อ.พนา มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยากที่จะ ‘ควบคุม-สั่งได้’ และไม่ได้แสดงท่าทีชัดว่าอยู่ทางขั้วอำนาจใด กับอดีต ผบ.ทบ. ที่ผ่านๆมา
ตั้งแต่ยุค ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งในยุคนั้น พล.อ.อภิรัชต์ กำลังเล็งหา ‘นายทหาร’ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ให้มาดูแลการสร้าง ‘หน่วยสไตรเกอร์’ ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในฐานะที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วย ร.31 รอ. ได้เสนอชื่อ พล.อ.พนา มาประจำที่ พล.ร.11 ที่จะตั้งเป็น ‘กองพลสไตรเกอร์’ ในขณะนั้น ซึ่ง พล.อ.พนา เคยศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
สำหรับในซีกแคนดิเดต 2 คน ทั้ง พล.อ.ธราพงษ์ และ พล.อ.อุกฤษฎ์ เป็นเพื่อน ตท.24 ที่เป็น ‘แผงอำนาจ ตท.24’ เป็นระดับ ‘ผู้นำกองทัพ’ ในขณะนี้ ได้แก่ ‘บิ๊กหนุ่ม’พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ‘บิ๊กอ๊อบ’พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ‘บิ๊กไก่’พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. จึงต้องจับตาว่า ผบ.ทบ. คนต่อไป จะเป็น ตท.24 หรือไม่
เพราะขั้ว ตท.24 ก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ในการผลักดัน ‘เพื่อนร่วมรุ่น’ แต่ในซีก ตท.26 ก็พยายามถนอม พล.อ.พนา ไม่ให้ตกเป็นเป้านิ่ง เพื่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ดังนั้นจึงเป็นการ ‘วัดพลัง’ ระหว่าง ตท.24 กับ ตท.26 ใน ทบ. ที่จะจัดวางดุลอำนาจอย่างไร เพราะต่างเติบโตขึ้นมา และเป็นรุ่นที่แข่งกันมาตลอด
อย่างไรก็ตามถือเป็น ‘โผทหารนายพล’ ก.ย.67 ที่ปรับใหญ่ครั้งแรก ของ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ ที่มี ‘สุทิน คลังแสง’ เป็น รมว.กลาโหม แต่สุดท้ายก็ยังเป็น ‘เสียงส่วนน้อย’ ใน ‘บอร์ด 7 เสือกลาโหม’ หรือคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ที่เสียงส่วนใหญ่เป็น ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.ทหารสูงสุด-ผบ.เหล่าทัพ’ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละ ‘เหล่าทัพ’ จะไม่จัดโผทหารข้ามเหล่าทัพ
ดังนั้นจึงอยู่ที่ พล.อ.เจริญชัย ตท.23 จะเสนอชื่อใครเป็น ผบ.ทบ. และพลังของ ตท.24 จะฝ่าเข้ามาได้หรือไม่ อีกทั้งจะมี ‘การเมืองล้วงลูก’ หรือไม่ โดยเฉพาะสัญญาณจาก ‘ไทยคู่ฟ้า-จันทร์ส่องหล้า’ ที่ก็ยากจะแทรกแซงเพราะ ‘โครงสร้างหน่วย ทบ.’ เปลี่ยนไป ภายหลังเกิดขึ้นของ ‘ทหารคอแดง’ นั่นเอง