‘ทหารเรือ’ รักต้องเลือก! อด ‘เรือฟริเกต’ ได้ ‘เรือดำน้ำ’ แทน

9 มีนาคม 2567 - 08:33

Thai-Navy-Frigate-Submarine-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปรียบเป็น ‘รักต้องเลือก’ ที่ ‘เพื่อไทย’ จัดให้ ระหว่างจะได้ ‘เรือดำน้ำ’ หรือ ‘เรือฟริเกต’

  • ภายหลัง กมธ.งบปี 2567 ตีตก ‘เรือฟริเกต’ พบเป็น ‘สัดส่วนเพื่อไทย’ ให้เหตุผลเรื่องภาพลักษณ์ ทร. 2 เหตุการณ์ และปัญหา ‘งบโป่งพอง’ ถูกมองว่าเป็น ‘เหตุผลหน้าฉาก’ ของ ‘ฝ่ายการเมือง’ หรือไม่ ?

  • จับตา 3 สัญญาณ จบที่ ‘เครื่องยนต์จีน’ ใกล้จบมหากาพย์ 3 ปี ‘เรือดำน้ำ’ ไม่ไปไหน

สำหรับ ‘กองทัพเรือ’ ที่ประสบปัญหาการจัด ‘งบประมาณ’ ในการจัดหา ‘ยุทโธปกรณ์’ มาหลายปีงบประมาณ ตั้งแต่เริ่มจัดหา ‘เรือดำน้ำ’ ลำแรก 13,500 ล้านบาท รวมทั้งการจัดหา ‘เรือยกพลขึ้นบก’ ขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาเรือรบใน ทร. จากจีน มูลค่า 6,100 ล้านบาท เพื่อมาเป็น ‘เรือพี่เลี้ยง’ ให้กับ ‘เรือดำน้ำ’ ที่ในขณะนี้เรือดำน้ำ ยังประสบปัญหา ‘เครื่องยนต์’ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  ที่ใกล้ได้ข้อสรุปอีก 1 เดือน  

ตามที่ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ได้ตั้ง ‘คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางแก้ปัญหาเรือดำน้ำ’ ขึ้นมา โดยตีกรอบ 3 เงื่อนไข ได้แก่ ฟังความเห็น-ความต้องการ ทร. , ประเทศไม่เสียประโยชน์ , สัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมตีกรอบเวลา 2 เดือน ได้ข้อสรุป ภายในเดือน มี.ค.67 ซึ่ง ‘สุทิน’ ไม่ได้อยู่ในคณะทำงานฯ แต่ตั้ง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็น ประธานคณะทำงานฯ 

ซึ่งในคณะทำงานฯ มี ‘ฝ่ายการเมือง’ มาร่วมด้วย เช่น ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตมือปราบเรือดำน้ำ จากพรรคเพื่อไทย ในยุค ‘รบ.ประยุทธ์’ ในซีกก้าวไกลส่ง พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ คีย์แมนกองทัพของพรรค และ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการ สมช. อดีต กก.บห.พรรคอนาคตใหม่ มาร่วมอยู่ในคณะทำงานฯ 

แน่นอนว่าการดึง ‘ภาคการเมือง’ ก็ถูกมองใน 2 มิติ มีทั้งเป็นคุณและโทษ คือได้ ‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล’ มาเป็น ‘ตราประทับ’ ในการใช้อ้าง ‘ความชอบธรรม’ ในอนาคต , การดึงฝ่ายการเมืองเข้ามาจะสร้าง ‘ความยุ่งยาก’ มากขึ้น และฝ่ายการเมืองไม่ต้อง ‘รับผิดชอบ’ กับการตัดสินใจ เหมือนกับ ‘ข้าราชการประจำ’ ที่มีระเบียบกำกับในการตัดสินใจต่างๆ 

ล่าสุด ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ได้ส่งสัญญาณบวก ในโครงการเรือดำน้ำ แม้ว่า กมธ.พิจารณางบฯ ปี 67 ได้ตีตกโครงการจัดหา ‘เรือฟริเกต’ ที่มีงบตั้งต้นปี 2567 อยู่ที่ 1,700 ล้านบาท คิดเป็น 10% จากงบทั้งหมด 17,000 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 5 ปี 

โดย ‘สุทิน’ ระบุว่า ทาง กมธ.งบปี 2567 ได้สะท้อนปัญหาและได้ทวงถามนโยบายของรัฐบาล ถ้าจะให้ทั้งเรือฟริเกตและเรือดำน้ำในปีเดียวกัน งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะ ‘โป่งพอง’ ขึ้น สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดบุคลากรและงบประมาณลงหรือไม่ จึงต้องมีการปรับแผน แต่ยืนยันว่าโครงการจัดหาเรือฟริเกต ยังคงเป็นไปตามแผน เพียงแต่ระยะเวลาต้องปรับเปลี่ยน อาจจะไม่ใช่งบปี 2567 แต่ขยับไปเป็นปีงบประมาณอื่นแทน 

เพราะขณะนี้เรื่องเรือดำน้ำ ก็อาจจะได้ข้อสรุป ซึ่งมีแนวโน้มจะต้องจัดงบซื้อเรือดำน้ำ จึงห่วงว่างบประมาณจะไม่พอ ต้องทำทีละอย่าง ซึ่งทางกรรมาธิการฯ คุยกับรัฐบาลก็มีความเห็นเป็นเช่นนี้” สุทิน กล่าว 

แนวทางที่จะเปลี่ยนเรือดำน้ำ เป็นเรือชนิดอื่น คงเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะจากการสอบถาม พล.อ.สมศักดิ์ ประธานคณะทำงานพิจารณาโครงการเรือดำน้ำ ก็บอกว่าต้องเป็นเรือดำน้ำ” สุทิน กล่าว

Thai-Navy-Frigate-Submarine-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: โมเดลเรือฟริเกต 5 บริษัทต่างชาติ ที่กองทัพเรือวางแผนจัดหา 1 ลำ 17,000 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณ 1,700 ล้านบาท ที่ ทร. ถูกตีตกโครงการจัดหาเรือฟริเกต ทาง ทร. จะดึงงบกลับ ทร. อย่างไร ‘สุทิน’ กล่าวว่า หากเป็นไปตามระบบก็ต้องนำเข้า ‘งบกลาง’ แต่ถ้างบก้อนนี้ ทร. อยากได้เงินส่วนนั้นมาทำภารกิจอื่น เช่น การซ่อมบำรุงยุทธโธปกรณ์ ต้องทำเรื่องขึ้นมา ให้ทันก่อน 26 มี.ค.67 ที่จะปรับปรุงงบประมาณปี 2568 รอบสุดท้าย เพื่อนำเข้า ครม. ให้ความเห็นชอบ โดย ‘สุทิน’ เชื่อว่าทางรัฐบาลจะพิจารณาให้กลับมาเป็นประโยชน์กับ ทร. 

สำหรับโครงการเรือฟริเกตและเรือดำน้ำของ ทร. ตั้งแต่งบประมาณปี 2567 ถึง 2569 มีดังนี้ 

งบประมาณปี 2567 ที่กำลังจะพิจารณาเข้าสู่วาระ 2-3 โครงการเรือฟริเกต 1,700 ล้านบาท ถูก กมธ.งบประมาณฯ ปี2567 ตีตกไปแล้ว ส่วนโครงการเรือดำน้ำ ทาง ทร. ไม่ได้เสนอของบโครงการฯ เพราะยังติดปัญหาเครื่องยนต์ ที่อยู่ระหว่างหาข้อยุติ 

งบประมาณปี 2568 ทาง ทร. ไม่ได้เสนอของบทั้ง 2 โครงการ ‘เรือดำน้ำ - เรือฟริเกต’ แต่เสนอโครงการจัดหาอาศยานแทน 

แต่ในกรณีงบประมาณปี 2568 เหลือเวลาถึง 26 มี.ค.นี้ ที่ ‘กองทัพเรือ’ มีโอกาสที่จะคุยกับรัฐบาล เพื่อให้บรรจุโครงการเรือฟริเกต ใส่ไปในงบปี 2568 แล้วนำเข้า ครม. เพื่อให้ทันส่งสภาฯ พิจารณาวาระแรก โดยชี้ถึง ‘ความจำเป็น’ ของโครงการ เพราะอีก 2 ปี จะเหลือ ‘เรือฟริเกต’ ที่ประจำการใน ทร. แค่ 3 ลำ 

สำหรับ ‘เรือฟริเกต’ ที่ประจำการอยู่เหลือ 4 ลำ และใกล้ปลดประจำการ ได้แก่ รล.ตากสิน (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 2578) รล.นเรศวร (ประจำการครบ 40 ปี ในปี 2577) รล.รัตนโกสินทร์ (เตรียมปลดประจำการปี 2569 ) และ รล.ภูมิพลอดุลยเดช ที่เข้าประการได้ 5 ปีแล้ว 

หากรัฐบาลไม่อนุมัติโครงการ ‘เรือฟริเกต’ ในงบปี 2568 ก็จะต้องนำ ‘ปรับแผน’ ไปเป็นโครงการซ่อมบำรุง ตามที่ ‘สุทิน’ ให้สัมภาษณ์แทน 

ส่วนงบประมาณปี 69 ทาง ทร. ได้เสนอของบโครงการเรือดำน้ำอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้ ทร. ได้ใช้งบประมาณจ่ายให้กับบริษัทจีน ในการต่อเรือดำน้ำไปแล้ว 70 %

Thai-Navy-Frigate-Submarine-SPACEBAR-Photo V02.jpg
Photo: เรือดำน้ำชั้นซ่ง 'ฉางเฉิน' ของกองทัพเรือจีน จอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ร่วมฝึกผสมภายใต้รหัส BLUE STRIKE 2023 เป็นครั้งแรก เมื่อ 1-10 ก.ย. 2566

ดังนั้นหากพิจารณาก็จะพบว่า บทสรุปของ ‘กลาโหม’ ต่อโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เชื่อว่าจะจบที่ ‘เครื่องยนต์จีน’ ตามที่ ทร. ได้สรุปเอาไว้ ตั้งแต่ยุค พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ.ทร. อีกทั้งจะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่เบิกจ่ายไปแล้ว และไม่เกิดปัญหาการจ่ายชดเชยต่างๆ หากไม่เป็นไปตามสัญญา รวมทั้งไม่กระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย 

ดังนั้นเปรียบเป็น ‘รักต้องเลือก’ ที่ ‘เพื่อไทย’ จัดให้ ระหว่างจะได้ ‘เรือดำน้ำ’ หรือ ‘เรือฟริเกต’ เพราะ กมธ.งบปี 2567 ที่ตีตกโครงการ ‘เรือฟริเกต’ เป็นสัดส่วนเพื่อไทย โดยให้เหตุผลเรื่องภาพลักษณ์ ทร. ที่เกิด 2 เหตุการณ์ ทั้งปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ และ รล.สุโขทัย อับปาง รวมทั้งปัญหา ‘งบโป่งพอง’ ของกระทรวงกลาโหม 

ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ ถูกมองว่าเป็น ‘เหตุผลหน้าฉาก’ ของ ‘ฝ่ายการเมือง’ เท่านั้น หรือไม่ ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์