สิ่งที่ ‘ทักษิณ’ ยอมรับ ‘ตัวเองโง่’ คือสิ่งที่ ‘พจมาน’ ฉลาด

18 กุมภาพันธ์ 2567 - 04:59

Thaksin-Potjaman -Chan-Song-La-House-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สิ่งที่ ‘ทักษิณ’ ยอมรับว่าโง่ คือสิ่งที่ ‘พจมาน’ ฉลาด ถอดรหัส ‘นางพญาจันทร์ส่องหล้า’ ความเงียบแสนทรงพลัง ผิดกับ ‘ทักษิณ’ ยิ่งสู้ยิ่งพ่าย เสียรู้ ‘อีลีตไทย’

  • ภูมิหลัง ‘พจมาน-ทักษิณ’ เติบโตต่างกัน ‘สาวเมืองกรุง’ กับ ‘หนุ่มภูธร’ ย้อนอดีต ‘พจมาน’เข้า ‘บ้านป๋า-สี่เสาเทเวศร์’ วินาทีรับมือคืน รัฐประหาร 2549

  • 180 วัน ‘ทักษิณ’ ได้กลับไทย ออกจาก รพ.ตำรวจ กลับสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า จับตาบทบาท ‘พจมาน’ ผู้คอยเตือน-แนะนำ ‘ทักษิณ’ มาตลอด

การต่อสู่ระหว่าง ‘ขั้วทักษิณ’ กับ ‘ขั้วอนุรักษนิยม’ ผ่านมา 20 กว่าปี นับจาก ‘พรรคไทยรักไทย’ สร้างปรากฏการณ์ชนะถล่มทลาย ทำให้ ‘ภูมิทัศน์การเมืองไทย’ เปลี่ยนไป กลายเป็นการเผชิญหน้าตลอดห้วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดม็อบสีเสื้อ 2 ม็อบใหญ่ โดยมีจุดตัดครั้งสำคัญคือ ‘รัฐประหาร’ 19 กันยายน 2549 ที่ ‘ทักษิณ’ ต้องพ้นจาก ‘อำนาจ’ และพ้นจาก ‘ประเทศ’ และวันนี้ (18ก.พ.67) ‘ทักษิณ’ ได้กลับสู่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ในรอบ 15 ปีอีกครั้ง นับจากปี 2551 ที่ ‘ทักษิณ’ กลับมาไทยครั้งแรกและออกไปอีกครั้ง เรื่อยมาจนล่าสุดปี 2566 ที่ ‘ทักษิณ’ กลับมาอีกครั้ง ผ่านการตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ จับมือกับขั้วอนุรักษนิยม (ชั่วคราว) 

บุคคลสำคัญที่เปรียบเป็น ‘ตัวแทนทักษิณ’ คือ ‘คุณหญิงอ้อ-พจมาน ดามาพงศ์’ การกลับสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า นอกจากเป็นฐานที่มั่น ‘อำนาจการเมือง’ ในอดีตและกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ในอีกบริบทก็เปรียบเป็น ‘เรือนหอ’ ระหว่าง ‘ทักษิณ-พจมาน’ ที่อยู่บ้านหลังนี้มายาวนาน ที่ผ่านมา ‘พจมาน’ คือคนที่เตือน-แนะนำ ‘ทักษิณ’ ตลอด เพราะ ‘พจมาน’ ฉลาด ในสิ่งที่ ‘ทักษิณ’ ก็ยอมรับว่า เขาโง่ในสิ่งนั้น

คำว่า ‘ขั้วอนุรักษนิยม’ เรียกอีกอย่างว่า ‘อีลีต’ หรือ ‘ชนชั้นนำ’ เป็นจุดอ่อนที่ ‘ทักษิณ’ รู้ตัวเองดี ถึงขั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ตัวเอง ‘โง่’ ด้วย ทำให้ ‘ทักษิณ’ กล่าวในหนังสือ THAKSIN SHINAWATRA Theory and Thought ในบทที่ชื่อว่า The Fool เมื่อถูกถามว่า ตอนที่คุณพูดว่าอึดอัดเวลาอยู่ ท่ามกลางคนโง่ ถ้าให้ทบทวนตัวเองในชีวิตที่ผ่านมา คุณรู้สึกว่าตัวเองโง่เรื่องอะไรมากที่สุด ?

Thaksin-Potjaman -Chan-Song-La-House-SPACEBAR-Photo V02.jpg

“ผมอาจจะโง่เรื่องคน ประสบการณ์ ชีวิตผมเป็นคนบ้านนอก ชีวิตเราง่ายๆ เราอยู่บ้านนอก โตบ้านนอก พอมาอยู่กรุงเทพฯ เราก็มาเป็นนักเรียนประจำมาอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นนักเรียนเตรียมทหาร แต่ว่ามันเป็นสังคมของมันเอง ตำรวจก็อยู่ในสังคมตัวเอง แล้วก็ไปเรียนหนังสือเมืองนอก กลับมาก็ก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน สู้สร้างสู้ด้วยตัวเอง เสร็จแล้วก็อยากมาช่วยบ้านเมือง เพราะชีวิตตัวเองรอดแล้ว ลูกเต้ามีกิน มีใช้แล้ว เราก็ไปช่วยบ้านเมือง ชีวิตมันก้าวกระโดด มันผ่านสังคมกรุงเทพฯ น้อยไป ผ่านสังคมของอีลีตน้อยไป มีแต่สังคมทหาร ตำรวจ สังคม ธุรกิจ ไม่กว้างเท่าไหร่ นายแบงก์ต่างๆก็รู้จักไม่เท่าไหร่ เราก็เลยไม่ได้อยู่ใน สังคมอีลีต ถึงแม้ฐานะเราอยู่ในอีลีต แต่ในสังคมอีลีตเราไม่มี อันนั้นคือความโง่”

'ทักษิณ ชินวัตร' กล่าวในหนังสือ THAKSIN SHINAWATRA Theory and Thought

จากเด็กบ้านนอกข้ามห้วยไปเรียนเมืองนอก ความเข้าใจอีลีตไทย เลยตัดตอนไป ?

‘ทักษิณ’ ตอบว่า “ใช่ ทั้งๆ ที่ฐานะเราเป็นอีลีตแล้ว แต่แทนที่จะเข้าไปคบสังคมอีลีต ก็ไปคบคนในสังคมการเมือง เพราะไปเข้าการเมือง สังคมการเมือง คนส่วนใหญ่ก็มาจากบ้านนอก เราเลยเข้าใจสังคมอีลีตน้อยไป”

ก็เลยกลายเป็นคนชื่อบื้อคนหนึ่ง ?

‘ทักษิณ’ ตอบว่า “อันนี้คือต้องเบลมตัวเองว่า เหมือนกับเรายังไม่รู้วิธีอยู่ในป่า ป่าเสือ ป่าหมี เราไม่เข้าใจ แล้วเราก็ถูกปล่อยเข้าไป ซึ่งน่าจะเรียนรู้ก่อนที่จะโดดเข้าไป”

ต่างกันไหม สังคมอีลีตไทย อีลีตต่างประเทศ ?

‘ทักษิณ’ ตอบว่า “อีลีตที่ไหนก็คล้ายกัน มันเป็นสังคมที่ซับซ้อน ไม่ได้ simple life แบบเรา ไม่ได้ เป็นแบบคนบ้านนอก บางทีเขา say yes อาจจะ means no เราไม่เข้าใจ เรา yes คือ yes และ no คือ no พอเราไปเจอ yes แบบ means no เราตายเลย เพราะเราไม่เคยคิด เราคิดว่าทุกคนคงเหมือนเรานะ แต่ชีวิตของคน อีลีต ยิ่งเป็นอีลีตนานๆ ยิ่งเร้นลับ ซับซ้อนอันนี้คือสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้”

ซึ่งจุดนี้เองที่ ‘ทักษิณ’ ต่างจาก ‘คุณหญิงอ้อ’พจมาน ดามาพงศ์ ทำให้ ‘ทักษิณ’ ถูก ‘พจมาน’ ตำหนิ เช่นครั้งหนึ่ง ‘พจมาน’ เคยกล่าวถึง ‘ทักษิณ’ ว่า “อยากฉลาดมาก จนอยู่เมืองไทยไม่ได้ ก็ไปเป็นเซอร์ (sir) อยู่ต่างประเทศ” ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดจาก หลัง ‘ทักษิณ’ ถูกรัฐประหาร 2549 ทางประเทศตองกาเชิญ ‘ทักษิณ’ ไปบริหารเกาะหนึ่งในประเทศตองกา และแต่งตั้งให้เป็น “ท่านเซอร์”(sir) แต่ ‘ทักษิณ’ ปฏิเสธ และได้โทรไปเล่าให้ ‘พจมาน’ ฟัง

ภูมิหลังที่แตกต่าง  ‘สาวเมืองกรุง’ กับ ‘หนุ่มภูธร’

หากย้อนประวัติ ‘พจมาน’ จะพบว่ามีความเป็น ‘อีลีต’ มากกว่า ‘ทักษิณ’ โดย ‘พจมาน’ มีมารดาชื่อ ‘พจนีย์ ณ ป้อมเพชร’ บุตรสาว ‘พ.อ.พร้อม ณ ป้อมเพชร’  สืบสกุลจากบิดาคือ ‘หลวงคลัง (ต่วน) ณ ป้อมเพชร’ แต่คนละสายกับ ‘พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา’ (ขำ) ผู้รับพระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์ (มีสะกดการันต์) จากรัชกาลที่ 6 ส่วนบิดาของ ‘พจมาน’ คือ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ

‘พจมาน’ ศึกษาชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้พบกับ ‘ทักษิณ’ ที่ในขณะนั้นเรียน ร.ร.นายร้อยตำรวจ ซึ่งขณะนั้น ‘คุณหญิงอ้อ’ อายุ 15 ปี ขณะนั้น ‘ทักษิณ’ อายุ 21 ปี ก่อนไปเรียนต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ‘คุณหญิงอ้อ’ ไปเรียนอนุปริญญาบริหารธุรกิจ ม.อีสเทิร์นเคนทักกี สหรัฐฯ ส่วน ‘ทักษิณ’ ได้ทุนปริญญาโทจาก ก.พ. ไปเรียนต่อ

สำหรับ ‘ทักษิณ’ เติบโตมาจาก จ.เชียงใหม่ ในครอบครัว ‘นักธุรกิจภูธร’ ทำกิจการร้านกาแฟ สวนผลไม้ ขายกล้วยไม้ ขยับขยายมาทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจรถเมล์วิ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ รวมถึงธุรกิจทอผ้าไหม-ตลาดสด ใน อ.สันกำแพง ที่เริ่มตั้งแต่ยุคต้นตระกูลอพยพมาจากจีน ซึ่ง ‘เลิศ ชินวัตร’ (แซ่คู) บิดา ‘ทักษิณ’ แต่งงานกับ ‘ยินดี ชินวัตร’ (ยินดี ระมิงวงศ์) ธิดาใน ‘เจ้าจันทร์ทิพย์ ณ เชียงใหม่’ อย่างไรก็ตาม ‘เลิศ ชินวัตร’ เคยเป็น ส.ส.เชียงใหม่ พรรคพลังใหม่ ช่วงปี 2512 ทำให้รู้จัก ‘นักการเมือง’ ในรุ่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘ชัย ชิดชอบ’ บิดา ‘เนวิน ชิดชอบ’ ที่เป็นสะพานเชื่อมให้ ‘ทักษิณ-เนวิน’ รู้จักกัน แต่ ‘เลิศ ชินวัตร’ ได้วางมือการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เห็นได้ว่า ‘ต้นทุนสังคม’ ของ ‘คุณหญิงอ้อ’ มีมากกว่า ‘ทักษิณ’ ในแวดวงสังคมอีลีตไทย เป็นสิ่งหล่อหลอม ‘พจมาน’ มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการ ‘แสดงออก’ และ ‘ใช้งานคน’ สิ่งที่เด่นชัดคือ ‘ความนิ่งสุขุม’ และ ‘ความเด็ดขาด’ ที่มีอยู่เหนือ ‘ทักษิณ’ ดังนั้น ‘คุณหญิงอ้อ’ จึงไม่นิยมออกสื่อ แต่ทำการเมืองหลังม่านมาตลอด ผ่านเครือข่าย ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ในการเชื่อมโยง ‘คอนเนกชั่น’ คนในแวดวงต่างๆ

Thaksin-Potjaman -Chan-Song-La-House-SPACEBAR-Photo V01.jpg

เครือข่าย ‘ป่ารอยต่อ-จันทร์ส่องหล้า’

หนึ่งในนั้น คือ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้รับแรงผลักดันขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ยุครัฐบาลทักษิณ ที่สำคัญมีเรื่องเล่าว่าเคยมีการจะให้ ‘บิ๊กป้อม’ นายทหารโสด เกี่ยวดองกับคนในเครือข่าย ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ แต่ ‘บิ๊กป้อม’ ก็เลือกครองโสดมาถึงปัจจุบัน

ณ สี่เสาเทเวศร์ หลังรัฐประหาร 2549

ย้อนกลับไป 17 ปีก่อน หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งในขณะนั้น ‘ทักษิณ’ ลี้ภัยอยู่อังกฤษ ‘คุณหญิงอ้อ’ และ ‘บรรณพจน์ ดามาพงศ์’ พี่ชาย เดินทางเข้าพบ ‘ป๋าเปรม’พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อ 26 ตุลาคม 2549 โดยมี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ทหารคนสนิทป๋าเปรม เป็น ‘คนกลาง’ พาเข้าพบ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งในขณะนั้นมีรายงานข่าวระบุว่า บุตรชายคนโตของ พล.อ.อู้ด ได้ทำงานอยู่ในบริษัทของตระกูลชินวัตร และแต่งงานกับหลานสาว ‘พจมาน’ 

โดยในขณะนั้น พล.อ.อู้ด ยืนยันว่าเป็นการเข้าเยี่ยมคารวะในฐานะลูกหลาน ไม่มีเรื่องการเมืองหรือเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินแต่อย่างใด

“ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร ผมรู้ว่าคุณจะถามเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องถาม ตามที่ พล.อ.อู้ด พูดไปเมื่อวาน มันมีอยู่เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก” ป๋าเปรม กล่าว 27 ตุลาคม 2549

จากกนั้นสื่อถามย้ำว่าการเข้าพบของคุณหญิงพจมาน จะมีผลทางการเมืองอะไรตามมาหรือไม่ พล.อ.เปรม กล่าวเพียงว่า “จบแล้ว พอแล้ว”

‘พจมาน’ ในสายตา ‘วิษณุ เครืองาม’

นอกจากนี้เรื่องเล่าในหนังสือ ‘โลกนี้คือละคร’ ที่เขียนโดย ‘วิษณุ เครืองาม’ ได้เล่าถึงช่วงที่ได้พบกับ ‘พจมาน’ ครั้งแรกๆ ว่า “คุณหญิงพจมาน เชิญผมไปพบที่บ้าน กระดาษที่คุณบรรณพจน์ (พี่ชายคุณหญิงอ้อ) จดไปวางอยู่ข้างหน้า (เมื่อครั้งทานข้าวกับวิษณุ ก่อนหน้านี้ 3 วัน ได้เล่าสิ่งต่างในเรื่องการเมือง นโยบายรัฐบาล) คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟังอีกหนว่า ใครเป็นอย่างไร นายกฯ เป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาสิบคนที่ผมเสนอแนะนั้น ผมรู้จักไหม ไว้ใจได้ไหม คุณหญิงถามอย่างคนไม่รู้ โดยไม่เสริมหรือออกความเห็นเสียเองแม้แต่ประโยคเดียว”

“คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือคุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็นโรคไตต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่าจะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้ เอาใจใส่ดูแลแม้แต่อาหารการกิน การเดินการเหิน จนภริยาผมบอกว่า ทีหลังอย่ามาชวนไปอีก เพราะเกรงใจคุณหญิงเหลือกำลัง”

'วิษณุ เครืองาม' กล่าวในหนังสือโลกนี้คือละคร

Thaksin-Potjaman -Chan-Song-La-House-SPACEBAR-Photo01.jpg

เมื่อ ‘พจมาน’ พูดถึง ‘ทักษิณ’

แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของ ‘พจมาน’ ในหนังสือ THAKSIN SHINAWATRA Theory and Thought ก็เป็นไปอย่าง ‘ระมัดระวัง’ แม้จะถูกถามเรื่องการวิจารณ์ ‘ทักษิณ’ เรื่องอะไรที่ซีเรียสที่สุด เพราะรักและหวังดีที่สุด ?

‘พจมาน’ ตอบเพียงว่า “เคยต่อว่าท่านว่า ท่านเป็นคนทำอะไรจริงจัง งานก็หนัก ความเครียด แรงกดดัน ก็เยอะมาก ขอให้ท่านดูแลสุขภาพให้ดีไปพร้อมๆกัน” 

แม้แต่การถามถึงความรู้สึกคืนวันรัฐประหาร 2549 ‘พจมาน’ ก็ไม่วิจารณ์เรื่องการเมือง แต่ตอบเพียงว่า “ตกใจที่สุด เป็นห่วงลูกๆ ว่าจะปลอดภัยอย่างไร และเราก็ไม่รู้ถึงความน่ากลัวของรัฐประหารว่าจะลามมาถึงครอบครัวไหม และเราจะต้องตกอยู่ในสภาพไหน” พร้อมกล่าวว่า “รับมือด้วยความนิ่ง และดูความปลอดภัยของลูกๆ เป็นหลักในตอนนั้น”

ทั้งหมดนี้คือ ‘จุดแข็ง’ ของ ‘พจมาน’ ที่ ‘ทักษิณ’ ไม่มี นั่นคือความเข้าใจใน ‘สังคมอีลีต’ อย่างลุ่มลึก รวมถึง ‘ความนิ่ง’ ในการรับมือ ทำให้ ‘พจมาน’ ยังคงความเป็น ‘นางพญา’ มายาวนาน 20 กว่าปี มีอิทธิพลต่อความคิด ‘ทักษิณ’ และอิทธิพลแบบลับๆ ในแวดวงการเมืองไทย ชนิดที่เป็น ‘ความเงียบ’ ที่ ‘เสียงดัง’ ที่สุด

จับตาบทบาท ‘พจมาน’ ที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้ ‘ทักษิณ’ จะเดินเกมอำนาจครั้งนี้ ไปทิศทางใด ในยุคการเมือง 3 ฝ่าย ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล-ขั้วอนุรักษนิยม’ ที่ในวันนี้ ‘ขั้วเพื่อไทย-ชินวัตร’ ถูกมองว่าเป็น ‘อนุรักษนิยมใหม่’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์