ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่องสำหรับประเด็นร้อน ‘เลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)’ ภายหลังวันที่ 7 มิ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์เดินหน้า ‘เลือก สว.ระดับอำเภอ’ ตามไทม์ไลน์ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย 4 มาตราของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งเกี่ยวกับวิธีการเลือก สว. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่
ขณะเดียวกัน (7 มิ.ย.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ระเบียบ กกต.) ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 โดยมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือ 8 มิ.ย. หรือหนึ่งวันก่อนการเลือก สว.ระดับอำเภอ
สาระสำคัญของ ‘ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3’ ได้กำหนดให้อำเภอใดที่มีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว หรือผู้สมัครเกิน 1 กลุ่มแต่มีผู้มารายงานตัวเพียงกลุ่มเดียว หรือผู้สมัครเกิน 1 กลุ่ม แต่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัครผู้ใดหรือสั่งลบชื่อผู้สมัคร ตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 เป็นเหตุให้มีผู้สมัครหรือเพียงกลุ่มเดียวก่อนวันเลือกระดับอำเภอ
ให้ผู้อำนวยการระดับอำเภอจัดให้มีการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน โดยการดำเนินการเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันภายหลังการลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันแล้ว ให้งดการดำเนินการให้มีการเลือก เนื่องจากไม่มีผู้สมัครกลุ่มอื่นให้เลือกและผู้สมัครจะเลือกตนเองไม่ได้
และกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ที่ได้คะแนนเลือกระดับประเทศ ไม่ถึง 15 คน ให้ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ รายงานต่อคณะคณะกรรมการโดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการมีมติสั่งให้มีการเลือกเพิ่มเติม โดยให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน ซึ่งอยู่ณสถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกเลือกผู้สมัครที่ได้รับเลือกของกลุ่ม ที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 15 คน อยู่ณสถานที่เลือกใหม่ เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนในกลุ่มนั้นไม่น้อยกว่า 15 คน เมื่อได้ดำเนินการแล้วหากกลุ่มนั้นยังมีผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกไม่ถึง 15 คน ให้ผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศดำเนินให้มีการเลือกเพิ่มเติม เพิ่มเติมจนกว่าจะได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนกลุ่มไม่น้อยกว่า 15 คน
ถ้ามีเหตุให้ผู้ที่ได้รับคะแนนคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 คนใดในกลุ่มใด ไม่สามารถเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ เพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อ หรือตาย หรือเพราะเหตุอื่นใด ให้เลื่อนบุคคลที่ได้รับคะแนนอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น เป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และให้ผู้ที่ได้รับคะแนนอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นมีจำนวนเท่าที่เหลืออยู่
8 เหตุผล ‘เลือก สว.’ ส่อถูกร้องเป็นโมฆะ
อีกด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นผ่านโซเชียลฯ โดยชื่นชมความกล้าหาญในการตัดสินใจของ กกต.ที่ลงมติเอกฉันท์ ไม่เลื่อนการเลือก สว.ออกไป
แต่ในเวลาต่อมา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงบางข้อในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3 ที่เพิ่งประกาศออกมา และมองว่า การเลือก สว.อาจถูกร้องเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผล 8 ข้อ ได้แก่
1. การเลือกไขว้ระดับอำเภอ สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครคนเดียว ผู้สมัครจะได้บัตรเลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกันอีก 4ใบ
2. เมื่อผู้สมัครคนเดียว กาบัตร 4 ใบ จะนำลงไปหย่อนในหีบของกลุ่มตัวเอง ทำให้หีบดังกล่าวทั้งหีบมีบัตรเพียง 4 ใบ
3. เมื่อเปิดหีบนับคะแนน จะทำให้ทราบทันทีว่า ผู้สมัครคนนั้นใช้สิทธิเลือกใครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่ม ทำให้การเลือกไม่เป็นความลับ
4. พ.ร.ป. สว. มาตรา 33 กำหนดให้การเลือก สว. ต้องทำด้วยวิธีลงคะแนนลับ
5. ในอดีต ปี 2547 การเลือกตั้ง สส. ที่ กกต. กลับคูหาหันออก เคยมีคำวินิจฉัยของศาลให้เป็นโมฆะ เนื่องจาก เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช่การลงคะแนนลับ
6. พรุ่งนี้ จะเลือกระดับอำเภอ แล้วมีอำเภอจำนวนไม่น้อย ที่กลุ่มอาชีพหลายกลุ่ม มีผู้สมัครคนเดียว
7. ทางแก้ คือ ออกระเบียบ ให้รวมหีบบัตรที่มีผู้สมัครคนเดียวกับหีบบัตรอื่น เพื่อให้มีบัตรของหลายคนอยู่ในหีบบัตรเดียวกัน ทำให้ไม่รู้ว่าใครเลือกใคร
8. คืนนี้ ยังออกระเบียบฉบับที่ 4 ได้ทัน แต่ต้องประกาศในราชกิจจาฯ ให้ทันก่อนเที่ยงคืนนะครับ
ท่ามกลางความวุ่นวายและสับสนนั้น ดูเหมือน กกต.จะพยายาม ‘อุดรอยรั่ว’ ในกระบวนการเลือก สว.อย่างเต็มที่ แต่นับจากนี้ต้องจับตาว่าทั้งหมดนี้ ‘จะราบรื่น หรือ ส่อมีปัญหา’ ตามที่ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่