คปท. ลาก ‘กองทัพ’ สกัดอำนาจ ‘ทักษิณ’

1 มีนาคม 2567 - 09:55

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Hero.jpg
  • คปท. เคลื่อนไหวลาก ‘กองทัพ’ เปิดประเด็นใหม่ ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล’ ระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ หลังปรากฏการณ์ ‘ทักษิณ’ เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ต้อนรับ ‘ฮุน เซน’ เข้าพบคนแรกๆ

  • ย้อนรอย ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล’ ผ่านหัวเชื้อ ‘สารตั้งต้น’ ที่เรียกว่า “MOU 44” ข้อตกลงที่ทำขึ้นในยุค ‘รัฐบาลทักษิณ’ กลุ่ม คปท. ตั้งธงหวั่น ‘เสียดินแดน’ เกาะกูด จ.ตราด

  • ท่าที ‘กองทัพ’ ยังคงนิ่ง ไม่ขยับตาม คปท. ขณะที่ พล.ร.อ.อะดุง ผบ.ทร. ยืนยันชัด ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา ยึดตามสนธิสัญญา ‘ไทย-ฝรั่งเศส’

กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กรณีของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เริ่มต้นตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย.2566 นับตั้งแต่ ‘ทักษิณ’ กลับไทย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่กลุ่ม คปท. ไปชุมนุมหน้า รพ.ตำรวจ หลายครั้ง มาจนถึง ‘ทักษิณ’ ได้รับการ ‘พักโทษ’ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่ม คปท. ปรับประเด็นมาในเรื่องเชิง ‘นโยบายรัฐบาล’ มากขึ้น เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ’ ภายใน ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ 

การที่ ‘ทักษิณ’ เปิดบ้านให้ ‘ฮุน เซน’ อดีตนายกฯ กัมพูชาเข้าเยี่ยม ถือเป็นบุคคลสำคัญคนแรกๆที่ได้เข้าพบ ‘ทักษิณ’ ในระนาบเดียวกับ ‘ครอบครัวชินวัตร’ อีกทั้งก่อน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ ได้เข้าพบด้วย  

ที่สำคัญเหตุการณ์ ‘ทักษิณ-ฮุนเซน’ พบกัน เกิดขึ้นภายหลัง 2 สัปดาห์ ที่ ‘ฮุน มาเนต’ นายกฯกัมพูชา ที่เป็น ‘ทายาทการเมือง’ ของ ‘ฮุนเซน’ เดินทางเยือนไทย เพื่อหารือและลงนามความร่วมมือกับ ‘เศรษฐา-รัฐบาลไทย’

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo04.jpg

2 ผู้นำตัวจริง ณ จันทร์ส่องหล้า 

‘ฮุน เซน’ โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันกับพบ ‘ทักษิณ’ ไม่มีเรื่องการเมือง เป็นการพบกันในฐานะมิตรที่รู้จักกันมากว่า 30 ปี หากย้อนสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทักษิณ-ฮุน เซน’ จะพบว่า เริ่มต้นช่วงที่ ‘ทักษิณ’ เข้าไปทำ ‘ธุรกิจเคเบิลทีวี’ ในกัมพูชา ในชื่อบริษัท ไอบีซี กัมพูชา จำกัด 

มาถึงช่วงปี 2538 ‘ทักษิณ’ เข้าสู่สนามการเมือง ในตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ ได้เสนอ ครม. ให้อนุมัติกระทรวงการต่างประเทศ จัดทำข้อตกลงด้านการส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลไทย-กัมพูชา 

มาถึงช่วงปี 2546 ยุค ‘รัฐบาลทักษิณ’  ได้เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา หลังมีกระแสข่าวลือเรื่องนักแสดงชาวไทยดูหมิ่นชาวกัมพูชา เหตุการณ์ครั้งนั้น ‘ทักษิณ’ ได้ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ 2 ประเทศ เหลือระดับ ‘อุปทูต’ เพื่อเปิดช่องเจรจากัน ในเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลไทยได้ ‘ปฏิบัติการโปเชนตง’ อพยพคนไทยออกจากกัมพูชาด้วย 

หลังเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ ‘ทักษิณ’ ต้องอยู่ต่างประเทศ หนึ่งในประเทศที่เปิดรับ ‘ทักษิณ’ ตลอดคือ ‘กัมพูชา’ ช่วงที่ ‘ทักษิณ’ ต้องอยู่ต่างแดนระยะแรก ก็จะใช้ ‘กัมพูชา’ เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะยุค ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เช่น การจัดเวทีปราศรัย นปช.  

ที่สำคัญในปี 2552 ‘ฮุน เซน’ ได้แต่งตั้ง ‘ทักษิณ’ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาด้านเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 2553 ‘ฮุน เซน’ เปิดเผยว่า ‘ทักษิณ’ ได้ออกจาก 2 ตำแหน่งดังกล่าวไปแล้ว  

อีกทั้ง ‘กัมพูชา’ ยังปฏิเสธหนังสือส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากไทย หลัง ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์’ ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งทางกัมพูชาให้เหตุผลในเรื่องกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่เป็นเรื่องการเมือง โดยผลพวงจาก ‘รัฐประหาร 2549’ จึงไม่ส่งตัว ‘ทักษิณ’ กลับไทย 

มาถึงปี 2554 ยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กลุ่ม นปช. นำโดย ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ได้เดินทางไปแข่งฟุตบอลกระชับมิตรกับ ‘รัฐบาลกัมพูชา’ ปี 2555 กลุ่ม นปช. จัดเวทีปราศรัย-จัดงานสงกรานต์ ที่ จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ถือเป็นเวทีในตำนาน เพราะเป็นที่มาของ ‘เพลง Let It Be’ ที่ ‘ทักษิณ’ ขับร้องบนเวที 

‘ทักษิณ’ พบกับ ‘ฮุน เซน’ ครั้งล่าสุดที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา บ้านเกิด ‘ฮุน เซน’ เมื่อ 5ส.ค.66 โดยมี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ไปพร้อมกัน เพื่อร่วมงานวันเกิดของ ‘ฮุน เซน’ อายุครบ 71 ปี ซึ่งในภาพถ่ายพบว่าส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว ‘ฮุน เซน’ ทั้งหมด ซึ่งเป็นช่วงเวลา 17 วัน ก่อนที่ ‘ทักษิณ’ จะกลับไทย 22ส.ค.67 

ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ‘ตระกูลชินวัตร - ตระกูลฮุน’ ทำให้ซีกฝั่ง คปท. ที่เป็น ‘ตัวแทน’ ของขั้วอนุรักษนิยม เกิดความ ‘หวาดระแวง’และ ‘เปิดประเด็นใหม่’ โดยพุ่งเป้าไปที่เรื่อง ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล’ ที่รัฐบาล 2 ประเทศ จะมีการ ‘เจรจาความร่วมมือ’ ขึ้นมาอีกครั้ง

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo09.jpg

คปท. ลาก ‘กองทัพ’ สู่ ‘การเมือง’  

เริ่มจาก ‘กองทัพเรือ’ ที่ดูแลอธิปไตย ‘น่านน้ำไทย’ โดย พิชิต ไชยมงคล , นัสเซอร์ ยีหมะ , สอและ กูมุดา ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ใจเพชร กล้าจน และ อานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนกองทัพธรรมและตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เรื่องขอให้ยึดมั่นในการปกป้องดินแดนประเทศไทย 

โดยเอกสารดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า การลากเส้นเขตแดนทางทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ที่จัดทำโดยประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ลากผ่านกึ่งกลางของเกาะกูด จ.ตราด ของประเทศไทย ทั้งที่ เกาะกูด จ.ตราด นั้น เป็นพื้นที่ของประเทศไทย  

โดยไม่มีข้อโต้แย้งอันใดตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ.1970 (พ.ศ.2450) ข้อ 2 ที่ระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้ แก่กรุงสยามฯ”

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo01.jpg

ผบ.ทร. พูดชัด ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย 

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพเรือ รุ่นที่ 21 ประจำปีงบประมาณ 2567 (29ก.พ.67) ว่า “เกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ไม่มีทางเป็นอื่น จึงไม่ต้องกังวล เกาะกูดจึงไม่มีทางเป็นของประเทศกัมพูชา”

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo06.jpg

คปท. บุก ‘กลาโหม’ บีบ ‘สุทิน’ พูดให้ชัด 

กลุ่ม คปท. เดินทางมายังกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม แสดงจุดยืนเรื่อง ‘เกาะกูด’ จ.ตราด ชัดเจนว่าเป็น ‘ดินแดน’ ของประเทศไทย หลัง ‘สุทิน’ โยนให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ชี้แจงในเรื่อง ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ในการหาข้อสรุป ส่วนบทบาท ‘ทหาร’ จะเป็น ‘ผู้รักษาข้อสรุป-รักษาเขตแดน’ เท่านั้น 

ส่วนข้อกังวลที่อาจจะต้องเสียเกาะกูดไป หากประเทศกัมพูชาขีดเส้นออกมา จะให้ความมั่นใจกับกลุ่ม คปท. อย่างไรนั้น สุทิน ระบุว่า ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาเป็นผู้ตอบ

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo10.jpg

สุทิน ยังชี้แจงกรณีกลุ่ม คปท. เคลื่อนไหวมาที่กระทรวงกลาโหม ว่า เป็นสิทธิความกังวลของคนไทย ที่กังวลได้ ซึ่งมีความห่วงความรักชาติ เว้นแต่ว่าขอให้มั่นใจว่าวันนี้ ประเทศเรามีระบบประชาธิปไตยที่ดี ที่มีการตรวจสอบได้ในสภาฯ คิดจะทำอะไร นำผลประโยชน์ของชาติไปทำเสื่อมเสีย ระบบสามารถตรวจสอบและกำกับได้อยู่ และสังคมก็ช่วยกันดู ให้สบายใจได้ ความกังวลต้นก็เข้าใจได้ แต่ก็กังวลให้พองาม 

ส่วนจะส่งผลต่อการ ‘เจรจาพื้นที่ทับซ้อน’ หรือไม่ สุทิน กล่าวว่า ถ้าทุกคนอยู่ที่เส้นของตนเอง ก็จะเป็นคุณในการเจรจา ความเป็นห่วงก็สามารถส่งเสียงสะท้อนได้ เพียงแต่เราไม่เกินเลยไป ซึ่งตนเองก็มองว่าจะทำให้เป็นผลบวก การเจรจาก็จะคำนึงถึงเสียงเหล่านี้ แต่ถ้าหากเราเลยเส้นไป จะทำให้การเจรจาเบี่ยงเบนไป

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo02.jpg

ส่วนท่าทีกลุ่ม คปท. ดูเหมือนพยายามดึงกองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ สุทิน กล่าวว่า “เขาคงมองว่ากองทัพ มีส่วนในการเจรจาในเรื่องนี้ เขาก็เลยมา ผมมองว่า ส่วนงานไหนที่มีส่วนกับเรื่องนี้ทางกลุ่ม คปท.ก็คงจะไป” 

สุดท้ายกรณี ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ จะเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ ต่อรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่ สุดท้ายแล้วกลุ่ม คปท. จะมี ‘พลัง-แนวร่วม’ เพียงพอหรือไม่ ในการผลักดันประเด็นเหล่านี้ แต่อีกแง่หนึ่ง ‘กองทัพ’ ก็สามารถเอา ‘ความเคลื่อนไหว’ ของกลุ่ม คปท. มาใช้ ‘ประกอบอ้าง’ ได้เช่นกัน

Thaksin-Hunsen-Overlapping-Territorial-Claims-Area-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์