ไม่ควรนานกว่านี้! บี้ ‘แพทยสภา’ เร่งสรุปปมรักษา ‘ทักษิณ’

23 เม.ย. 2568 - 09:43

  • ‘คปท.-กองทัพธรรม’ ตามบี้ ‘แพทยสภา’

  • เร่งสรุปปมรักษา ‘ทักษิณ’ อ้างป่วยวิกฤต แนะหยุดยื้อเวลาช่วยเหลือกัน

  • ชี้ผลที่ออกมา หากอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อสังคมรับได้-ขออย่าตัดตอน

Urge-the-TMC-to-conclude-the-issue-of-treating-Thaksin-SPACEBAR-Hero.jpg

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และเครือข่ายกองทัพธรรม นำโดย พิชิต ไชยมงคล ยื่นหนังสือถึงแพทยสภา เรียกร้องอย่าให้มีการทุจริตต่อจริยธรรมทางการแพทย์ กรณีการรักษา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปตามหลักการแพทย์หรือเอื้อประโยชน์หรือไม่

พิชิต ระบุว่า ต้องการเรียกร้องให้แพทยสภา รีบทำการสรุปข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษา ทักษิณ

การสรุปเรื่องนี้ คิดว่าไม่ควรเนิ่นนานกว่านี้ เพราะการป่วยหรือไม่ป่วย หรืออาการวิกฤติหรือไม่วิกฤตินั้น สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว จึงขอให้แพทยสภารีบสรุป และยืนอยู่บนหลักการจริยธรรมจรรยาบรรณแพทย์

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ได้ทำหนังสือเชิญ ทักษิณ มาให้ข้อมูลด้วย เพราะถือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ส่วนจะมาให้ข้อมูลหรือไม่ ก็ถือว่าได้ทำหนังสือเชิญไปแล้ว

แต่หากไม่ได้เชิญมาให้ข้อมูล อาจจะเป็นช่องว่างที่ทำให้หยิบยกมาฟ้องศาลปกครองได้ว่า การสืบสวนสอบสวนไม่รอบด้าน ไม่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง ในอดีตเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งศาลตีความว่าการสืบสวนสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิชิต ยังตั้งข้อสงสัยว่า การที่แพทยสภาเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปจากวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา อ้างว่ามีเอกสารจาก รพ.ตำรวจ และ รพ.ราชทัณฑ์ มาเพิ่มนั้นเป็นการช่วยกันถ่วงเวลาให้เนิ่นนานหรือไม่? เพราะข้อเท็จจริงทางการแพทย์เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป่วย 4 โรคที่กล่าวอ้างนั้น มีหลักฐานทางการแพทย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่พิสูจน์ทราบได้อยู่แล้ว การถ่วงเวลา 180 วันกว่าจะส่งนั้นเป็นการตีความกฎหมายคนละมุม คิดว่าแพทยสภามีอำนาจในการเร่งเรื่องนี้ได้

ส่วนเมื่อถามว่า หากผลการสืบสวนสอบสวนของแพทยสภาออกมาแล้ว ทาง คปท. และเครือข่ายยอมรับทั้งหมดหรือไม่? พิชิต กล่าวว่า ส่วนหนึ่งอยู่ที่ชุดคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏค่อนข้างชัดเจนทางสังคมอยู่แล้ว บนข้อห่วงใยของเราคือ ป่วยวิกฤตจริงหรือไม่? มีการตรวจสอบแล้วที่ รพ.ราชทัณฑ์ จริงหรือไม่? ตรงนี้ต้องมีคำอธิบายทางการแพทย์ที่ชัดเจน

ตลอด 180 วัน มีพฤติกรรมที่ขัดกับหลักของผู้ป่วยวิกฤต เช่น ไปเอ็มอาร์ไอ มีการเจาะไหล่ ซึ่งแพทย์จากที่อื่นๆ ก็ยังมองออกว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยระดับวิกฤติ ดังนั้น แพทยสภาต้องมีคำอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดว่า แพทย์ที่ทำการรักษานั้นมีการรักษาอย่างไรบ้าง

และกรณีมีการพักโทษเป็นกรณีพิเศษหลังการรักษาแล้ว บอกว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีคำอธิบายทางการแพทย์ให้ชัดเจนเหมือนกัน เพราะการป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น ไม่ได้วัดกันแค่วันเดียว แต่ต้องดูพฤติกรรมก่อนหน้าสะสมมาตั้งแต่ต้น ว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาเนิ่นนาน แต่ลักษณะของ ทักษิณ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่บุคคลที่ป่วยวิกฤตจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ถ้ามีคำอธิบายที่ชัดเจน เป็นวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าสังคมรับได้ เพียงแต่ว่าอย่าตัดตอนคำอธิบายว่าเป็นแค่การทำตามขั้นตอน การอธิบายเช่นนี้ แต่ขั้นตอนทางการแพทย์ที่มีการเลือกปฏิบัติก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยในวิชาชีพแพทย์ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์