คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาฯ แถลงข่าวถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567
โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ้ายจัดพิธีการงานเฉลิมพระเกียรติฯ และประธานกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์สำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ พร้อมทั้งนำมาจัดทำเข็มที่ระลึก เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนใช้ประดับและเก็บเป็นที่ระลึก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ โดยดำเนินการตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมาในวาระสำคัญ
สำหรับการจัดพิธีการในนามรัฐบาล ประกอบด้วย การจัดพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ การจัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ การจัดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล งานสโมสรสันนิบาต และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น
ในส่วนของโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติๆ ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เสนอโครงการและกิจกรรมที่มีลักษณะการดำเนินงานเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมอันเนื่องมาจกพระราชปณิธาน พระราชดำริพระบรมราโชวาท หรือพระราชกรณียกิจ เข้าร่วมเป็นโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่มีต่อสังคมโดยรวม สร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นความร่วมมือของรัฐบาลไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย โดยสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงาน ภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี พร้อมพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ จากสถูปโบราณปีปราห์วา เมืองสาญจี สาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวที่ประเทศไทย เป็นครั้งแรก
ตามโครงการธรรมยาตราจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ โดยจัดงานระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 19 มีนาคม 2567
โดยมีการจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ดังนี้
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 67 ณ มณฑลพิธิท้องสนามหลวง
- วันที่ 5-8 มีนาคม 67 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
- วันที่ 10-13 มีนาคม 67 ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จ.อุบลราชธานี
- วันที่ 15-18 มีนาคม 67 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) จ.กระบี่
จากนั้น จะจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ส่งมอบคืนให้แก่สาธารณรัฐอินเดีย
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ อาทิ มหกรรมรําอวยพร 4 ภาค การแสดงของวงดุริยางค์จาก 4 มหาวิทยาลัย และการแสดงโขนกลางแปลง รวมถึงกิจกรรมสวดมนต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งถือเป็นพิธีงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากหัวใจของงานศาสนานั้น คือซอฟต์พาวเวอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่จะรวมพลังทางศาสนา ทั้งแนวคิดคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เกิดสันติภาพ อยู่ด้วยกันด้วยความรักและความสามัคคี

ด้าน พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม โดยประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมความหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ในการเผยแพร่มุมบนหน้าจอโทรทัศน์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงและสื่อสังคมออนไลน์
พร้อมจัดพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสื่อมวลชน เชิญชวนทุกหน่วยงานจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ประดับธงชาติไทยคู่กับธงตราสัญลักษณ์ฯ พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของทุกหน่วยงาน และได้มีการนำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ ในรูปแบบบทความเฉลิมพระเกียรติฯ ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย