‘ไทย - บังกลาเทศ’ ลงนามความตกลง 5 ฉบับ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทุกมิติ

26 เมษายน 2567 - 07:47

Thailand-Bangladesh-signs-5-agreements-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘ไทย - บังกลาเทศ’ มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทุกมิติ

  • โอกาสดีลงนามความตกลง 5 ฉบับ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันแก่ประชาชนสองประเทศ

  • ‘นายกฯ บังกลาเทศ’ ชื่นชมไทยหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ พร้อมเชิญ ‘เศรษฐา’ เยือนบังกลาเทศ

เศรษฐา​ ทวี​สิน​ นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ ให้การต้อนรับ เชค ฮาซีนา (H.E. Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

โดยนายกรัฐมนตรีได้นำนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล​ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ จะลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก) ตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้น เป็นการหารือของทั้งสองฝ่าย ณ ห้องสีงาช้าง

Thailand-Bangladesh-signs-5-agreements-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงร่วมกัน จำนวน 5 ฉบับ ดังนี้

  1. หนังสือประกาศเจตนารมณ์เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - บังกลาเทศ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและบังกลาเทศ

  2. ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

  3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงไฟฟ้า พลังงานและทรัพยากรแร่แห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

  4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการบินพลเรือนและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

  5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือทางศุลกากรระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทย กับศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและบังกลาเทศแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศและคณะ ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ประเทศไทยและบังกลาเทศต่างมีมิตรภาพอันยาวนานร่วมกันนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) รวมทั้งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน

การเยือนฯ ครั้งนี้ จึงตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผ่านการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านการพัฒนา และการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นสำคัญ พร้อมย้ำความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ดังนี้

Thailand-Bangladesh-signs-5-agreements-SPACEBAR-Photo02.jpg

ด้านการค้า ทั้งสองฝ่ายยินดีกับปริมาณการค้าทวิภาคีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อมั่นว่า จะสามารถขยายความร่วมมือเพิ่มเติม เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้บังกลาเทศส่งเสริมการลงทุน และมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing business) ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนไทย และอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนได้มากขึ้น

นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและบังกลาเทศ ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การบรรลุความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย – บังกลาเทศ โดยเชื่อมั่นว่า หนังสือประกาศเจตนารมณ์ (Letter of Intent) ที่ลงนามในวันนี้ จะช่วยเร่งกระบวนการเจรจาได้

โดยในวันนี้ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจที่สำคัญ 3 ฉบับ และความตกลง 1 ฉบับ ได้แก่  

(1) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและบังกลาเทศมากขึ้น

(2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดศักยภาพที่แท้จริงจากความร่วมมือด้านพลังงาน

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือทางศุลกากร ที่จะนำไปสู่การควบคุมชายแดนและการต่อต้านการลักลอบขนของอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว ที่จะช่วยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีร่วมกัน

Thailand-Bangladesh-signs-5-agreements-SPACEBAR-Photo03.jpg

ด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งหวังที่จะยกระดับความร่วมมือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมฮาลาล และการแปรรูปอาหาร โดยจะใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ

โครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงผ่านการขนส่ง ระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือจิตตะกองที่จะช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อทางทะเล และผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ไทยมีบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ ในราคาที่เหมาะสมสำหรับชาวบังกลาเทศที่ต้องการเข้ารับการรักษาในไทย และได้หารือถึงความร่วมมือในการฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ชาวบังกลาเทศ

ด้านร่วมมือทางการศึกษา ไทยเสนอความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ซึ่งรัฐบาลยินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมการศึกษาแบบบูรณาการการทำงานเพื่อการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน

ความร่วมมือภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปลายปีนี้ และบังกลาเทศจะเป็นประธานคนต่อไป โดย BIMSTEC ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเป็นกลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองภูมิภาค ด้วยจำนวนประชากรรวมกัน 1.8 พันล้านคน BIMSTEC จึงมีศักยภาพอย่างมากที่จะประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ไทยได้ชื่นชมบทบาทของบังกลาเทศในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮีนจาผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ซึ่งไทยให้การสนับสนุนความพยายามของบังกลาเทศมาโดยตลอดเพื่อบรรลุแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืนในประเด็นดังกล่าว

Thailand-Bangladesh-signs-5-agreements-SPACEBAR-Photo04.jpg

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำในนามของรัฐบาลไทย ว่า ไทยจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนร่วมมือและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในทุกมิติ ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับสาธารณะ พร้อมขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ และคณะอีกครั้งสำหรับการมาเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้

ในส่วนของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนานสืบมาจากทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเทศไทยถือเป็นหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ โดยบังกลาเทศยินดีกับความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน และหวังว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศได้ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาอำนวยความสะดวก (ease of doing business) การลงทุนสำหรับภาคเอกชนบังกลาเทศ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนบังกลาเทศเช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์