อวสานเซลส์แมน! จุดเปลี่ยนการเมืองไทยปี 67

1 ม.ค. 2567 - 02:00

  • จุดเปลี่ยนทางการเมืองปี 2567 จะอยู่ในสองช่วงสำคัญ

  • หลัง 22 ก.พ. 2567 เป็นต้นไป ที่ ‘ทักษิณ’ พ้นโทษออกจากเรือนจำ หรือแม้จะเป็นเพียงการพักโทษก็ตาม

  • หลัง 11 พ.ค. 2567 ที่ สว.ถูก ‘ปิดสวิตช์’ จากการสิ้นสุดลงของบทเฉพาะกาล ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

The_turning_point_in_Thai_politics_67_The_end_of_the_salesman_SPACEBAR_Hero_f3bf8dc5c1.jpg

ปี พ.ศ.2567 ในทางนักษัตรตรงกับปีมะโรง ‘งูใหญ่’ หรือปีมังกรทอง ที่ในทางตำราโบราณเชื่อว่าปีมังกรทอง จะสื่อถึงความแข็งแกร่ง กล้าหาญ ทะเยอทะยาน และมีความโดดเด่น... ว่ากันตามความเชื่อของแต่ละคนไป

แต่สำหรับในทางการเมือง มองกันว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะเปลี่ยนมากหรือเปลี่ยนน้อยขนาดไหน ขึ้นกับเหตุปัจจัยในแต่ละช่วงเป็นสำคัญ

โดยปฐมบทของการเปลี่ยนแปลง จะเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่ต้นปีในวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ ที่สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท จะเป็นเวทีแรกให้ฝ่ายค้าน ‘ซ้อมใหญ่’ ซักฟอกรัฐบาล

พิสูจน์ฝีมือฝ่ายค้าน ‘ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์’ จะชกแบบเต็มหมัดจริงหรือไม่?

จากนั้น เป็นช่วงลุ้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประเดิมคดีแรกในวันพุธที่ 17 ม.ค.67 ของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม ที่ถูกร้องเรื่องถือครองหุ้น ‘นอมินี’ ใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชั่น ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

ถัดไปวันพุธที่ 24 ม.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดี ‘หุ้นสื่อ’ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำให้พ้นจากการเป็น สส.หรือไม่ และจากนั้น มีอีกหนึ่งคดีคือการยื่นแก้ไข มาตรา112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

ทั้งสามคดี จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนถี่ห่างแตกต่างกันไป โดยสองเรื่องแรก ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’ เป็นปัญหาตัวบุคคลทั้งคู่ แต่ต่างกันที่เดิมพัน หากศักดิ์สยาม มีความผิด ต้องเจอโทษแบนห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 2 ปี ส่วนพิธา ถ้าผิดก็ต้องพ้นจากการเป็น สส.แต่ไม่ถูกตัดสิทธิ์

ส่วนคดีมาตรา 112 อาจซับซ้อนกว่า กล่าวคือ ถ้าไม่ผิดก็ถือว่าจบกันไป แต่ถ้าผิดก็ต้องไปลุ้นด่านสองกันต่อ หากมีผู้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นร้องเอาผิดขอให้ยุบพรรคก้าวไกล

ถัดไปหลังวันที่ 22 ก.พ.67 จะเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากก่อนหน้านั้น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ไม่ตัดช่องน้อยอาศัยระเบียบราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ออกไปคุมขังนอกเรือนจำเสียก่อน จะเป็นช่วงที่รับโทษมาแล้ว 3 ใน 4 ซึ่งเข้าเงื่อนไข ‘ขอพักโทษ’ ได้

ทันทีที่ทักษิณ พ้นคุก ได้รับอิสรภาพกลับมาใช้ชีวิตอยู่ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า วันนั้น จะเป็นสัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมา

The_turning_point_in_Thai_politics_67_The_end_of_the_salesman_SPACEBAR_Photo02_f38c2c6302.jpg

จากนั้น ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.67 ซึ่งเป็นช่วงก่อนถึงเดือน พ.ค. จะมีความเคลื่อนไหวสำคัญอยู่ในสภาฯ ทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2-3 ในสภาผู้แทนราษฎร และการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะเกิดขึ้นก่อนปิดสมัยประชุมปีที่ 1/2 ในวันที่ 9 เม.ย.67 

อันจะเป็นบททดสอบการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของสองพรรค ‘ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์’ อีกครั้งว่ายังมีความเข้มแข็งเหลืออยู่หรือไม่ หรือจะมีภาพของความเป็นฝ่ายรอเข้าร่วมรัฐบาล ฉายออกมาเด่นชัดขึ้น  

นอกจากนั้น ปัจจัยการเมืองอื่นๆ ทั้งการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือแม้แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ก็จะถูกนำมาดึงความสนใจทางการเมืองเป็นระยะๆ บริหารอารมณ์สังคมควบคู่ไปกับการบริหารบ้านเมืองในแต่ละช่วง  

สุดท้าย หลังจากวันที่ 11 พ.ค.67 เป็นต้นไป จุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญจะเกิดขึ้นในตอนนั้น โดยทันทีที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สิ้นสุดลง อำนาจ สว.ที่เพียรพยายาม ‘ปิดสวิตช์’ กันมานาน ได้ถูก ‘ถอดปลั๊กออก’ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องมาว่ากันในสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ

ถึงตรงนี้ การเมืองอาจจะไปไกลถึงขั้น ‘ล้างไพ่’ กันใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่ปรับ ‘ครม.เศรษฐา’ อย่างเดียว แม้แต่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนคนใหม่ด้วยซ้ำ?!

The_turning_point_in_Thai_politics_67_The_end_of_the_salesman_SPACEBAR_Photo01_7f3f60b167.jpg

ส่วนอีกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 67 คือ ‘วุฒิสภา’ ที่จะต้องมีการเลือกกันใหม่เมื่อครบวาระ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 ที่ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใหม่ เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง

ไม่ใช่เลือกก่อน แต่ให้เลือกหลังจากที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง จึงทำให้ สว.ชุดนี้ต้องอยู่ทำหน้าที่รักษาการต่อไปอีกราว 4 เดือน กว่าจะมี สว.ชุดใหม่มารับไม้ต่อ

แต่จุดเปลี่ยนทางการเมืองปี 67 จริงๆ จะอยู่ในสองช่วงสำคัญเท่านั้น คือหลัง 22 ก.พ.67 ที่ทักษิณ พ้นโทษออกจากเรือนจำ หรือแม้จะเป็นเพียงการพักโทษก็ตาม และหลัง 11 พ.ค.67 ที่ สว.ถูกปิดสวิตช์ จากการสิ้นสุดลงของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ

ถึงวันนั้น หากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหญ่กว่าการปรับ ครม. ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 อันเท่ากับเป็นการอวสานของ ‘นายกฯ เซลส์แมนประเทศไทย’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์