ต้องไปตรวจสอบ ‘ทักษิณ’ พบกลุ่มชาติพันธุ์ ผิดเงื่อนไขพักโทษหรือไม่?

8 พ.ค. 2567 - 05:52

  • ‘อธิบดีกรมราชทัณฑ์’ ชี้ ‘กรมคุมประพฤติ’ ต้องตรวจข้อเท็จจริงปม ‘ทักษิณ’ พบผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ-รัฐบาลพลัดถิ่นเมียนมา ผิดเงื่อนไขการพักโทษหรือไม่ หากผิดรุนแรงต้องส่งกลับเรือนจำ

  • ยัน ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังไม่ประสานกลับไทย

thaksin-intervention-in-myanmar-conditions-of-suspended-prison-sentence-SPACEBAR-Hero.jpg

การเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ภายใต้การกำกับและควบคุมของกรมคุมประพฤติ ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาการเคลื่อนไหว ‘ทักษิณ’ มักถูกตั้งคำถามว่าการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ พร้อมกับพูดประเด็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และอาจขัดกับเงื่อนไขการพักโทษ 

โดยกรณีล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานว่า ‘ทักษิณ’ ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมาและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมา ช่วงเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 

ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ค.) ‘สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์’ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบจากข้อเท็จจริงก่อน และต้องไปดูเงื่อนไขที่กรมคุมประพฤติกำหนด ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ว่าทำได้หรือไม่ได้ คาดว่าทางกรมคุมประพฤติอาจอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และคงต้องมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับอดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ 

และตามหลักหากผู้ที่อยู่ระหว่างการพักโทษประพฤติตัวผิดเงื่อนไขหรือไม่เหมาะสม กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้แจ้ง และให้ผู้ถูกคุมประพฤติปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง และหากทำผิดเงื่อนไขอย่างรุนแรงต้องส่งตัวกลับเรือนจำ แต่ถ้าไม่รุนแรงมากจะเป็นการตักเตือน และจำนวนการเตือนมีการยืดหยุ่น เพราะบางครั้งผู้ที่อยู่ระหว่างพักโทษอาจจะไม่ทราบ หรือเข้าใจว่าทำได้ ดังนั้นกรมคุมประพฤติจะต้องไปทำความเข้าใจ เป็นดุลพินิจของ ‘เรืองศักดิ์ สุวารี’ อธิบดีกรมคุมประพฤติ

ส่วนมีกระแสข่าวว่า ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ทึ่ตอนนี้อยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับอยู่ที่ต่างประเทศ มีความพยายามเดินทางกลับประเทศไทย โดยอาจประสานใช้สถานทูตไทยประเทศหนึ่งเป็นสถานที่ในการรายงานตัวนั้น

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้และยังไม่มีการประสานมา ตามหลักบุคคลใดก็ตามที่อยู่ต่างประเทศ จะต้องประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพราะที่ผ่านมา เวลาใครจะกลับเข้ามาก็ต้องมีการประสานกับตำรวจไว้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไปรับตัว และนำส่งศาล จากนั้นศาลก็จะอ่านคำพิพากษา และราชทัณฑ์จึงจะไปรับตัวมา ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเรา เป็นอำนาจของตำรวจ

เมื่อถามว่า ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล หรือทางครอบครัวได้ประสานในเรื่องนี้หรือไม่นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ยังไม่มีเรื่องนี้เข้ามา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์