‘กมธ.มั่นคงฯ’ จี้รัฐทบทวน! แก้ปัญหาแนวชายแดนยังมีจุดอ่อน

16 ก.พ. 2568 - 09:38

  • ‘กมธ.มั่นคงฯ’ ชี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแนวชายแดนยังมีจุดอ่อนด้านนโยบาย-กฎหมาย-อุปกรณ์

  • ‘โรม’ ขออย่าพึ่งสรุปเหยื่อค้ามนุษย์สมัครใจมา ต้องให้ความสำคัญในกระบวนการคัดกรอง หลังพบข้อจำกัดเรื่องภาษา

  • คาใจเที่ยวบินมาแม่สอดต่างชาติอื้อ จี้เช็กตรวจสอบรายตัว

The-National-Security-Committee-urges-the-government-to-review-Solving-border-problems-SPACEBAR-Hero.jpg

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา กับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ว่า วันนี้เราได้คุยกับทางหน่วยเฉพาะกิจราชมนู และกองกำลังนเรศวร 

โดยจากการพูดคุย มี 2 ขั้นตอน คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำได้ดีแล้วแต่ยังมีจุดอ่อนทางด้านนโยบายและกฎหมาย รวมไปถึงอุปกรณ์บางอย่าง ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้ เช่นอุปกรณ์แผงโซลาเซลล์ จานดาวเทียมสตาร์ลิ้งค์ และน้ำมัน ที่ยังพบว่ามีการลักลอบนำข้ามไปฝั่งเมียนมา 

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับ ซึ่งควรจะต้องให้การสนับสนุนพื้นที่ชายแดนมากกว่านี้ และควรจะต้องมีงบประมาณ กำลังพลและเทคโนโลยี ทั้งนี้จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นมายังกรรมาธิการฯ เพราะกรรมาธิการฯ มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รอบด้าน 

รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงข้อกังวลที่พบว่า เที่ยวบินเอกชนที่เดินทางมายังสนามบินแม่สอด ที่ตนเองได้โดยสารมา ยังพบว่ามีชาวต่างชาติโดยสารมาจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางการทหารที่ยังมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา แม้จะมีการตั้งหน่วยคัดกรองถึง 4 ชั้นแล้วก็ตาม

“ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถเข้าไปทำการจับกุมได้ จึงขอให้รัฐบาลทำการทบทวนนโยบายฟรีวีซ่า และขอให้มีการจัดโซนนิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ซึ่งชาวต่างชาติที่จะมาในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องแจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการมา และให้พิจารณาเป็นราย ส่วนข้อกังวลที่ 2 คือประเด็นเรื่องท่าข้าม เพราะข้อมูลทางการทหารรายงานว่า จุดท่าข้ามยังทีการลักลอบขนคน และส่งน้ำมันหลังเวลา 18.00 น.”

รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการออกหมายจับ พันเอกหม่อง ชิตตู ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน รัฐกะเหรี่ยง หรือ BGF ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในการควบคุมเมียวดี และ ชเวโก๊กโก และส่วนตัวเชื่อมีตัวเลขของคนที่เกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์ในชเวโก๊กโก มีประมาณหลักแสนคน ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มเล็กกลุ่ม น้อยที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก และตอนนี้ได้ข้อมูลว่ามีความพยายามนำนายทุนรายใหญ่ หลบหนีไปอยู่ที่เมืองพะอัน ดังนั้นการปราบปรามจะต้องเพิ่มมิติในการทำงาน เช่นการพูดคุยในหลายฝ่าย เพราะการพูดคุยกับทางการเมียนมา อาจจะยังไม่เพียงพอ

ส่วนกรณีทางการไทยออกมาแถลงว่า เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติและรับได้รับการช่วยเหลือมาแล้ว 260คน มีเพียงแค่ 1 คนที่ถูกหลอก ที่เหลือสมัครใจมานั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า ยังไม่อยากสรุปตอนนี้เพราะกระบวนการคัดกรองมี 2 ชั้น ซึ่งการคัดกรองขั้นในทางการไทยไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยในรายละเอียดการคัดกรองว่าเป็นอย่างไร เพราะเท่าที่สังเกต ก็พบเห็นข้อจำกัดเรื่องภาษา เนื่องจากภาษาอังกฤษ และจีนคงไม่เพียงพอ ต้องมีภาษาอื่นๆ เข้ามาด้วย 

รวมถึงข้อจำกัดเรื่องสถานทูต เพราะเหยื่อยางประเทศก็ไม่มีสถานทูตในประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ ต้องใช้บุคลากรในการคัดกรองหลักหมื่นคน ซึ่งจึงมองว่า รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรอง ให้มีประสิทธิภาพ จึงจะได้เห็นว่าใครเป็นตัวการใหญ่ และคนที่เกี่ยวข้องกับขบวนการที่จะนำไปสู่การทลายกลุ่มขบวนการแบบถอดรากถอนโคนได้

The-National-Security-Committee-urges-the-government-to-review-Solving-border-problems-SPACEBAR-Photo01.jpg

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่ทางการจีนส่งรายชื่อของตัวการขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ให้กับทางการไทย 3,700 คน ไปคัดแยกออกจากเหยื่อนั้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้  เป็นเพียงบรรเทาทุเลาเบาบาง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ถ้าหากทำได้คงทำไปนานแล้ว แต่ข้อมูลทางการจีนนั้นมีความสำคัญแน่นอนแต่ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด 

“ยกตัวอย่าง ตึกเคเคปาร์ค มีตัวการสำคัญคือ หวัน ค็อกคอย ซึ่งเป็นมาเฟียระดับโลกเป็นที่ต้องการตัวของหลายประเทศ ซึ่งการจะไปจับกุม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนที่ชเวก๊กโก ก็มี พ.อ.หม่อง ชิตตู่ ที่อยู่ในฐานะผู้ร่วมลงทุน ถือเป็นอาชญากรรายสำคัญ การสอบสวนจึงต้องมีการขยายผลไปยังบุคคลอีกหลายกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การถอนรากถอนโคนอย่างแท้จริง”

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า กรณีที่กองกำลัง BGF พยายามกวาดล้างและคืนเหยื่อคอลเซนเตอร์นั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นได้ทั้งการจัดฉากและการเอาจริง พร้อมตั้งคำถามกลับว่า “ถ้าหากจะเอาจริงทำไมพึ่งมาทำตอนนี้ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายไทย ทั้งอัยการและดีเอสไอ หากไม่สามารถออกหมายจับได้จะต้องมีคนรับผิดชอบ เราไม่ควรปล่อยให้อาชญากรทำการละเมิดกฎหมายไทยไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศก็ตาม”

รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงการที่ทางการไทยแถลงถือเป็นการซูเอี๋ยกันในการจัดลำดับการค้ามนุษย์หรือไม่ว่า ส่วนตัวกังวลเรื่องการซูเอี๋ย ระหว่างกองกำลัง BGF และฝ่ายไทย ส่วนเรื่องของขั้นตอนกลไกการส่งต่อระดับชาติหรือ NRM  ตนเองจะมีการหารือกับ สมช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคัดกรองว่าใครเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอลเซนเตอร์ แต่ตอนนี้ไม่ควรจะรีบสรุปว่าใครคืออาชญากร ซึ่งจะต้องทำกระบวนการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพจริงๆ ก่อน

The-National-Security-Committee-urges-the-government-to-review-Solving-border-problems-SPACEBAR-Photo02.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์