ปรากฏการณ์ ‘ทักษิณกลับบ้าน’ คือ ‘รัฐประหาร’ เสียของซ้ำสอง ?

20 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:51

The-coup failed-Veera-thaksin-shinawatra-returns-home-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านมิติทางความคิด จากปรากฏการณ์ 'ทักษิณกลับบ้าน' สู่การตั้งปุจฉา 'รัฐประหารเสียของซ้ำสอง' กับ 'วีระ สมความคิด' อดีตแกนนำพันธมิตร ผู้นิยามตัวเองว่า 'เสื้อเหลืองกลับใจ'

เคยได้ยินคำว่า ‘รัฐประหารเสียของ’ จากปากนักการเมือง หรือบนเวทีเคลื่อนไหว กันใช่หรือไม่ ? ว่ากันว่า คำๆ นี้เคยถูกนิยามให้กับ ‘ความล้มเหลว’ ในการสกัดกั้น ‘พรรคตระกูลชินวัตร’ ไม่ให้มีอำนาจทางการเมือง หลังการเข้ายึดอำนาจ ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปอ.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 

เพราะหลังกลุ่มทหารคืนอำนาจสู่มือประชาชน ในปี 2550 จนเกิดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ‘พรรคพลังประชาชน’ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนมาจาก ‘พรรคไทยรักไทย’ ก็ได้รับเสียงโหวตสูงสุด มีอำนาจเต็มสูบในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘สมัคร สุนทรเวช’

แต่ทุกสรรพสิ่งเมื่อรวมนานยิ่งแย่ เมื่อแยกนานย่อมรวม การเมืองไทยในช่วงรอยต่อทางอำนาจ ระหว่างการเลือกตั้งปี 2566 จวบจนมาถึงช่วงจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างวิปริต แม้สงครามสีเสื้อเหลืองแดงจบสิ้น แต่ศึกใหญ่ครั้งใหม่บังเกิดขึ้น ระหว่างขั้วการเมืองแบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้า และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์นิยม - อำนาจนิยม อย่างชัดเจน เกิดการข้ามขั้วผสมโรง ในแบบฉบับที่ ‘อะไรที่ไม่เคยเห็นเป็นได้เห็น’

นอกจากปรากฏการณ์ตระบัตย์สัตย์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในการเข้าชิงพื้นที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคการเมืององคาพยพของ ‘รัฐบาลลุงตู่’ แล้ว เรื่องราวของ ‘คนแดนไกล’ ก็ไม่ใช่สิ่ง ‘ไกลตัว’ อีกต่อไปเพราะ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของ ‘แฟนคลับตระกูลชินฯ’ ได้เดินทางเข้าเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 (วันเดียวกับการโหวตเลือกนายกฯ ) ในฐานะ ‘นักโทษ’ ของกรมราชทัณฑ์  

กระนั้น ดูเหมือนบ้านเมืองจะเข้าสู่การตั้งคำถามอีกระลอก หลังมีการพิจารณาให้ ‘ทักษิณ’ ได้รับอภิสิทธิ์ เข้ารับการรักษาตัวที่ ‘ห้องผู้ป่วยพิเศษชั้น 14’ โรงพยาบาลตำรวจ จากเหตุผลที่แพทย์และบุคลากรกรมราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า ‘ทักษิณเป็นผู้ป่วยระดับวิกฤติ’ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด กระทั่งได้รับการ ‘ลดโทษ’ จากการจำคุก 10 ปี เหลือ 1 ปี มาจนถึงการ ‘พักโทษ’ เปลี่ยนจากห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล คืนสู่ศูนย์อำนาจเดิมอย่าง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ เมื่อต้องโทษครบ 180 วัน 

ภาพของ ‘ทักษิณ’ ในวันนี้จึงไม่ได้ดูโดดเด่นในสายตาของนักประชาธิปไตยเฉกเช่นกาลก่อน

แม้แต่ฝ่ายขวาบางคน ที่ไม่ชอบ ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นทุนเดิมยังทนไม่ได้กับการได้รับการปล่อย ‘กลับบ้าน’ เยี่ยงอภิสิทธิ์ชน คำว่า ‘รัฐประหารเสียของ’ จึงถูกพูดถึงอีกครั้ง ไม่ใช่ในภาวะการยึดอำนาจปี 2549 ที่นำโดย ‘บิ๊กบัง’ พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน แต่เป็นเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 โดย ‘บิ๊กตู่’ -  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  

‘มันเสียของซ้ำซาก’ 

ตามแง่มุมของ ‘วีระ สมความคิด’ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ภายหลังได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อ ว่าไม่เคยสนับสนุนการรัฐประหารปี 2549 และ ‘กลับใจ’ จากการมองการเมืองมิติเดิมแล้ว (ติดตามรับชมบทสัมภาษณ์ได้ที่ : ‘เสื้อเหลือง’ กลับใจ ) ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPACEBAR ว่า ปรากฏการณ์ ‘ทักษิณ’ กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นการตอกย้ำถึงความไม่สำเร็จของการทำรัฐประหาร ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ เมื่อปี 2557 ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ซ้ำร้ายบางมิติอาจดูล้มเหลวมากกว่า 

กระนั้น อาจมองได้อีกมุม ว่าอาจเป็น ‘ภาวะจำยอม’ ของฝ่ายชนชั้นนำ ที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพ เพื่อยับยั้งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นต้องเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กรณีของปล่อยให้ทักษิณได้รับสิทธิเหนือผู้อื่น ตามดีลลับที่มีการตกลงไว้ในเชิงการเมือง

“มันมีความจำเป็นที่ต้องกลับมาดีลกับระบอบทักษิณ เพื่อมาสู้กับศัตรูตัวใหม่ มันก็เลยเป็นภาพที่อาจมองได้ว่า รัฐประหารทั้ง 2 ครั้งเสียของก็มองได้ แต่หากมองถึงความเป็นจริง มันคือเรื่องของผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้ใครขึ้นมาท้าทาย อีกอย่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล คงไม่สามารถพลิกฟื้นสัมพันธ์ทางการเมืองได้อีกแล้ว จากการตระบัตย์สัตย์ต่อประชาชน” 

วีระ สมความคิด กล่าว

ละครบทหนึ่งสะท้อนความจริงของ (การเมือง)

ในมุมมองของอดีตพันธมิตร เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นไปตามสัจธรรมทางการเมืองที่ว่า ‘เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและพวกพ้อง ทุกคนสามารถทรยศต่อชาติและประชาชนได้ทันที’ ซึ่งประโยคนี้อาจไม่ได้หมายถึงแค่กับทักษิณ แต่อาจรวมถึงกลุ่มชนชั้นนำฝากฝั่งอนุรักษ์นิยมด้วย ที่ยอมทำทุกอย่างแม้แต่ ‘จับมือกับศัตรูทางการเมือง’ ของตัวเอง 

เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ ‘พลเอกสนธิ’ ที่คลายอำนาจให้กับ ‘พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์’ ก่อนจะมีการเปิดให้เลือกตั้งปี 2550 ขณะที่ ‘พลเอกประยุทธ์’ พยายามจะรักษาอำนาจไว้ 9 ปีกว่า และสุดท้ายก็ต้องแพ้ต่อกระแสพรรคคนรุ่นใหม่ ที่เบ่งบานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การการหันมา ‘ใช้บริการ’ วงศ์ตระกูลที่ตนเองเคยคิดโค่นล้ม เพื่อต่อสู้กับพรรคก้าวไกล จึงเป็นหนทางจำยอมเพราะหมดทางสู้  

ดังนั้นคำว่า ‘รัฐประหารเสียของซ้ำซาก’ ไม่ได้หมายถึงว่า ฝ่ายชนชั้นนำปราชัยต่อ ‘ระบอบทักษิณ’ แต่เป็นการเพลี้ยงพล้ำให้กับ ‘ปีศาจตัวใหม่’ ที่เครือข่ายอนุรักษ์นิยมหวั่นเกรงในทางการเมือง

“เขาไม่ได้แพ้ทักษิณ แต่เขาแพ้ก้าวไกล แม้แต่ตัวเขาเอง (ทักษิณ) ก็ต้องจำใจทำตามทุกอย่างจนถูกประชาชนด่า ว่าอยู่เหนือกฎหมาย รวมถึงมีการวิจารณ์ต่อเนื่อง ถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังที่รู้เห็นเป็นใจ  จนกระทั้งคนตาสว่างกันทั้งแผ่นดินแล้ว ซึ่งการเลือกตั้งรอบหน้าก็คงเห็นภาพชัดขึ้น แม้นมีผู้นำทางจิตวิญญาณคอยเรียกศรัทธาแฟนคลับ แต่ก็มีไม่น้อยที่เขาเลือกที่จะทิ้งพรรคเพื่อไทยไว้ข้างหลัง”

วีระ สมความคิด กล่าว

วีระ สมความคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่การจับมือข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาล ไปจนถึงปรากฏการณ์ทักษิณกลับบ้าน เป็น ‘ละคร’ ฉากหนึ่ง ที่สะท้อนภาพ ‘การเมือง’ ในมิติที่ทำให้เห็นว่า แม้กลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคม ยังมี ‘ความกลัว’ ต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ก็สามารถชี้ขาดผลทางการเมืองได้ไม่ยาก ผ่าน ‘บท’ ที่ถูกเขียนขึ้น ในลักษณะบทละครหลังข่าว อย่างไม่อินังขังขอบ ต่อข้อครหาจากกองเชียร์ ว่า ‘รัฐประหารเสียของซ้ำสอง’ (อีกแล้ว)

‘นี่คือชีวิตจริง ที่บันทึกความเป็นจริงของชีวิตของการเมืองไทยครับ’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์