‘แรงเงา’ ผู้นำภาคใหม่! อำนาจเชิงซ้อน ‘ทักษิณ-ฮุน เซน’

21 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:48

URLThaksin-Hunsen-Friend-Forever-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การพบกันของ ‘ทักษิณ-ฮุน เซน’ ในวันที่สถานะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ระหว่าง ‘อดีตนายกฯ - นักโทษคุมประพฤติ’ ใจกลางกรุงเทพฯ ณ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ดูเหมือน ‘วันเวลาแห่งอำนาจ’ กำลังย้อนกลับไปอีกครั้ง

  • กลายเป็น ‘อำนาจเชิงซ้อน’ หรือปรากฏการณ์ ‘แรงเงาผู้นำ’ ที่เกิดขึ้นกับ ‘รัฐบาลไทย-กัมพูชา’ ในการพบกันของ 2 อดีตนายกฯ ที่มีพาวเวอร์ต่อรัฐบาลประเทศตัวเอง ระหว่าง ‘รบ.เศรษฐา - รบ.ฮุน มาเมต’ ที่สุดท้าย ‘เศรษฐา’ ก็เป็นเพียง ‘นายกฯ นิตินัย’

  • สายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ตระกูลชินวัตร-ตระกูลฮุน’ กว่า 30 ปี ผ่านทั้งช่วง ‘ชื่นมื่น-วัดใจ-นิ่งสงบ’ การเข้าพบครั้งนี้ จึงต้องจับตานโยบายพัฒนาร่วมระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ จะมีเรื่องใด ได้บทสรุปหรือไม่

ผู้นำต่างสถานะ

ศูนย์รวมอำนาจ เปลี่ยนจาก ‘บ้านนรสิงห์’ ทำเนียบรัฐบาล ไปยัง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ นับจาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับการ ‘พักโทษ’ เมื่อ 18ก.พ.ที่ผ่านมา บุคคลสำคัญของ ‘รัฐบาล-เพื่อไทย’ แทบจะยังไม่มีใครได้เข้าเยี่ยม ‘ทักษิณ’ ยกเว้นคนใน ‘ตระกูลชินวัตร’ แต่กลับมี ‘บุคคลต่างแดน’ ที่เป็น ‘เพื่อนรัก’ ได้เข้าเยี่ยมลำดับแรกๆ นั่นคือ ‘สมเด็จฮุน เซน’ ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกฯกัมพูชา

ในวันนี้ ‘ทักษิณ - ฮุนเซน’ มาพบกันในสถานะที่ต่างจากอดีต ระหว่าง ‘อดีตนายกฯ’ กับ ‘นักโทษคุมประพฤติ’

‘ฮุน เซน’ เข้าเยี่ยมและทานข้าวเที่ยงกับ ‘ทักษิณ’ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า 21ก.พ.67 ซึ่งครบ 2 สัปดาห์ที่ ‘ฮุน มาเนต’นายกฯ กัมพูชา บุตรชายที่เป็น ‘ทายาทการเมือง’ เดินทางมาไทย เพื่อให้พบ ‘นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน’ เมื่อ 7 ก.พ.67 พร้อมกับลงนามความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการหารือคือเรื่อง ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล’ 

ซึ่ง ‘ไทย-กัมพูชา’ จะมีความร่วมมือ ‘ด้านพลังงาน’ ในพื้นที่อ่าวไทย ที่จะมีการหารือเพิ่มเติมในการแสวงหาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานใน ‘พื้นที่ทับซ้อน’ หรือที่เรียกว่า Overlopping Claims Area (OCA)

การพบกันระหว่าง ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการ ‘แบ่งเขตแดน’ ที่ทั้ง ‘ไทย-กัมพูชา’ ที่ต่างอ้างสิทธิของตัวเอง แม้ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ หลังกัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร 

จนมาถึงยุค ‘รบ.ทักษิณ ชินวัตร’ ได้มีการลงนามรับรอง ‘บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป’ เมื่อปี 2544 หรือที่เรียกว่า ‘MOU 2544’ เปรียบเป็น ‘สารตั้งต้น’ ที่นำมาใช้ในการเจรจาหลายครั้ง

ย้อนสัมพันธ์เพื่อนรัก ‘ทักษิณ – ฮุน เซน’

‘ทักษิณ’ พบกับ ‘ฮุน เซน’ ครั้งล่าสุดที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา บ้านเกิด ‘ฮุน เซน’ เมื่อ 5ส.ค.66 โดยมี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ไปพร้อมกัน เพื่อร่วมงานวันเกิดของ ‘ฮุน เซน’ อายุครบ 71 ปี ซึ่งในภาพถ่ายพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว ‘ฮุน เซน’ ทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลา 17 วัน ก่อนที่ ‘ทักษิณ’ จะกลับไทย 22ส.ค.67 

ย้อนสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทักษิณ-ฮุน เซน’ ยาวนานกว่า 30 กว่าปี เริ่มจากช่วงที่ ‘ทักษิณ’ เข้าไปทำ ‘ธุรกิจเคเบิลทีวี’ ในกัมพูชา ในชื่อบริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด

มาถึงช่วงปี 2538 ‘ทักษิณ’ เข้าสู่สนามการเมือง ในตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ ได้เสนอ ครม. ให้อนุมัติกระทรวงการต่างประเทศ จัดทำข้อตกลงด้านการส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลไทย-กัมพูชา

ช่วงเวลา ‘วัดใจเพื่อน’

มาถึงจุด ‘วัดใจเพื่อน’ ช่วงปี 2546 ยุค ‘รบ.ทักษิณ’  ได้เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา หลังมีกระแสข่าวลือเรื่องนักแสดงชาวไทยดูหมิ่นชาวกัมพูชา เหตุการณ์ครั้งนั้น ‘ทักษิณ’ ได้ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ 2 ประเทศ เหลือระดับ ‘อุปทูต’ เพื่อเปิดช่องเจรจากัน ในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลไทยได้ ‘ปฏิบัติการโปเชนตง’ อพยพคนไทยออกจากกัมพูชาด้วย

หลังเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ ‘ทักษิณ’ ต้องอยู่ต่างประเทศ หนึ่งในประเทศที่เปิดรับ ‘ทักษิณ’ ตลอดคือ ‘กัมพูชา’ ช่วงที่ ‘ทักษิณ’ ต้องอยู่ต่างแดนระยะแรก ก็จะใช้ ‘กัมพูชา’ เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะยุค ‘รบ.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เช่น การจัดเวทีปราศรัย นปช. 

ที่สำคัญในปี 2552 ‘ฮุน เซน’ ได้แต่งตั้ง ‘ทักษิณ’ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาด้านเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 2553 ‘ฮุน เซน’ เปิดเผยว่า ‘ทักษิณ’ ได้ออกจาก 2 ตำแหน่งดังกล่าไปแล้ว แต่ยังคงย้ำถึงสัมพันธ์ความเป็น ‘เพื่อน’ ที่มีต่อกัน

อีกทั้ง ‘กัมพูชา’ ยังปฏิเสธหนังสือส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากไทย หลัง ‘รบ.อภิสิทธิ์’ ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งทางกัมพูชาให้เหตุผลในเรื่องกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่เป็นเรื่องการเมือง โดยผลพวงจาก ‘รัฐประหาร 2549’ จึงไม่ส่งตัว ‘ทักษิณ’ กลับไทย

มาถึงปี 2554 ยุค ‘รบ.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กลุ่ม นปช. นำโดย ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ได้เดินทางไปแข่งฟุตบอลกระชับมิตรกับ ‘รัฐบาลกัมพูชา’ 

มาถึงปี 2555 ยุค ‘รบ.ยิ่งลักษณ์’ กลุ่ม นปช. จัดเวทีปราศรัย-จัดงานสงกรานต์ ที่ จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ถือเป็นเวทีในตำนาน เพราะเป็นที่มาของ ‘เพลง Let It Be’ ที่ ‘ทักษิณ’ ขับร้องบนเวที

ต่อมาในยุคหลัง ‘รัฐประหาร 2557’ เป็นที่สังเกตว่า ‘ทักษิณ’ เคลื่อนไหวทางการเมืองลดลง และไม่ปรากฏข่าวไปเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กัมพูชา ซึ่งในยุค คสช. เรียกว่าความสัมพันธ์ ‘รบ.ประยุทธ์ - รบ.ฮุน เซน’ มีความแนบชิด เกิดภาพ ‘ฮุน เซน’ สวมกอดประยุทธ์ อย่างน้อย 2 ครั้ง ในการพบปะกัน

อำนาจเชิงซ้อน ‘แรงเงา’ ผู้นำภาคใหม่

การขึ้นเป็นนายกฯ ของทั้ง ‘เศรษฐา - ฮุน มาเนต’ ถูกมองเหมือนกันในแง่ ‘ความอิสระ’ ในการบริหารประเทศ ในส่วนของ ‘ฮุน มาเนต’ ก็หนีไม่พ้นทายาท ‘ฮุน เซน’ ส่วน ‘เศรษฐา’ ก็หนีไม่พ้นเงา ‘ทักษิณ’ ในยุคที่ทั้ง 2 ประเทศ ‘เปลี่ยนผ่านการเมือง’ ในรูปแบบของตัวเอง โดยเฉพาะฝั่งไทยที่ ‘เพื่อไทย-ทักษิณ’ กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ผ่านการตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ทำให้ ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ กลายเป็น ‘กันชน’ ระหว่าง ‘ขั้วอนุรักษนิยม-พรรคก้าวไกล’

การพบกันของ ‘ทักษิณ - ฮุน เซน’ จึงถูกจับตาในรูปแบบ ‘อำนาจเชิงซ้อน’ ที่มีอำนาจเต็ม ผ่านลักษณะ ‘อำนาจเชิงสัญลักษณ์’ จึงต้องจับตาว่าจะมีบทสรุปเรื่องใดออกมาหรือไม่ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศ ในมิติ ‘เศรษฐกิจ-การเมือง’

ทว่าในสภาวะเช่นนี้ก็ทำให้ ‘เศรษฐา’ เป็นเพียง ‘นายกฯ นิตินัย’ ตาม รธน. เท่านั้น เพราะ ‘นายกฯ พฤตินัย’ ประจำการอยู่ที่ ‘ทำเนียบจันทร์ส่องหล้า’ ที่จะคอย ‘บัญชาการ’ นั่นเอง จากนี้ไปหลายนโยบายของ ‘รบ.เศรษฐา’ ที่ยังไม่ขยับหรือยื้อเวลาเอาไว้ อาจได้เห็น ‘ความคืบหน้า’ มากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์