The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo00.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo01.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo02.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo03.jpg

Photo Story : ‘ปชน.’ แฉ ‘ประกันสังคม’ ใช้กองทุน 7 พันล้านซื้อตึกราคา 3 พันล้าน

10 มี.ค. 2568 - 06:13

  • ‘ปชน.’ ลุยแฉต่อ ! ‘ประกันสังคม’ ใช้เงินกองทุน 7 พันล้านซื้อตึกราคาประเมิน 3 พันล้าน แง้มมีนักการเมืองอดีตเจ้ากระทรวงเป็นเจ้าของ

  • ใช้อำนาจตั้งเด็กหน้าห้องทำดีลซื้อ ฟาดกำไร 4 พันล้านจากเงินผู้ประกันตนจริงหรือไม่

The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo00.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo01.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo02.jpg
The-People-Party-audited-social-security-SPACEBAR-Photo03.jpg

ณ อาคาร SKYY9 Centre ย่านพระราม 9 ‘รักชนก ศรีนอก’ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน และ ‘สหัสวัต คุ้มคง’ สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าว ‘แฉเสียดฟ้า กองทุนประกันสังคมจงใจลงทุนผิดพลาด เพื่อเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องหรือไม่’ กรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ที่มีข้อสงสัยถึงปัญหาธรรมาภิบาล 

รักชนก ระบุว่า การลงทุนของคือหัวใจสำคัญของกองทุนประกันสังคม เพราะการที่กองทุนจะอยู่ได้หรือจะล้ม อยู่ที่การนำเงิน 2.6 ล้านล้านบาทในการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งกรณีวันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลในการลงทุนของ สปส. ที่เล่นแร่แปรธาตุซื้อตึกมูลค่า 3 พันล้านบาทด้วยราคา 7 พันล้านบาทในปี 2565-2566 ซึ่งไม่ใช่ตึกที่เพิ่งสร้างเสร็จ แต่เป็นตึกที่ในอดีตช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (เป็นตึกร้าง) จนกระทั่งมีบริษัทแห่งหนึ่งซื้อตึกไปปรับปรุงซ่อมแซม เมื่อปรับปรุงเสร็จก็ประจวบเหมาะกับช่วงที่ สปส. ปรับแก้ระเบียบต่างๆ ทำการศึกษา และมีการตัดสินใจลงทุนพอดี ซึ่งตึกแห่งนี้ในช่วงปลายปี 2565 มีอัตราการเข้าทำกำไรหรืออัตราการเช่าอยู่ที่ 1% เท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม สปส. ได้เข้าซื้อโดยทำแผนงานที่สวยหรูเกินจริง อ้างถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม แต่เมื่อเริ่มดำเนินการกลับมีผู้เช่าในปีแรกเพียง 1-2% เท่านั้น ปัจจุบันตัวเลขที่ สปส. รายงานมีคนเข้าใช้ตึกประมาณ 40% แต่เป็นตัวเลขที่น่าสงสัย น่าจะมีการรวมผู้เช่าที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ในอนาคตด้วย และตัวเลขจริงอาจต่ำกว่า 40% อยู่ที่เพียง 20-30% เท่านั้น ตึกนี้ทำกำไรในปี 2567 ประมาณ 40 ล้านบาท แต่ค่าบริหารจัดการรวมกับค่าจ้างกองทุนในการบริหารอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ถ้าทำกิจการด้วยอัตรานี้ต่อไปเท่ากับจะติดลบทุกปี เงิน 7 พันล้านบาทที่ สปส. ทุ่มลงทุนไปจะสูญเปล่า 

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสำนักงานประกันสังคมในยุคที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เอกสารทุกอย่างในการศึกษามีความพยายามตีความให้เข้าข้างว่าต้องซื้อ และยังมีคำถามอีกว่าทำไม สปส. ถึงตัดสินใจใช้เงิน 7 พันล้านบาทในการลงทุนตึกแห่งเดียว แทนที่จะมีการกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งอื่นๆ สปส. ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์แบบนี้ แล้วทำไมถึงยังลงทุนในตึกแห่งนี้ 

รักชนก กล่าวอีกว่า ตึกแห่งนี้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเดิมชื่อ ICE ในช่วงโควิด-19 มีการประเมินมูลค่าของตึกนี้อยู่ที่ 3 พันล้านบาท ทำไม สปส. ถึงยอมจ่ายเงิน 7 พันล้านบาทเพื่อซื้อของในราคา 3 พันล้านบาท ทั้งที่ทุกล้านบาทที่ สปส. ประหยัดได้และนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 5 % ไปอีก 30 ปี จะงอกขึ้นมาเป็นเงิน 4.32 ล้านบาท นี่คือค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นของผู้ประกันตน 

“อยากให้สื่อมวลชนลองคุ้ยประวัติของตึกนี้ว่ามือแรกและมือถัดๆ มามีชื่อใครเป็นเจ้าของ มีชื่อใครปรากฏอยู่บ้าง มีนักการเมืองพรรคไหนบ้างหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเพราะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ตึกนี้ปรับปรุงเสร็จเมื่อต้นปี 2565 หลังจากพร้อมใช้งานก็พร้อมขายต่อให้ สปส. เลย เป็นการตกแต่งหน้าตาของตึกโดยรู้อยู่แล้วว่า สปส. พร้อมจะซื้อเลยหรือไม่ นอกจากนี้ตนยังได้ยินข่าวลือมาอีกว่า สปส. พยายามย้ายสำนักงานบางส่วนเข้ามาใช้พื้นที่ในตึกนี้ แต่มันเป็นเพียงการย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายมาเข้ากระเป๋าขวาหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการอยากให้ตัวเลขการเช่าใช้ตึกสูงขึ้นหรือไม่”

รักชนก ยังกล่าวต่อไปว่า จากเรื่องที่ได้เปิดมาตั้งแต่มีการแฮ็กงบประมาณ สปส. นอกจากโครงการเว็บแอป 850 ล้านบาทที่ทุกวันนี้ยังไม่เสร็จ ยังไม่มีการปรับ และยังมีพิรุธเต็มไปหมด หรือโครงการต่างๆ ที่เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและไม่สอดคล้องกับงานของ สปส. อาทิ การทำปฏิทิน วันนี้สังคมไปไกลหลายเรื่องแล้ว แต่ฝ่ายการเมืองถึงที่สุดกลับยังไม่ออกมาทำอะไรเรื่องนี้ ไม่ตั้งกรรมการสอบ ไม่สืบหาข้อเท็จจริง จึงขอเรียกร้องไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อย่างน้อยที่สุดควรตั้งกรรมการในการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“การลงทุนซื้อตึก 7 พันล้าน ส่วนต่างของมูลค่าจริงกับเงินที่จ่ายไปคือ 4 พันล้าน ดิฉันอยากตั้งคำถามว่าใครได้กำไร ประกันสังคมไม่ได้กำไรแน่นอน แต่ดิฉันเชื่อว่ามีคนกำไรแล้ว นอกจากนี้ในปีที่มีการลงทุนซื้อตึกนี้ก็เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใดมาหากินโดยเอาส่วนต่างของประกันสังคมไปเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่”

รักชนก กล่าว

ด้าน สหัสวัต ระบุว่า ในการเข้าลงทุนของประกันสังคม โดยปกติแล้ว สปส. จะทำแผนการลงทุน 5 ปีโดยบอร์ดใหญ่ ซึ่งเป็นเพียงการกำหนดกรอบการลงทุนใหญ่ๆ แต่คนที่ตัดสินใจจริงคืออนุกรรมการการลงทุนที่พิจารณาแผนลงทุนรายปี และคนที่มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ ในการอนุมัติลงทุนนอกตลาดแบบนี้คือเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม 

ในช่วงปี 2565 มีความพยายามให้ สปส. ลงทุนนอกตลาดหุ้นมากขึ้น มีการพิจารณาแผนรายปีขึ้นมา ซึ่งตนขอตั้งคำถามว่ามีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ต่างๆ หรือไม่ เพราะคนที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในส่วนนี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งในช่วงปี 2565 มีการแต่งตั้งโยกย้ายเด็กหน้าห้องของตัวเองมาอยู่ในกลุ่มงานบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุน เพื่อทำแผนรายปีและตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร โดยอนุกรรมการการลงทุนนอกตลาดที่ตั้งขึ้นมาก็มีคนหน้าห้องคนเดิมเข้าไปอยู่ในอนุกรรมการชุดนั้นด้วย นอกจากนั้นยังมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้นเข้ามาอยู่ในอนุกรรมการด้วย 

สหัสวัต กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของ สปส. สามารถซื้อโดยตรงได้ แต่การลงทุนซื้อตึกนี้กลับมีความซับซ้อน เพราะเป็นการตั้งกองทรัสต์ขึ้นมากองหนึ่งมูลค่า 9.8 พันล้านบาท โดย 30% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ แต่ 70% กลับทุ่มมาซื้อตึกนี้ที่เดียว แล้วยังให้กองทรัสต์ไปซื้อบริษัทแห่งหนึ่งที่มีสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวคือตึกแห่งนี้ เป็นการลงทุนซ้ำซ้อนและมีความพยายามปกปิด ทำให้น่าสงสัยว่าทำไมต้องมีการปกปิดขนาดนี้ 

ปกติกองทุนใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีการลงทุนนอกตลาดหุ้นในอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก มักจะไปร่วมลงทุนกับกองทุนอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีการกระจายความเสี่ยง ไม่มีใครทุ่มซื้อตึกแห่งเดียวแบบนี้ จนตนต้องตั้งข้อสงสัยว่าดีลตึกนี้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพราะมีการโยกเด็กหน้าห้องตัวเองมาทำดีลนี้โดยตรง และมาอยู่ในอนุกรรมการที่ผลักดันให้เกิดดีลนี้

“ที่ผ่านมาการลงทุนของประกันสังคมไม่เคยเปิดเผยต่อประชาชนว่าทำอะไร ซื้อตึกที่ไหนบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่การลงทุนของประกันสังคมยังอยู่ในมุมมืดแบบนี้ก็อาจจะเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงแล้วหาเงินกับเรื่องนี้ได้ การโยกย้ายข้าราชการในปี 2565 เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ และท่านได้ประโยชน์อย่างไรจากการซื้อตึกแห่งนี้”

สหัสวัต กล่าว

สหัสวัตยังกล่าวต่อไปว่า เงินของผู้ประกันตนทุกบาทควรถูกพิจารณาอย่างโปร่งใส ไม่ควรมีใครได้ผลประโยชน์เอื้อพวกพ้องจากเรื่องนี้ การลงทุนของ สปส. มีปัญหาและถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ อีกทั้งโครงสร้างของ สปส. ทุกวันนี้ก็มีปัญหาจริงๆ และต้องได้รับการปฏิรูป นายกรัฐมนตรีควรตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อตึกนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจในการอนุมัติคือเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ซึ่งในขณะนั้นคือ ‘บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์’ ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่เคยออกมาตอบคำถามใดๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ รวมถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ 

ต่อให้แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและเลขาธิการ สปส. คนปัจจุบัน แต่รัฐมนตรีฯ ก็ควรตั้งกรรมการสอบสวนย้อนหลังถึงการลงทุนที่ผิดปกติของ สปส. โดยในการประชุมบอร์ด สปส. วันพรุ่งนี้นอกจากเรื่องการพิจารณาปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญแล้ว ยังจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง ซึ่งสังคมและสื่อมวลชนควรต้องช่วยกันจับตามองเพื่อไม่ให้เกิดการซื้อตึกแบบแปลกๆ เช่นนี้อีกในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์