'ทักษิณ' จะ 'พักโทษ' บ้านหลังไหน? ถ้าไม่ใช่ 'จันทร์ส่องหล้า'

14 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:36

Thaksin-Chan-Song-La-House-Parole-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ถ้าไม่ใช่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ แล้ว ‘ทักษิณ’ จะใช้ ‘บ้านหลังใด’ เป็นที่พักช่วง ‘พักโทษ’ ตั้งแต่ 18ก.พ.นี้

  • หลังชื่อ ‘ทักษิณ’ จะเดิมที่อยู่ในการดูแลของ ‘กรมราชทัณฑ์’ ไปอยู่ภายใต้ ‘กรมคุมประพฤติ’ แทน

  • เปิด 8 เงื่อนไข ‘พักโทษ’ ทำ-ห้ามทำ อะไรบ้าง ? แล้วทำไม ‘ทักษิณ’ ถึงเลือก ‘พักโทษ’ ทำไมไม่เลือกใช้ระเบียบใหม่กรมราชทัณฑ์ ‘คุมขังนอกเรือนจำ’

สายลมแห่งอำนาจ หวนกลับมาที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ฐานที่มั่น ‘ตระกูลชินวัตร’ ในอดีตอีกครั้ง หลัง ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จะใช้บ้านหลังนี้ในช่วงที่ได้รับ ‘พักโทษ’ ช่วง 18 ก.พ.เป็นต้นไป จนกว่าจะ ‘พ้นโทษ’ ช่วงปลาย ส.ค. ต้น ก.ย.67 หลัง ‘ทักษิณ’ ได้รับ ‘อภัยลดโทษ’ เหลือ 1 ปี

‘ทวี สอดส่อง’รมว.ยุติธรรม ระบุว่ามีชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อยู่ใน 930 คน ที่ได้รับ ‘พักโทษ’ ที่เข้าเกณฑ์ตาม กม.ราชทัณฑ์ มาตรา 52 หลังรับโทษมาแล้ว อย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 หากอันไหนมากกว่ากันก็ใช้ มีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี และที่อยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรง-พิการ และอายุเกิน 70 ปี

รมว.ยุติธรรม ได้เปิดเผย ‘สถิติโครงการการพักโทษ’ ในกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการหรืออายุเกิน 70 ปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 มี 2,440 คน และครั้งนี้มี 8 คน ที่อยู่ในกลุ่มนี้

ภายหลังที่ ‘ทักษิณ’ ได้รับการ ‘พักโทษ’ ก็จะเข้าไปอยู่ในการดูแลของ ‘กรมคุมประพฤติ’ แทน ‘กรมราชทัณฑ์’ ที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมทั้งคู่ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับ ‘เขตอำนาจเรือนจำ’ ทำให้ ‘ทักษิณ’ สามารถไป ‘พักโทษ’ ที่บ้านหลังใดก็ได้

ทั้ง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ถ.จรัญสนิทวงษ์ ย่านบางพลัด ‘บ้านชินวัตรใหม่’ ใกล้สนามฟุตบอลอัลไพน์ ถ.รามอินทรา-นวมินทร์ หรือที่พักอื่นๆ ที่เป็น ‘บ้านหลังที่ 3’ ซึ่งต้องแจ้งให้ ‘เรือนจำ’ ทราบ ไม่ว่าจะพักที่ใดก็ตาม

เท่ากับว่า ‘ทักษิณ’ มีตัวเลือก 3 แนวทาง แต่สิ่งที่ ‘ครอบครัวชินวัตร’ ให้น้ำหนักมากที่สุดคือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ ของ ‘ทักษิณ’ ดังนั้นการจะได้เห็น ‘ทักษิณ’ ปรากฏตัวในวันที่ได้รับ ‘พักโทษ’ จึงต้องดูว่า ‘ทักษิณ-ครอบครัว’ จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

ส่วนเหตุผลที่ ‘ทักษิณ’ เลือกใช้การ ‘พักโทษ’ ไม่ใช้สิทธิตามระเบียบใหม่กรมราชทัณฑ์ ‘คุมขังนอกเรือนจำ’ ก่อนหน้านี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิด ‘แรงกระเพื่อม’ โดยไม่จำเป็น ในเรื่องการ ‘เลือกปฏิบัติ-อภิสิทธิ์ชน’ อีกทั้งจะเกิดความยุ่งยากต่างๆในขั้นตอนการพิจารณา ที่ต้องผ่าน ‘คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง’

ซึ่ง ‘คณะทำงานฯ’ ประกอบด้วย รองอธิบดี ที่กำกับดูแล กองทัณฑวิทยา เป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ ผู้อำนวยการ กองกฎหมาย และบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข 1 คน และด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 1 คน

โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการ ควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยาที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

‘คณะทำงานฯ’ มีอำนาจ-หน้าที่ดังนี้

1.พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

2.เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นเกี่ยวกับการคุมขังในสถานที่คุมขังต่ออธิบดี การประชุมของคณะทำงาน ต้องมีคณะทำงานมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะทำงานทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก คณะทำงานคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ซึ่ง ‘คณะทำงานฯ’ ส่วนใหญ่เป็น ‘ข้าราชประจำ’ ก็เกรงเรื่อง ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆที่อาจตามมา

ส่วน 8 เงื่อนไขระหว่าง ‘พักโทษ’ ได้แก่

1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ

2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต

3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพย์ติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก

4. ประกอบอาชีพโดยสุจริต

5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา

6. ห้ามพกพาอาวุธ

7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ

8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

ดังนั้นการใช้สิทธิ ‘พักโทษ’ ที่ชื่อ ‘ทักษิณ’ เป็น 1 ใน 930 รายชื่อ ย่อมเป็น ‘ทางออก’ ที่ดีกว่า และไม่ตกเป็นเป้าจนเกินไป อีกทั้ง ‘ทักษิณ’ ก็เข้าเกณฑ์ ‘พักโทษ’ อยู่แล้ว โดยอยู่ภายใต้ 8 เงื่อนไข

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์