ในวันที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศตัวชัด ว่าจะขอเป็นผู้ให้บริการ ‘ฝั่งอนุรักษ์นิยม’ เข้าต่อสู้ทางการเมืองกับ ‘พรรคประชาชน’ เต็มตัว ผ่านการถ้อยปราศรัยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ บนเวทีช่วยหาเสียง นายกฯ อบจ. จังหวัดอุดรธานี ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
บ้างก็ว่าเป็นการเดิมพันธุ์ ที่ยังต้องผจญอุปสรรคอยู่ มีมูลเหตุมากประการที่ ‘ทักษิณ’ ต้องก้าวข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกระดมยิงกระสุนจาก ‘นักร้องเรียน’ ที่วัดพลังด้วยนิติสงครามใช้กฎหมายเอาผิด - สกัดจุดทางการเมือง ซึ่งจะประมาทมิได้ โดยเฉพาะปมร้องเรียน ‘ล้มล้างการปกครอง’ ที่เคยประหาร ‘ขุนพลก้าวไกล’ มาแล้วแทบยกทีม
แม้สถานการณ์จะถูกถอดชนักไปหนึ่งเปาะ จากเมื่อวานที่ผ่านมา (19 พฤศจิกายน 2567) มีมติของ ‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ ไม่รับดำเนินการ คดี ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ กรณีถูกร้องเรียน ‘ล้มล้างการปกครอง’ แต่การที่ ‘อสส.’ เลือกส่งความเห็นไปยัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ และจะมีการพิจารณารับหรือไม่รับต่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ย่อมทำให้พลพรรคสีแดงต้องระส่ำอีกหน
เพราะ ‘เผือกร้อน’ ที่เข้าสู่มือของศาลรัฐธรรมเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องทำนายความเป็นไปของปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะอย่าลืมว่า ‘ผู้ร้อง’ ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น ‘มือสังหาร’ พรรคก้าวไกล
“ในเชิงรัฐศาสตร์ ผู้ร้อง (ธีรยุทธ สุวรรณเกษร) มีเจตนาจะร้องไปให้ถึงศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ผลคำวินิจฉัยที่มาจาก อสส. ก็อาจถูกมองออกได้ใน 2 มิติ ซึ่งเป็นทั้งคุณและโทษสำหรับพรรคเพื่อไทย”
มุมมองของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ว่า การที่ ‘อัยการสูงสุด’ ส่งบันทึกสอบถ้อยคำพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ นักกฎหมายอิสระมีความประสงค์อยู่แล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้ ‘ศาล รธน.’ เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัย ซึ่งคำร้องของเขา จะกลายเป็น ‘หัวเชื้อ’ ในการตั้งต้นได้ทันที
โดยโอฬารแบ่งฉากทัศน์ต่อเนื่องได้ 3 ทฤษฎี
- ศาลพิจารณารับคำร้อง โดยใช้คำให้การของธีรยุทธเป็น ‘สารตั้งต้น’ ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรครัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระส่ำ เฉกเช่นกรณีของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’
- ศาลพิจารณารับคำร้อง แต่ตีตกภายหลัง เพราะเห็นพร้องกับ ‘อสส.’ ว่ามูลให้การของผู้ร้องยังมีน้ำหนักไม่มากพอ ถึงขั้น ‘ยุบพรรค’
- ศาลไม่รับคำร้อง - คดีไม่เข้าสู่การพิจารณาเลย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเห็นของ ‘อสส.’ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ อันมีพยานเป็นเอกสารและหลักฐาน ที่สามารถให้ใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยตีความได้
นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พิจารณาจากพยานหลักฐานที่ผู้ถูกร้องยื่นให้กับ อสส. มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากที่สุด คือทฤษฎีแบบที่ 2 และ 3 เพราะคำร้องยังไกลเกินกว่าจะยุบพรรค ซึ่งศาลสามารถยกอ้างความเห็นของอัยการสูงสุด มาเพื่อตอบสังคมได้ แต่หากมองในมุนรัฐศาสตร์ คิดว่าอย่างไรเสีย ‘กลุ่มอนุรักษ์นิยม’ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการ ‘พรรคเพื่อไทย’ จนกว่าพรรคฝ่ายขวาจะแข็งแรงเพียงพอ ในการต่อกรกับ ‘พรรคประชาชน’
แต่ต้องยอมรับว่า หาก ‘ทักษิณ - เพื่อไทย’ รอดจากการถูกวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครอง (คดีถูกตีตกในชั้นศาล) ย่อมสร้างความไม่พอใจแก่ ‘ด้อมส้ม’ และจะกลายเป็นเรื่อง ‘สองมาตรฐาน’ ไปทันที ซึ่งจะสอดคล้องกับคำปราศรัยที่อุดรธานี กรณีมุมคิดที่ต่างกันระหว่าง ‘พรรคประชาชน’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ เรื่อง ‘คนเท่ากัน’ ด้วย
“ผมไม่อยากมองว่าคุณทักษิณคือตัวแทนของอนุรักษ์นิยม แต่เป็นตัวแทนของอำนาจนิยม ตัวเขาและพรรคเพื่อไทยมีความจำเป็น ที่จะต้องเป็นตัวแทนชั่วคราว แต่เอาจริงกลุ่มอำนาจเก่าไม่เคยไว้ใจเขาอยู่แล้ว แต่ ณ วันนี้ในปีกพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมขึ้นได้ ถึงขั้นจะสู้กับพรรคประชาชนแบบชนะขาด” โอฬาร กล่าวทิ้งท้าย
“ผมไม่อยากมองว่าคุณทักษิณคือตัวแทนของอนุรักษ์นิยม แต่เป็นตัวแทนของอำนาจนิยม ตัวเขาและพรรคเพื่อไทยมีความจำเป็น ที่จะต้องเป็นตัวแทนชั่วคราว แต่เอาจริงกลุ่มอำนาจเก่าไม่เคยไว้ใจเขาอยู่แล้ว แต่ ณ วันนี้ในปีกพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่สามารถสร้างคะแนนนิยมขึ้นได้ ถึงขั้นจะสู้กับพรรคประชาชนแบบชนะขาด”
โอฬาร กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ‘ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมที่สอดคล้องและเห็นต่างกับโอฬาร เขาเชื่อว่าหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไปพิจารณา จะทำให้สภาพของ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ เกิดความระส่ำ และอาจส่งผลไปถึงระดับนานาชาติด้วย กรณีที่สหรัฐอเมริกา ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ อย่าง ‘โดนัล ทรัมป์’ ย่อมทำให้สภาพเศรษฐกิจในภูมิภาค เข้าสู่สภาวะที่ต้องพึ่งการต่อรอง
ดังนั้น หากศาลท่านรับคดีไว้พิจารณา ย่อมทำให้ฉากทัศน์การเมืองต่อจากนี้คาดเดายาก นำไปสู่การหาคำตอบ เพื่ออธิบายอนาคตของ สส. เพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำพรรค ที่มีโอกาสถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า พฤติกรรมของทักษิณ ถือเป็น ‘การส่งสัญญาณ’ ให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้รับรู้ว่าพร้อมจะเป็นผู้ให้บริการเพื่อต่อสู้กับพรรคประชาชน ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีผลต่อกัน เพราะหากมองในมุมขององค์กรอิสระ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหย่อนยาน หรือมองข้ามในมิติที่ต้องตรวจสอบ เพราะอาจจะถูกครหา และอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมสั่นคลอนได้
วันวิชิต เชื่อว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องต่อจากอัยการสูงสุด ในทางการเมืองจะมีการพูดถึงในเชิงเปรียบเทียบ โดยเฉพาะจากพรรคประชาชน อาจมีการใช้เป็นข้อโจมตีทางการเมือง เพราะเพิ่งผ่านเหตุการณ์การถูกยุบพรรค โดยคำวินิจฉัยจากตุลาการไปหมาดๆ แต่มุมส่วนตัวเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจรับคดีล้มล้างการปกครองไว้เพื่อพิจารณา เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมกำลังจับตามอง มีองค์ประกอบหลายประการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความท้าทายอำนาจยุติธรรม ส่วนจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลท่าน
"ผมว่าทุกคนกำลังอยู่ในภาวะกระอักกะอ่วม กับพฤติการณ์ของคุณทักษิณ และกระแสคุณยิ่งลักษณ์กลับไทย จนเกิดการตั้งคำถามจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่ามีตัวเลือกเพียงเท่านี้เองหรือ ซึ่งคุณทักษิณเองก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายซะทีเดียว แต่เขา (ฝ่ายอำนาจเก่า) พร้อมจะทิ้งไพ่ใบสำคัญนี้ไปเลยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามแบบคืบเอาศอกของคุณทักษิณเอง หลายอย่างเกินไปกว่าดีล (ลับ) ที่ต่อรองกันก่อนเลือกตั้งมากแล้ว"
วันวิชิต กล่าวทิ้งท้าย