ค่านิยม ‘ชายจริง - หญิงแท้’ บนถนนการเมืองไทย

26 ต.ค. 2566 - 07:49

  • ชวนอ่านมุมมองของ สส.ไทย ต่อค่านิยมเรื่องเพศ กับนิยามแบบ 'ชายจริง หญิงแท้' ที่มักซุกปัญหาความรุนแรงไว้ใต้พรมรัฐสภารโหฐาน กับ 'ดร.ชเนตตี ทินนาม' คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

The-problem-of-sexual-harassment-of-politicians-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ปัญหาความรุนแรงทางเพศ’ ในห้วงหลัง กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครๆ ต่างมิอาจยอมรับได้ โดยเฉพาะเมื่อต้นเหตุมาจาก ‘สส.’ ผู้ทรงเกียรติแล้ว สาธารณชนย่อมตื่นตัว และวิจารณ์อย่างออกรสออกชาติ  

ไม่ว่าจะเป็นข่าวอื้อฉาวที่เกิดกับ ‘พรรคก้าวไกล’ กรณีข่าวการใช้ความรุนแรงทางเพศของ สส.กทม. จนเกิดปุจฉาถึงการกระบวนการตั้งคณะกรรมตรวจสอบ หรือจะเคสเก่าเต่าล้านปี อย่าง กรณี ‘อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’ ผู้ตกเป็นจำเลยฐานทำอนาจารหญิงสาว ที่เพิ่งถูกศาลสั่งยกฟ้องไปหมาดๆ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน 

การพุ่งเป้าไปที่ภาคการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อท่านได้ชื่อเป็นผู้แทนประชาชน แล้วเหตุไฉนจึงไม่เป็นตัวอย่างที่ดี หรือความจริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวถูกซุกอยู่ใต้ฐานคอนกรีตรัฐสภาอันรโหฐานอย่างมิดชิด… 

อย่างไรก็ดี เรื่องเพศแม้จะเป็นประเด็นที่ถูกพูดกันหนาหู ในช่วงสังคมตื่นตัวกับประเด็นความเท่าเทียม แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการพูดทำความเข้าใจ จึงไว้วานให้ ‘ดร.ชเนตตี ทินนาม’ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยไขข้อข้องใจ ว่าด้วยเรื่อง ‘เพศบนเวทีการเมืองไทย’ มีแง่มุมตื่นลึกหนาบางแค่ไหน ภายใต้กรอบนิยาม ‘ชายจริง - หญิงแท้’ ของสภาผู้แทนราษฎร 

“หญิงแท้ชายแท้มาจากกรอบสังคมที่มองว่า ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ซึ่งในภาคการเมืองปัจจุบัน เราก็ยังพบเห็นอยู่เนื่องๆ ทั้งในและนอกสภา และเมื่อ สส. ยังมีมายเชตแบบชายเป็นใหญ่อยู่ มันจึงกลายเป็นสารตั้งต้น ที่ทำให้นักการเมืองใช้รุนแรงทางเพศเสียเอง” 

เป็นคำอธิบายอย่างตรงไปตรงมาของชเนตตี เมื่อผู้เขียนถามถึงต้นตอของปัญหาการใช้ความรุนแรงและการคุกคามทางเพศของผู้แทนปวงชนผู้ทรงเกียรติ โดยนักวิชาการที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางเพศมาสม่ำเสมอ ได้ขยายความว่า นิยาม ‘ชายจริง - หญิงแท้’ เป็นการมองภาพภายใต้กรอบแนวคิดแบบ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่จำแนกเพศในสังคมไว้เพียง 2 เพศ คือ ‘เพศหญิง’ และ ‘เพศชาย’ พร้อมกับกีดกันเพศอื่นๆ ไม่ให้มีอำนาจหรือจุดยืนในสังคมด้วย

หากมองย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์จะพบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา เริ่มมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศจาก ‘กลุ่มสตรีนิยม’ ตั้งต้นมาจากประเด็นทางการเมือง โดยช่วงแรกเป็นการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง เพราะแต่เดิมชาติตะวันตกไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง มีสิทธิ์เข้าคูหากาผู้แทน เยี่ยงปัจจบุันที่ผู้คนชินตาไปแล้ว 

เมื่อตั้งต้นจากประเด็นทางการเมือง ย่อมส่งผลกระทบต่อประเด็นอื่นๆ ทางสังคมเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแวดวงขับเคลื่อนความหลากทางเพศ ที่เริ่มเป็นกระแสสากลในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง 

กระนั้น ปัญหาความรุนแรงทางเพศในวงการเมืองไทย ก็มีให้พบเห็นอยู่บ้าง แม้จะไม่มากเหมือนช่วงอดีต แต่ปฏิเสธได้ยากว่าสังคมไทยยังมองเรื่องเพศแบบล้าหลังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม ที่หากพิจารณาแบบถ่องแท้ จะพบว่า ‘หญิงไทย’ มีความลำบากด้านใช้ชีวิตทางการเมืองมากกว่าผู้ชาย เห็นได้จากจำนวน สส.หญิงในรัฐสภา ที่ขาดความสมดุลหากเทียบเคียงกับจำนวน สส. ชาย ซึ่งอาจมาจากมายาคติที่ฝังรากลึกในตัวผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า การเป็น สส.ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะมีคุณบัติความเป็นผู้นำมากกว่าผู้หญิง 

หากจะสะท้อนมุมการผลักดันทางกฎหมาย การต่อสู้ของกลุ่ม สส. หญิงแทบไม่มีส่วนในการผลักดันประสำคัญเลย ยกตัวอย่างกรณีสำคัญคือ ‘กฎหมายทำแท้ง’ ที่จะพบว่าการตัดสินใจยังอยู่ในมือของรัฐสภา ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบสูงสุด เรื่องดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนตราบาปในอดีตของสภาชายแท้ ก่อนที่จะมีการคลอดกฎหมายให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ 

หรือแม้แต่การใช้ถ้อยคำดูหมิ่นคุณค่าของ สส.หญิง จากฝากฝั่ง สส.ชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดเปรียบเทียบเชิงร่างกาย ความสวยความงาม หรือแม้แต่การเอาหลักทางธรรมชาติวิทยามาล้อเลียน ซึ่งถือเป็นการด้อยค่าเพศหญิงกลางรัฐสภา ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่นมนานและมายุคปัจจุบันซึ่งจะพบเห็นได้ตามยามเวทีอภิปราย กรณีโต้เถียงกันระหว่าง สส. ทั้ง 2 เพศ 

“สส.หญิงมักถูกล้อเลียนเรื่องความสวยความงาม อายุ หรือสรีระทางร่างกาย แต่ที่หนักไปกว่านั้น อาจารย์เคยทำวิจัยแล้วพบว่า เคยมีการยกนำเรื่องประจำเดือนเข้ามาพูดในเชิงด้อยค่าให้เกิดความละอาย กลางเวทีอภิปรายสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ทั้งๆ ที่ประจำเดือนเป็นอาหารมื้อแรกของทารกในครรภ์มารดา ก่อนที่มนุษย์ (ทุกๆ เพศ) จะถือกำเนิดเป็นชีวิตหนึ่งชีวิตขึ้นมา” 

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับกรณีที่ สส. หญิงด้วยกันเอง มีพฤติกรรมส่อเสียดไปทางด้อยค่า และมักเกิดวิวาทะเรื่องความสวยความงามบนห้องประชุมสภา จนมีให้เห็นบ่อยครั้งตามหน้าสื่อ โดยเฉพาะจาก สส.หญิงเขี้ยวลากดิน หรือผู้ที่ผ่านสนามการเมืองมายาวนานแล้ว

อาจารย์นิเทศศาสตร์ มองว่า เรื่องแบบนี้อย่าไปโทษเพศหญิงหรือเพศชาย แต่ขอให้โทษผู้มีแนวคิดแบบปิตาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเพศใดๆ ก็สามารถมีแนวคิดดังกล่าวได้เช่นกัน ดังนั้นในภาคการเมืองควรเปลี่ยนทรรศนะการมองภาพเรื่องเพศ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม และความไม่เป็นธรรมซึ่งกันและกัน จะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ชเนตตี ได้กล่าวต่อถึงกรณีการคุกคามทางเพศจาก สส.ชาย ที่มักมีข่าวหนาหูในช่วงที่ผ่านมาว่า ว่า กรณีดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาให้เห็นโดยตลอด และไม่ได้มีเฉพาะช่วงนี้ เหตุผลง่ายๆ บุคลากรทางการเมืองและสังคมยังโทษผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อมาโดยตลอด ด้วยอำนาจที่อยู่ในมือของนักการเมืองชาย 

พร้อมตั้งคำถามกับสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุไฉนจึงไม่มีการสร้างกลไกเพื่อป้องกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการร้องเรียน การแจ้งข้อกล่าวหา การไตร่สวน - สอบวินัย หรือแม้แต่กระบวนการที่จะให้การเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม

“เอาเข้าจริงผู้หญิงทุกคนจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง เพราะชีวิตหลังผ่านพ้นมันไม่ง่ายจะคืนกลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดซ้ำไปมาในสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำไมสภา - ต้นสังกัดของนักการเมืองไม่สร้างกลไกที่เป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันและเยียวยาผู้เสียหาย ทั้งๆ เรื่องนี้มักเกิดขึ้นกับ สส.และพรรคการเมือง ซึ่งผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมน้อยมาก หากเทียบกับ สส. ชายที่เป็นต้นเรื่อง" 

มันแสดงให้เห็นว่ารัฐสภาไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องนี้ และสิ่งสำคัญก็คือต้นสังกัดกลัวเสียภาพลักษณ์ และต่างปกป้องชื่อเสียงของพรรคตัวเอง มากกว่าจะคำนึงถึงความรู้สึกและผลกระทบทางร่างกายของเหยื่อผู้ถูกกระทำ” ชเนตตี กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์