ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี โรเบิร์ต โกเด็ก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าพบ เมื่อ 16 ต.ค.67 ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง รวมทั้งพูดคุยในประเด็นเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เกี่ยวกับปัญหาข้อจำกัด และศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการพูดคุยกัน โดยทางสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะช่วยเหลือไทยในการดำเนินการ ต่างๆและทางเราก็ได้ขอบคุณในความเอื้อเฟื้อไปแล้วทั้งนี้สิ่งที่สำคัญของทางฝ่ายไทยคืออยู่ที่เงื่อนไขข้อจำกัด
พร้อมกันนี้ได้กำชับไปยังกองทัพให้ดูว่า มีสิ่งใดที่เป็นความร่วมมือกับทางสหรัฐฯ และเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอีกบ้าง เพราะไม่ได้มีความร่วมมือด้านอาวุธเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆอีกมาก
นอกจากนั้นยังมีการคุยกับ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเรื่องการแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงปัญหายาเสพติด ในพื้นที่บริเวณตามแนวชายแดน โดยได้มอบหมายว่าให้เพิ่มประสิทธิภาพและพื้นที่ในการทำงานให้เข้มแข็ง และขยายวงให้มากขึ้น
สำหรับเรื่องภัยจากไซเบอร์ได้คุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกท่านว่า เป็นภัยคุกคามที่สำคัญและรุนแรง โดยเห็นด้วยในการสนับสนุนศักยภาพให้กับ กองบัญชาการไซเบอร์ทหารที่ทางกองทัพไทยตั้งขึ้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบคลาวด์ ระบบข้อมูลต่างๆ รวมถึงระบบการใช้
ซึ่งวันที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยได้มี การพูดไว้ว่าถ้าเรายังเคยมีจุดสัมพันธ์ในการที่เชื่อมโยงกัน สนับสนุนกันกับกองทัพของสหรัฐอเมริกามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มเติมประสบการณ์ให้กับเราเพราะเราพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์จากทุกส่วนเพื่อใช้ตรงนี้ในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ระบุถึงกรณีที่ทาง บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนผ่านระบบซูมเกี่ยวกับข้อเสนอขายเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16โดยเฉพาะ Offset Policy ทางเศรษฐกิจ มูลค่า 56,000 ล้านบาท และสมรรถนะเครื่องบินรบ ยุคที่ 4 ว่า น่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูล ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทางโครงการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนฝูงใหม่ของกองทัพอากาศที่ได้ข้อยุติไปแล้ว และในอนาคตก็ยังมีความร่วมมือกันในหลายส่วน ซึ่งกองทัพอากาศก็ยังมีแผนจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ในฝูงถัดไปอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสหรัฐฯ ได้มีการพูดกับฝ่ายไทย ในการสนับสนับสนุนไทยการจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 บล็อค 70 โดยได้เสนอโปรแกรม Foreign Military Financing (FMF) ซึ่งเป็นการมอบเงินช่วยเหลือและเงินกู้แก่ในรัฐบาลประเทศพันธมิตร เพื่อใช้ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และการฝึกอบรมของสหรัฐฯ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ แต่มีความจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ซึ่งสหรัฐฯ เสนอคิดดอกเบี้ยอยู่ 3.9% ในระยะเวลา 10 ปี
ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้ย้ำว่าโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ ผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการของ ทอ. มาแล้ว ซึ่งได้เลือกเครื่องบินขับไล่ ยาส-39 กริพเพน อีเอฟ จากสวีเดน แต่ไทยยังมีโครงการจัดหาอากาศอื่นๆ เช่น เครื่องบินโดยสารภารกิจ VIP เป็นต้น อีกทั้งช่วงปี 2577-80 จะอยู่ขั้นตอนการเตรียมปลดประจำการเครื่องบิน เอฟ-16 กองบิน 4 ซึ่งไทยก็พร้อมดูข้อเสนอ ไม่มีปิดกั้นใดๆ