ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสาร มีมติเป็นเอกฉันท์มีไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณี สนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) ใช้นโยบายดิทัลวอลเล็ตในการหาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเดิม เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 (1) และมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (2) และ (3) และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรรคหนึ่ง (1) และ (5)
โดย ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่สนธิญาโต้แย้งนโยบายพรรคของแพทองธาร และไม่ปรากฏว่าสนธิญาถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง
กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233 ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
- ตีตกคำร้อง ‘คงเดชา’ ปม ‘ทักษิณ’ ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์อยู่ชั้น 14
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่ คงเดชา ชัยรัตน์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์และรับทราบการบังคับใช้กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ปี 2563 และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีอำนาจให้ความเห็นชอบและอนุญาตบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว
ส่งตัว ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีอาการป่วยรุนแรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง(2) อีกทั้งไม่ได้ดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทักษิณ ได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ทำให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย
ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
โดยคำร้องนี้ผู้ร้องยื่นต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ขอให้อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ทักษิณ เลิกการกระทำที่เป็นการครอบงำหรือจูงใจ ให้ผู้ถูกร้องทั้ง3 คน ใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามคำร้องผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องการกระทำดังกล่าว
“ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่าได้พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องทั้ง3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องทั้งสามกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง”
ศาลรัฐธรรมนูญระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ คงเดชา ได้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่ทำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้มาจากเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอชัดเจนและยังห่างไกลเกินกว่าเหตุให้เห็นว่าจะนำไปสู่การใช้ สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง