‘พรรคส้ม’ หัวใจ ‘เสื้อแดง’ ฟื้นคดี 17 ปี ปรับทัพสู้ ‘ขั้วอนุรักษนิยม’

29 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:39

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปรากฎการณ์ ‘คนเสื้อแดง’ มาหวังพึ่ง ‘คนเสื้อส้ม’ ในยุคที่ ‘เพื่อไทย’ เสียศรัทธา ในการต่อสู้ทางการเมือง มาตัวเลือกใหม่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล’ ขึ้นมา ในบริบทการเมืองยุคหลัง คสช.

  • เปิด 8 ข้อเสนอ คปช. 53 ที่แปรสภาพมาจาก ‘คนเสื้อแดง - นปช.’ ที่อ่อนแรงลง กับ ‘ความหวัง’ ของ ‘คนเสื้อแดง’ ที่กลายสภาพเป็น ‘คนเสื้อส้ม’ แทน เพื่อสานเจตนารมณ์ต่อสู้ ‘การเมืองเชิงโครงสร้าง’ ต่อสู้เพื่อ ‘ฟื้นคดีที่ถูกแช่แข็ง’

  • ผลพวง 2 ‘จุดตัด-แตกหักการเมือง’ จากจุดยืน มาตรา 112 มาถึงการตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ แลกกับ ‘ทักษิณ’ ได้กลับไทย ความหวังต่อ ‘เพื่อไทย’ ลดลง เพราะอยู่ใต้อุ้งมือ ‘ขั้วอนุรักษนิยม’

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว ‘คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553’  หรือกลุ่ม นปช.เดิม ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรื่อง ‘การทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง 2553’ ต่อพรรคการเมืองทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยมี ‘ธิดา ถาวรเศรษฐ’ และ ‘เหวง โตจิราการ’ ญาติวีรชน ร่วมเป็นสักขีพยาน โคยกลุ่ม คปช. ได้เดินสายไปยื่น 8 ข้อเรียกร้องกับ ‘พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล’ ซึ่งเป็น ‘ข้อเสนอ’ ที่ ‘ธิดา’ เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2566 ในการรำลึกเหตุการณ์ที่แยกราชประสงค์

ถือเป็นปรากฏการณ์ ‘คนเสื้อแดง’ ที่สำคัญ หลังการต่อสู้ยาวนาน 17 ปี นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 2549’ ที่ถึงช่วงที่ นปช. แตกเป็น 2 สายหลักๆ ที่ยังเชื่อมกับ ‘เพื่อไทย’ และแยกตัวจาก ‘เพื่อไทย-ทักษิณ’ หลายคนก็เดินสายมาทาง ‘คนเสื้อส้ม’ แทน

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo00.jpg

ล่าสุด นพ.เหวง โตจิราการ และคณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) พร้อมญาติผู้สูญเสีย ยื่นหนังสือถึง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงคืนสัญญารื้อฟื้นคดีที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ปี 2553 พ่วงถึงเหตุการณ์ ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ ปี 2563

ข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ในบางข้อก็เป็นเรื่องที่ เคยมีการพูดถึงตั้งยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ แต่ไม่เกิดขึ้นจริง ถือเป็นสิ่งที่ค้างคาใจ ‘คนเสื้อแดง’ เป็น ‘สาเหตุ’ ในการมาเป็น ‘คนเสื้อส้ม’ ด้วย

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo01.jpg

เปิด 8 ข้อเสนอ คปช. 53

1.ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ที่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่าย, ตัวแทนตัวแทนผู้สูญเสีย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย เพื่อตรวจสอบคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหลักนิติรัฐนิติธรรม 

รวมทั้งคดีความที่ถูกปฏิบัติต่อเยาวชน-ประชาชนปี 2563 ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ลงนามหลักสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงเร่งรัดคดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนและยังค้างคาอยู่ที่หน่วยงานต่างๆ

2.แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชนให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

3.ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด

4.ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง

5.แก้ไขกฎหมายอื่นอันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

6.ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง

7.กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ เจ้าขุน มูลนาย และการคอร์รัปชั่นส่งนายใหญ่ตามลำดับให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

8.ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตาสส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo02.jpg

ท่าที คปช. กับ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’

นพ.เหวง ระบุว่า เราสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีความของผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเรียกร้องทวงความยุติธรรมของประชาชน เพื่อการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อเรียกร้องของเราในกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 เป็นข้อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศที่เราลงนามไปแล้ว เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่มีการฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางถนนครั้งแล้วครั้งเล่าอีกต่อไป

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo03.jpg

ท่าทีอดีต ‘คนเสื้อแดง’ สู่หัวหน้า ‘พรรคเสื้อส้ม’

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะฝ่ายค้านเราพยายามที่จะค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่เป็นระยะ เพื่อที่จะติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ทั้งหมด ที่ค้างอยู่ในสารบบ ซึ่งยังไม่มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่มีการยื่นสั่งฟ้องไปแล้ว

แต่ก็ยังถูกตีตกด้วยสาเหตุ ในแง่เทคนิคทางกฎหมาย อย่างน้อยทั้ง 62 ศพ ที่ยังไม่มีการไต่สวนการเสียชีวิตจนถึงวันนี้ ก็มีการติดตามอยู่เป็นระยะเพื่อที่จะมีการผลักดันให้คดีความเหล่านี้มีความคืบหน้าก็เป็นเรื่องที่เราติดตามอยู่ จึงขอแจ้งให้ญาติวีรชนได้รับทราบ

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo04.jpg

ชัยธวัช กล่าวอีกว่า จะมีการรับข้อเสนอเพื่อผลักดันให้มีคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งน่าจะมีหลายช่องทาง หากจะให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีอำนาจทางกฎหมายพอสมควร ซึ่งตนก็อยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้พูดคุยกันเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว

แต่มีการค้นหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดคือการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยตนเองใช้ช่องทางนี้ในการผลักดันด้วย ขณะเดียวกัน กมธ.ของสภาฯ ก็น่าจะทำได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการเรียกพยานหลักฐานและบุคคล รวมถึงจะมีการหารือกันกับ กมธ.การกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะมีฝ่ายรัฐบาลเป็นประธาน กมธ. แต่ก็คิดว่าจะสามารถพูดคุยกันได้

ชัยธวัช กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้พรรคก้าวไกล ยังได้มีการพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาทบทวนกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo05.jpg

หัวใจ ‘เสื้อแดง’ แต่เป็น ‘หัวหน้าพรรคเสื้อส้ม’

สำหรับ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ พบกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ในฐานะรุ่นน้อง ตั้งแต่สมัยเรียน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อเข้ารั้ว ‘จุฬาฯ’ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำ ‘กิจกรรมการเมือง’ มากขึ้น โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงทำให้ ‘ชัยธวัช’ ได้พบกับ ‘ธนาธร’ อีกครั้ง ซึ่ง ‘ธนาธร’ เรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ (SIIT) ม.ธรรมศาสตร์ 

ซึ่งทั้ง ‘ธนาธร-ชัยธวัช’ เคยร่วมชุมนุมกับ ‘คนเสื้อแดง-นปช’ ในเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วงเหตุการณ์ปี 2553 ด้วย ชื่อของ ‘ธนาธร’ ในขณะนั้นถูกพูดถึงในมุม ‘ซีอีโอบริษัท’ ที่แหวกขนบ กล้าพูดเรื่องการเมือง ส่วน ‘ชัยธวัช’ ในขณะนั้นเป็น ‘บรรณาธิการ’ สำหนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo06 (1).jpg

3 บุรุษ จุดกำเนิด 'พรรคอนาคตใหม่'

ต่อมาช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ทั้ง ‘ธนาธร-ชัยธวัช’ รวมทั้ง ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ มีแนวคิดการตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ขึ้นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่ต้องการเป็น ‘ทางเลือกใหม่’ ให้กับสังคม นอกเหนือจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่เป็นพรรคซีก ‘หัวก้าวหน้า-เสรีนิยม’ ในยุคนั้น ต่อสู้กับ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่เป็นตัวแทน ‘ขั้วอนุรักษนิยม’

ด้วยแนวคิดของ ‘สามบุรุษ’ ที่ก่อตั้งพรรคอนาคนใหม่ คนละแนวทางกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ในช่วงเวลานั้น ‘พรรคเพื่อไทย’ ถูกตีตราว่า “สู้ไป กราบไป” จึงนำมาสู่การตั้ง ‘พรรคอนาคตใหม่’ นั่นเอง

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo07 (1).jpg

คสช. สลาย ‘เสื้อแดง’ กำเนิด ‘เสื้อส้ม’

ด้วยบริบทการเมืองยุคหลัง คสช. เปลี่ยนไปอย่างมาก เกิด ‘พรรคทหาร-สืบทอดอำนาจ’ อย่าง ‘พลังประชารัฐ’ ขึ้นมา รวมทั้ง ‘คนเสื้อแดง’ ที่อกหักหรือผิดหวังกับ ‘เพื่อไทย’ กลับมีทางเลือกใหม่อย่าง ‘พรรคอนาคตใหม่’ ขึ้นมา ก็ทำให้หันมาเลือก ‘พรรคอนาคตใหม่’ ชนิดที่สะเทือน ‘โครงสร้างการเมือง-สังคมจารีต’ อันนำมาสู่การถูก ‘ยุบพรรค’ 

ช่วงที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เปลี่ยนมาเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่ ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ ถูกปลุกขึ้นมาและจุดติดในทางการเมือง มีความพยายามผสาน ‘คนเสื้อแดง’ ที่เป็น ‘คนรุ่นผู้ใหญ่’ เข้ากับ ‘คนเสื้อส้ม’ ที่เป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีวัฒนธรรมการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่มี ‘เป้าหมาย’ เหมือนกันคือการต่อต้านการทำรัฐประหาร มีแนวคิดประชาธิปไตย

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo08.jpg

จุดตัด-แตกหัก 'คนเสื้อแดง-เพื่อไทย'

แต่กลับ ‘จุดตัด’ ทางการเมือง มาเกิดที่เรื่องจุดยืน มาตรา 112 ที่ ‘ขั้วก้าวไกล’ มีความชัดเจนในเรื่องนี้ในการ ‘แก้ไข’ รวมทั้งข้อเสนอใน ‘ม็อบคนรุ่นใหม่’ ที่เรียกว่า ‘ทะลุเพดาน’ ทำให้ ‘ขั้วเพื่อไทย’ ต้องถอยหลังและกลับไปตั้งหลักใหม่ มาพร้อมช่วงที่ ‘กลุ่ม นปช.’ ระดับแกนนำแตกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง ‘สายเพื่อไทย’ กับ ‘สายอิสระ’ ทำให้พลังของ ‘คนเสื้อแดง’ อ่อนแรง ทำให้พลังถูก ‘ถ่ายโอน’ ไปทาง ‘คนเสื้อส้ม’ มากขึ้น ในฐานะ ‘ที่พึ่ง’ แห่งใหม่

มาถึง ‘จุดแตก’ หักสำคัญ คือ เหตุการณ์การตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ระหว่าง ‘เพื่อไทย-ขั้วอนุรักษนิยม’ เพื่อแลกกับการนำ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไทย ทำให้ ‘คนเสื้อแดง’ ที่เป็น ‘เลือดนักสู้ทางการเมือง’ ไปสวมเสื้อส้มแทน เว้นแต่ ‘คนเสื้อแดง’ ที่ศรัทธาใน ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ก็ยังคงเป็นมวลชนเดิมต่อไป

UDD-Group-Move-Forward-Party-SPACEBAR-Photo09.jpg

ดังนั้นปรากฏการณ์ของกลุ่ม คปช. ที่นำโดย ‘ธิดา - เหวง โตจิราการ’ น่าสนใจอย่างยิ่งในการทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับ ‘คนเสื้อแดง’ อีกครั้ง และการต่อสู้ ‘การเมืองเชิงโครงสร้าง’ เป็นผลพวงการตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ที่มี ‘พรรคการเมือง’ ที่มี ‘บุคคล’ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2552-53 อยู่ด้วยนั้น อาจทำให้ ‘ความยุติธรรม’ ไม่มาถึง ‘คนเสื้อแดง’ และการจับมือกับ ‘ขั้วอนุรักษนิยม’ อาจทำให้การต่อสู้ ‘การเมืองเชิงโครงสร้าง’ ไม่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้นจึงต้องจับตาบทบาท ‘พรรคก้าวไกล’ ในฐานะ ‘แกนนำคนเสื้อส้ม’ จะทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับ ‘คนเสื้อแดง’ ได้อย่างไร? และการสานเจตนารมณ์ ‘การเมืองเชิงโครงสร้าง’ เพราะ ‘คนเสื้อส้ม’ ที่เป็น สส.ก้าวไกล ก็เคยเป็น ‘คนเสื้อแดง’ มาทั้งนั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์