ข้าเก่าเต่าเลี้ยง คือ 'วัวงาน' ในสายตาของ 'ทักษิณ'

29 เม.ย. 2567 - 10:04

  • อ่านมิติการ 'ปรับ ครม. เศรษฐา 1/1' ตามสำนวนโบราณ 'เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล' ด้วยการพังนั่งร้านตัวเองของ 'ทักษิณ' ตรงตำรับการบริหารการเมืองแบบ 'เบ็ดเสร็จเด็ดขาด' กับ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Thaksin-madel- adjustment-concept-SPACEBAR-Hero.jpg

ว่ากันด้วยผลการปรับ ‘ครม.เศรษฐา 1/1’ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่ช่วงสายวานนี้ (28 เมษายน 2567) ทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ของสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่เริ่มจับกระแสตั้งแต่เรื่องราวก่อตัว แต่ใครจะคิด ว่า ‘ลม’ อ่อนๆ ที่พัดพามาตลอดนานนับเดือน จะแปรสภาพอาฟเตอร์ช็อก ในลักษณะ ‘พายุ’ ทำให้ศูนย์อำนาจการบริหารของประเทศ อย่าง ‘ทำเนียบรัฐบาล’ ต้องรับศึกตอบคำถามจากนักข่าวหนักหน่วง 

โดยเฉพาะจากการถอดผู้ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองชิ้นสำคัญของ ‘พรรคเพื่อไทย’ อันได้แก่ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ ออกจากตำแหน่ง ‘รมว.กระทรวงสาธารณสุข’ และ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ ออกจากตำแหน่ง ‘รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ’ ทำเอาเกิดดรามาหนักขึ้นในเวลาไม่นานหลังจากนั้น 

เพราะหลังหนังสือประกาศพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ออกมาไม่เกินเที่ยวัน เพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ ‘หมอชลน่าน FC ไม่มีดราม่า’ (ซึ่งตามกระแสคาดว่ามีผู้ใกล้ชิดชลน่านเป็นแอดมินอยู่) ได้เปลี่ยนโปรไฟล์เป็นภาพใบปลิวรูปใบหน้าของ ‘คุณหมอ’ ถูกเหยียบย่ำด้วยเบื้องบาทาหลายคู่ พร้อมระบุข้อความในลักษณะคำกลอนตัดพ้อ

“ชลน่านพลีชีพโดดเดี่ยวโดนกระทืบ ผู้คนหนีเข้าซอกหลืบหลบมุมไหน พอผ่านพ้นผู้คนตะเกียกตะกาย เหยียบย่ำแย่งเป็นใหญ่ไร้ยางอาย”

กระนั้น ยังไม่หนักเท่ากรณีของ ‘ปานปรีย์’ หนังสือ ทำนองจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ’ ขอลาออกจากตำแหน่ง ‘รมว.ต่างประเทศ’ หลังถูกยึดเก้าอี้รองนายกฯ โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า

“ผมมีความประสงค์จะขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2567 เพื่อเปิดทางให้ท่านอื่นเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน”

ทั้งนี้ ปานปรีย์เชื่อว่า สาเหตุของการถูกปรับออกจากรองนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับผลงานแน่นอน เพราะส่วนตัวทุ่มเทการทำงานด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ 

พร้อมเผยมุมมอง ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยส่วนมากจะมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพ่วงด้วย เพี่อที่เวลาเดินทางไปต่างประเทศจะได้มีเกียรติ หรือเจรจาอะไรก็จะมีความราบรื่นมากขึ้น และหลายครั้งที่ผ่านมาไทยก็มีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพ่วงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

ดรามาที่เกิดจากการแอคชันเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ คอการเมืองได้เสพพอได้อรรถรส แต่หากเปิดปูมหลังของทั้งสอง จะพบว่านี่ไม่ใช้เรื่องความเสียใจธรรมดาทั่วไป เพราะทั้งคู่ต่างเคยทำงานในบทบาทสำคัญ ที่มีส่วนสร้างความเติบโต และนำพาพรรคตระกูลชินวัตร พ้นวิกฤตมาแล้วนับ 10 ปี 

อย่าง ‘ชลน่าน’ ที่อยู่ในฐานะ ‘ผู้อยู่เบื้องหน้า’ มาโดยตลอด ตั้งแต่ ‘พรรคไทยรักไทย’ เพิ่งตั้งไข่ เคยได้รับผิดชอบตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารมาหลายรอบ แต่ที่จะเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือช่วงก้าวขึ้นรั้งตำแหน่ง **‘ดาวเด่นสภา’ ** และ ‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ ที่สุดท้ายแล้ว กลายเป็นนักการเมืองที่ถูกตราหน้าว่า ‘ตระบัตย์สัตย์’ ครั้งสำคัญ จนทำให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และ ‘พาทักษิณกลับบ้าน’

ขณะที่ ‘ปานปรีย์’ เองซึ่งมีดีกรีเป็น ‘หัวกะทิ’ ด้านเศรษฐกิจ มีชื่อชั้นในฐานะลูกหลานคนการเมือง 'ซอยราชครู' เคยมีตำแหน่งสำคัญด้านการบริการ และเป็น ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ การออกแบบแผนด้านเศรฐกิจปากท้องของพรรคตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด  

แล้วเหตุไฉนมาบัดนี้ ทั้งคู่ถึงถูกเขี่ยทิ้ง...

‘เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล’  

เรื่องนี้ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นว่า การปรับคณะรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องปกติ ในการแก้ปัญหาหรือเพิ่มศักยภาพที่ขาดหายไปของรัฐบาล แต่สำหรับการปรับทัพในครั้งนี้ สร้างประเด็นให้ต้องคิดถึงรูปแบบการบริหารของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้ซึ่งมีบทบาทในเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการปรับ ครม. ครั้งนี้ ที่ทุกอย่างออกมาคล้ายกับ ‘ครม.ประยุทธ์ 3’ เสียมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นดุลยภาพเชิงอำนาจที่ตกไปอยู่กับ ‘กลุ่มอำนาจเก่า’

อีกทั้งการใช้วิธี ‘เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล’ ที่เกิดขึ้นกับ ‘ปานปรีย์’ และ ‘ชลน่าน’ จนเป็นต้นเหตุของประเด็นดรามา แฝงนัยสำคัญเรื่อง ‘อำนาจการต่อรอง’ เพราะจะเห็นได้ว่า ทั้งคู่ไม่มีอำนาจในการต่อรองในพรรคเพื่อไทยเลย ต่อให้เคยเป็นแกนนำหรือขุนพลที่ทำงานมานาน แต่ขณะที่ สส.ที่เคยย้ายขั้วไปอยู่พรรคอนุรักษ์นิยม กลับยังได้การคงไว้ซึ่งตำแหน่งที่ทรงคุณค่าอยู่ แสดงให้เห็นอำนาจบางอย่าง ที่มีต่อการต่อรองกับผู้ใหญ่ในพรรค 

โดยเฉพาะกรณีของปานปรีย์ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการขอลาออกทันทีหลังได้รับการโปรดเกล้า มีจุดเชื่อมสองนัย คือเสนอชื่อแบบไม่ได้ตรวจสอบ หรือไม่มีการพูดคุยแจ้งความให้ทราบกันก่อน หรืออาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องคุย เพราะเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง ซึ่งเรื่องนี้เจ้าตัว (ปานปรีย์) ก็ได้ออกมาก็แสดงออกชัดเจนผ่านจดหมายว่า เขาอยู่ ‘บ้านซอยราชครู’ มีบทบาททางการเมืองมาหลายทศวรรษ และตอกย้ำว่าการเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก แต่กลับถุกกระทำอย่าง ‘ด้อยค่า’ 

ขณะที่ ‘ชลน่าน’ เองก็เป็น ‘นายแบก’ คอยรับหน้าให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลพิศดารจนสำเร็จ ถูกตราหน้าว่าเป็นนักการเมืองที่ไร้สัจจะ - ทรยศประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หลังความฝันที่อยากเห็นรัฐบาลภายใต้แกนนำของ ‘ฝากฝั่งประชาธิปไตย’ ชะล้างระบอบของพลเอกประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลง

เมื่อเหตุการณ์ออกมาเช่นนี้ ทำให้ทั้งสองท่าน กลายบุคคลที่ไม่มีความสำคัญไปมากกว่า ‘แรงงาน’ ของ ‘ชนชั้นนำในพรรคเพื่อไทย’

“วันนี้ข้าวมันออกดอกออกผลแล้ว เขาก็ให้ฟางไปกินหนึ่งก้อนถือเป็นการตอบแทนการทำงานที่ผ่านมา หลังจากนี้ก็จะพาไปโรงฆ่าสัตว์ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบนี้คุณหมอชลน่านเป็นตัวแทนที่ดี ว่าคุณอย่าสำคัญผิด คุณคือวัวงาน คุณคือทหารรับจ้าง เพราะคุณไม่มีอำนาจการต่อรอง”

โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าว

ยุทธศาสตร์ ‘ทักษิณ’ คือ คิดแบบเบ็ดเสร็จ 

โอฬาร วิเคราะห์ต่อว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้มี ‘ทักษิณ’ เป็นเบื้องหลังสำคัญ ซึ่งลึกๆ ‘เศรษฐา’ เข้าใจดีมาโดยตลอด ว่าสุดท้ายผู้ที่จะ ‘เคาะ’ ต้องเป็น ‘นายใหญ่’ ซึ่งถือว่าเป็นนายกฯ ที่มีความเสียสละมาก เนื่องจากไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจใดๆ แต่กลับต้องเป็นผู้แบกรับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะปมดรามาที่กำลังร้อนฉ่า  

วิธีคิดในแบบฉบับของทักษิณ เข้าตำรับ ‘เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ โดยมองว่าการใช้อำนาจทางการเมือง เสมือนเป็นการออกแบบเชิงธุรกิจ คือ ‘การตอบแทน’ อย่างกรณีที่ได้กล่าวถึงกรณีชลน่าน - ปานปรีย์ ที่ต่างก็ได้รับตำแหน่งเป็นการตอบแทนหมดแล้ว และเคยมีผู้สังเวยมาแล้วหลายคน อาทิ ‘สมัคร สุนทรเวช’ และ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’

ดังนั้น นักการเมืองที่จะมาทำงานกับทักษิณ จำเป็นต้องทำงานแบบ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ที่มักจะมีอำนาจให้ต่อรองเสมอ ไม่ใช่ทำงานแบบ ‘ลูกน้อง’ ที่มีราคาค่าจ้าง ถึงเวลาก็เลิกจ่ายได้ หรือการที่ต้องให้ทักษิณ จำเป็นต่อการพึ่งพา อย่าง ‘พิชิต ชื่นบาน’ มือกฎหมายประจำตระกุลชินวัตร มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนายใหญ่ ในการพา ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กลับไทยซึ่ง ณ วันนี้ได้ก้าวเข้าสู่งานการเมืองในตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ’ ไปแล้ว แม้จะถูกวิพากวิจารณ์เป็น ‘รัฐมนตรีถุงขนม’ ก็ตาม ส่วนคนที่ไม่มีประโยชน์ ก็ถูก ‘ตัดหางปล่อยวัด’ ไปตามสภาพ

“เราเห็นแรงตกกระทบจากประชาชนที่มีต่อหมอชลน่าน เป็นเสียงโห่ร้องสาแก่ใจ มากกว่าเสียงของความเห็นใจ หลายคนบอกความรู้สึกในวันนี้ที่คุณหมอได้เจอ คือความรู้สึกเดียวกันที่คุณหมอทรยศประชาชนเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว หมายความว่าคนหมดความเชื่อถือพรรคเพื่อไทยไปแล้ว”

โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์