ทันเกม ‘ทักษิณ’ ตั้งตัวหย่าศึก ‘เมียนมา’ สะท้าน ‘บัวแก้ว’ สะเทือน ‘เศรษฐา’

8 พ.ค. 2567 - 09:13

  • ‘ทักษิณ’ ขยับเห็นโอกาสเป็น ‘คนกลาง-Mediator’ เจรจาหย่าศึกใน ‘เมียนมา’ นำร่องพูดคุย ‘กองกำลังชาติพันธุ์ - รบ.พลัดถิ่นเมียนมา’ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร มองสถานการณ์เมียนมา ‘ซับซ้อนสูง’ แนะ ‘ก.ต่างประเทศ’ ต้องตั้งหลักให้ดี มองกระบวนการเจรจาไปไกลแล้ว เกินกว่า ‘ทักษิณ’ จะไป ‘ล็อบบี้-กรุยทาง’ ให้ ‘รัฐบาลไทย’

  • ‘ฝ่ายความมั่นคง’ เกาะติด ‘ทักษิณ’ หาความเชื่อมโยง ใครพา ‘ทักษิณ’ ไปคุยกับ ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ พุ่งเป้าไปที่ ‘อดีตนายทหาร’ ตั้งข้อสังเกต ‘ทักษิณ’ เห็นโอกาสใดใน ‘เมียนมา’ จึงเปิดเกมนี้

  • สะเทือน ‘เศรษฐา’ ถูกท้าทายภาวะ ‘ผู้นำ’ จาก ‘ผู้เล่นนอกสนาม’ ส่วน ‘ก.ต่างประเทศ’ สะเทือนจาก ‘ผู้เจรจานอกแถว’

Thaksin-Mediator-Myanmar-SPACEBAR-Hero.jpg

ความเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ภายหลังสื่อต่างประเทศมารายงานว่า ได้ไปเจรจากับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) องค์การแห่งชาติกะฉิ่น (KNO) รวมทั้งกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยุติความขัดแย้งในเมียนมา ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2567  

การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ‘ทักษิณ’ ไปเจรจาในสถานะใด รวมทั้งจะส่งผลต่อท่าทีและการขับเคลื่อนงานของทางการไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองว่า สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อนอยู่แล้ว การเข้าไปของ ‘บุคคลใด’ ก็แล้วแต่ เช่น ‘ทักษิณ’ ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว ย่อมมีผลต่อสถานการณ์ได้  

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการนำการ ‘เจรจาที่ไม่เป็นทางการ’ ให้ยึดโยงกับ ‘เข้าระบบ’ มากขึ้น  

ส่วนที่เป็น ‘ทางการ’ ในระดับรัฐบาลมีการพูดคุยมาตลอด ในนามกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในยุคที่ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ เป็น รมว.ต่างประเทศ ที่มีการพูดคุยกับประเทศจีน-สหรัฐฯ-อินเดีย-บังคลาเทศ กลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force : PDF) ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาคิ (National Unity Government : NUG) รวมทั้งการพูดคุยกับ ‘ทหารเมียนมา’ ด้วย 

สำหรับในชั้นการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ เช่น อดีตผู้นำ นักธุรกิจ ภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนในขณะนี้ ต้อง ‘จัดระเบียบ’ ให้ดี เพราะการเจรจามักเลือกทางที่ตัวเองได้เปรียบ แต่ไม่ใช่ทางออก ก็จะทำให้การสู้รบเกิดขึ้นอีก อีกทั้งสถานการณ์ที่เปราะบางในเมียนมา ภายหลัง ‘ทหารเมียนมา’ เสียพื้นที่ให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย ก็ทำให้การเจรจายากขึ้น เพราะบางกลุ่มปฏิเสธการเจรจา 

สำหรับการเจรจาที่ไม่เป็นทางการ แม้จะเป็น ‘อิสระ’ แต่อาจมีผลต่อน้ำหนัก ‘ความน่าเชื่อถือ’ ว่าจะนำมาปฏิบัติหรือได้รับการยอมรับหรือไม่ อีกทั้งอาจเกิดการตั้งคำถามถึง ‘เป้าหมาย’ ของการพูดคุยของ ‘บุคคลใดบุคคลหนึ่ง’ ว่ามี ‘วาระแฝง’ อื่นใดหรือไม่ 

สำหรับกรณีของ ‘ฮุน เซน’ อดีตนายกฯ กัมพูชา ที่จะเจรจากับฝ่ายเมียนมา ในอดีต ‘ฮุน เซน’ ขณะเป็น ปธ.อาเซียน ที่หมุนเวียนกันเป็น ก็เคยประสานการเจรจากับฝั่งเมียนมา แต่สถานะปัจจุบันของ ‘ฮุน เซน’ มีความอิสระมากขึ้น แต่ต้องติดตามว่าจะได้รับแต่งตั้งจาก ‘รัฐบาลกัมพูชา’ หรือไม่ ที่มี ‘ฮุน มาเนต’ บุตรชาย เป็นนายกฯ คนปัจจุบัน และต้องติดตามว่าการเจรจาผลจะมาออกมาเป็นอย่างไร 

ในกรณีของ ‘ทักษิณ’ ที่ไปพูดคุยกับกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา เป็นการ ‘ล็อบบี้-กรุยทาง’ ให้กับรัฐบาลไทยก่อนหรือไม่? รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า การเจรจาแบบทางการเลยจุดนี้ไปแล้ว ตามฉันทามติ 5 ข้อ ของผู้นำอาเซียน ได้แก่  

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที  

2.การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติ  

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจา 

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)  

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งการพูดคุย ‘กึ่งทางการ’ หรือที่เรียกว่า ‘Track 1.5’ ที่มีการเชิญ จนท.ระดับสูงของเมียนมาและเจ้าหน้าที่จากประเทศที่ได้รับผลกระทบและประเทศที่มีบทบาทในเมียนมา ร่วมพูดคุย เช่น จีน , อินเดีย ซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าภาพพูดคุย 

ดังนั้นการที่ ‘ทักษิณ’ ไปเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา รศ.ดร.ปณิธาน เสนอว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องตั้งหลักให้ดี เพราะขบวนการเจรจาที่มีอยู่เดิมเดินมาไกลแล้ว มิเช่นนั้นต้องไปเริ่มขบวนการใหม่อีก  

พร้อมย้ำว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความ ‘ซับซ้อนสูง’ โดยเฉพาะอิทธิพลของ ‘จีน’ ในเมียนมา ที่ปรับและรักษาสมดุลได้กับ 2 ฝ่าย ทั้ง ‘รบ.ทหารเมียนมา’ และ ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ อีกทั้งในเดือน ต.ค.67 ที่ ‘เมียนมา’ อาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น สถานการณ์จะยิ่งซับซ้อนสูงขึ้นตามไปด้วย รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ของไทย ก็ติดตามความเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ’ ในการเจรจากับ ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ ของเมียนมา ช่วงกลาง เม.ย.67 จะส่งผลต่อสถานะของไทยใน ‘อาเซียน’ และ ‘นานาชาติ’  

ส่วนที่มีรายงานข่าวว่า ‘ทักษิณ’ ได้นำ ‘เอกสาร’ ไปให้แต่ละกลุ่มลงนาม เพื่อให้ ‘ทักษิณ’ เป็น ‘คนกลาง หรือ Mediator’ ในการเจรจาให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาบรรลุ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกันนั้น ก็ไม่ได้รับการ ‘ตอบรับ’ และไม่ได้รับการ ‘ลงนาม’ จากกลุ่มต่างๆ เพราะบางข้อเสนอของ ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ ก็เกินกำลังที่ ‘ทักษิณ’ จะรับไว้ด้วย อีกทั้งอิทธิพลของ ‘จีน’ ที่มีต่อ ‘รบ.ทหารเมียนมา’ 

'ฝ่ายความมั่นคง' ได้ตั้งข้อสังเกตเหตุใด ‘ทักษิณ’ จึงเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยมีการมองไปที่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในเมียนมา , ตลาดแรงงานเมียนมาที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย เป็นต้น 

ส่วนสายสัมพันธ์ระหว่าง ‘รบ.ทหารเมียนมา’ กับ ‘ทักษิณ’ ก็ต้องดูว่าใครเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่ให้ ‘ทักษิณ’ ได้พูดคุยกับ ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ ที่มีการพุ่งเป้าไปที่อดีตนายทหาร อีกทั้งเชื่อมสัมพันธ์ไปถึง ‘รบ.ทหารเมียนมา’ หรือไม่ เพราะนายทหารเมียนมาที่เติบโตในยุคที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นนายกฯ ก็มีการผ่องถ่ายอำนาจมาแล้ว 3 รุ่น ตั้งแต่ยุค พล.อ.ตาน ฉ่วย มาสู่ยุค พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ และยุค พล.อ.มิน ออง ไลง์ ผู้นำเมียนมาคนปัจจุบัน  

ทั้งหมดนี้จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ ‘ทักษิณ’ ที่มีความไวต่อสัญญาณในการมองเห็น ‘โอกาส’ ต่างๆ ที่สะเทือนมาถึง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่ถูก ‘ผู้มากบารมี’ แสดง ‘บทบาทนำ-กดดัน’ วิ่งล้ำหน้า และสะท้านมาถึง ก.ต่างประเทศ ที่มี ‘ผู้เจรจานอกแถว’ เกิดขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์