การดับร้อนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ด้วยการปัดฝุ่นคดี 112 ‘ทักษิณ’ ?

6 ก.พ. 2567 - 10:32

  • วิเคราะห์ฉากทัศน์ ‘ทักษิณ’ ถูกอายัตตัวช่วง ‘พักโทษ’ และปุจฉาสังคมปัดฝุ่น 112 หลีกข้อครหา ‘อภิสิทธิ์ชน’ ของคนชั้น 14 หรือไม่ กับ 'วันวิชิต บุญโปร่ง' และ 'สติธร ธนานิธิโชติ'

Thaksin-Shinawatra-Defamation-Case-112-Future-Politics-SPACEBAR-Hero.jpg

ชื่อของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังวันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567) สำนักงานอัยการสูงสุด มีการแจ้งหมายแถลงข่าวด่วน เรื่องความคืบหน้าคดีที่ทักษิณ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่ง ณ วันนี้ทาง อสส. ได้มีการขออายัตตัว เพื่อดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

มันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร หากข่าวนี้ไม่เกิดขึ้นในช่วงที่ ‘คนชั้น 14’ ตกอยู่ท่ามกลางกระแส ว่าจะได้รับการ ‘พักโทษ’ ในช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

ไทม์ไลน์คดี 112 ของทักษิณ

มูลเหตุทั้งหมดเกิดจากเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของทักษิณกับนิตยสารไทม์ ณ ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552  ส่วนไทมไลน์ของคดีความเกิดขึ้น จากการดำเนินเรื่องโดย ‘พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งทหารพระธรรมนูญแจ้งความเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ก่อนทางตำรวจไซเบอร์ จะส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 และเห็นควรสั่งฟ้องในอีก 3 วันให้หลัง 

เรื่องนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งบนถนนการเมือง ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ‘พรรคไทยภักดี’ ได้ออกหนังสือให้กองทัพบก และสำนักอัยการสูงสุด เร่งดำเนินดำเนินคดีตามกรอบกฎหมาย หลังจากทักษิณได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และถูกคุมขังในฐานะนักโทษของกรมราชทัณฑ์คดีอื่น ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของ 'กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย' (คปท.) เมื่อวันที่ 29 พฤษจิกายน 2566 ที่ออกมาร้องให้ทาง อสส. รีบส่งฟ้องศาลในคดีดังกล่าว เพื่อให้ทักษิณ ที่มีสถานะเป็น ‘นักโทษชั้น 14’ กลับไปถูกคุมขังในเรือนจำคลองเปรม

จนกระทั่งมีการเปิดเผยว่า วันที่ 17 มกราคม 2567 ‘กุลธนิต มงคลสวัสดิ์’ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับทักษิณ ให้ทราบแล้ว ซึ่งเจ้าตัวได้ให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด นำมาสู่แนวทางหลังจากนี้ ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ หรือจะยังไม่สั่งฟ้อง เพราะต้องสอบสวนเพิ่มเติม

จากคดี 112 ของ ‘ทักษิณ’ สู่การเมืองของ ‘เพื่อไทย’ ในฐานะองคาพยพอนุรักษ์ (ใหม่)

“ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เกมการเมืองของพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณไม่มีทางเลือกมากนัก ขณะเดียวกัน แต่ทางตรงกันข้ามก็ทำให้สังคมไทยที่กำลังจับตาปมคนชั้น  14  ลดความเดือดดาลเรื่องการเอื้อด้านอภิสิทธิ์ชนได้”

เป็นความเห็นของ 'ผศ.ดร.วันวิชัย บุญโปร่ง' อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ให้ความเห็นกรณีการดำเนินขั้นตอนทางกฎหมาย ปม 112 กับทักษิณ โดย วันวิชิต มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ สามารถมองผ่านแว่นการเมืองได้ 2 แบบ คือ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดรัฐบาล อาจขยับตัวได้อยาก จากสถานการณ์ที่ทักษิณในฐานะผู้อยู่เบื้องหลัง ข้องเกี่ยวกับคดีหมิ่นเบื้องสูงอยู่

แต่ขณะเดียวกัน ก็เชื่อได้ว่า ความคืบหน้าของคดีดังกล่าว จะทำให้อุณหภูมิความเร่าร้อนของ ภาคประชาชนและกลุ่มการเมืองที่เล็งตรวจสอบ ในประเด็นการได้รับอภิสิทธิ์ ที่เหนือกว่านักโทษคนอื่น (ของทักษิณ) จนเกิดกระแสว่า ขั้วอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกโดยรวมของสังคม พยายามสร้าง ‘ระยะห่าง’ ของประเด็น และส่งไม้ต่อให้ อสส. ถูกเพ่งเป้าแทน ซึ่งจะกลายเป็นตำบลกระสุนตก แทนที่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนต่อจากนี้ ว่าจะมีการดำเนินขั้นตอนออกมาในทิศทางไหน

“หากมองอย่างละเอียด อัยการสูงสุดไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่ต้องการโดนกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นทุกคดีความจึงต้องทำให้คลายสงสัย ส่วนกระบวนการว่าจะฟ้องหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต แต่ดูท่าทีแล้ววันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้คงไม่มีอะไร ผมมองว่าแม้คุณทักษิณเข้าข่ายได้รับการพักโทษ แต่สถานการณ์มาแบบนี้ ความเงียบของคุณทักษิณก็จะยังดำรงอยู่ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องไปขอความเห็นของกรมราชทัณฑ์ ต่อการประเมินอาการของนักโทษ และนำไปสู่การส่งฟ้องทางคดี อย่างน้อยๆ มันก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าทักษิณ ก็ยังคงถูกตรวจสอบด้วยประเด็น 112 เหมือนกัน”

ผศ.ดร.วันวิชัย บุญโปร่ง กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ‘สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็น ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองได้ทั้งด้านบวกและลบ คือ ทักษิณได้อิสรภาพมากขึ้น หลังถูกคุมขัง (หรือรักษาตัว) ที่โรงพยาบาลตำรวจมาหลายเดือน และจะกลายเป็นพ้นข้อครหาว่า เป็นนักโทษชั้นอภิสิทธิ์ชน แต่ก็แลกมาด้วยการจำกัดขอบเขตบางประการ เพราะยังเกี่ยวข้องกับคดี 112 อยู่ หากมีการอายัตตัวในช่วงระหว่างนั้น 

เพราะความเคลื่อนไหวของทักษิณจะสวนทางกับทิฐิของกลุ่มต่อต้าน ที่เคยตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีการเดินสายทางการเมืองในมิติต่างๆ กลับกลายเป็นว่าจะไม่มีสิทธิ์ใช้อิสรภาพ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้เลย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณทางการเมือง ผ่านการปรากฏตัวกลางทำเนียบรัฐบาล หรือการพบปะกับประชาชนที่ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

“กรณีพักโทษแล้วถูกอายัตตัว แม้อิสรภาพจะเพิ่มขึ้น จากที่แต่ก่อนต้องอยู่ภายห้องผู้ป่วยชั้น 14 อาจถูกควบคุมตัวไว้ที่อื่น เปิดได้หน้าเปิดตัวได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงขั้นเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจลบภาพความเป็นอภิสิทธิ์ชนบางประการของคุณทักษิณลงได้ มันมองได้หมด ทั้งหมดมันมีช่วงเวลาของมันอยู่ว่า พักแล้ว อายัดตัวไว้ แล้วอะไรต่อ”

สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์