ความเป็น 'ก้าวไกล' ไม่มีใคร 'เซาะกร่อนบ่อนทำลาย' ได้

1 ก.พ. 2567 - 10:22

  • วิเคราะห์ความเป็นไปของ 'ก้าวไกล' หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กรณีหาเสียงด้วย 'นโยบายแก้ไข ม.112' กับ 'โอฬาร ถิ่นบางเตียว' และ 'นันทนา นันทวโรภาส'

Visual-scene-analysis- move-forward-party-SPACEBAR-Hero.jpg

ทิศทางของพรรคก้าวไกลวันนี้ ดูไม่สู้ดีนัก หลัง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ อ่านคำวินิจฉัย และตีความว่า กรณีที่ ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกสร’ ยื่นร้องตรวจสอบ ปมนโยบาย ‘แก้ไข ม. 112’ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เข้าข่ายว่า ‘ล้มล้างการปกครอง’ พร้อมสั่งให้พรรคส้มยุติการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว 

ทำให้ฉากทัศน์วันข้างหน้า ดูมีอุปสรรคและขวากหนามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา นโยบายดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็น ‘เขี้ยวเล็บ’ อีกหนึ่งอย่าง ที่สร้างความแตกต่าง - เพิ่มพลังให้กับพรรคก้าวไกล ตามยุทธศาสตร์หลัก อย่างการ ‘แก้ไขเชิงโครงสร้าง’ รวมไปถึงสถานะการดำรงอยู่ของพรรคคนรุ่นใหม่ ในสนามการเมืองต่อจากนี้  

เพราะให้หลังมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังทราบความว่าศาลท่านวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นไร ‘นักร้อง’ (เรียน) หน้าเก่าก็ทยอยตบเท้าเข้าทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้น อาทิ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ยุบพรรคก้าวไกล ขณะที่ ‘อดีตทนายความพุทธะอิสระ’ สารตั้งต้นแห่งคดีล้มล้างการปกครอง ก็เตรียมยื่น ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส. 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 ด้วย  

2 อุปสรรคใหม่ จึงกลายเป็นความท้าทายอีกระลอก ที่พรรคส้มต้องฝ่าฝันฟัน ด้วยการปรับกลยุทธ์ วางแผนการรบอย่างรัดกุม เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝันของสังคมให้ได้

01.jpeg

“อันดับแรกต้องปรับภาษาที่สื่อสารกับสังคม ไม่ใช่สมาชิกอีกคนบอกยกเลิก อีกคนบอกจะแก้ไข แล้วมุ่งเน้นไปที่การผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติ พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับด้อมส้ม ว่าควรจะมีวิธีการแบบไหนในการขับเคลื่อน เพื่อให้การทำงานกับภาคประชาชนนำไปสู่กลไกการผลักดันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดใหม่ที่พรรคต้องเผชิญ มันช้านะ มันช้าด้วยตัวมันเอง เพราะมันต้องสร้างการเรียนรู้ อดทนอดกลั้น”

เป็นความเห็นของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มองว่า ต่อจากนี้พรรคก้าวไกล จะปล่อยให้องคาพยพที่เป็นกลุ่มเชียร์เคลื่อนไหวแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องปรับวิธีการ โดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชน ให้ขับเคลื่อนผ่านหลักการ และแนวทางที่ยึดหลักการศึกษาเรียนรู้ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรนำเสนอความคิดสุดโต่ง แต่ควรดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม แต่ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า เมื่อคำวินิจฉัยของ ศาล รธน. ออกมาทิศทางนี้ ย่อมทำให้สังคมเกิดแรงกระเพื่อม เพราะคิดว่า ม.112 จะไม่สามารถแก้ไขได้ (อีกแล้ว) ซึ่งจริงๆ สามารถทำได้ตามกลไกสภาฯ  

ดังนั้นพรรคต้องสื่อสร้างทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดอุณหภูมิแล้วเดินควบคู่กันไปกับ สส. อย่างที่ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ แกนนำคณะก้าวหน้า ได้กล่าวไว้ ว่าให้เรียนรู้และทำความเข้าใจเชิงวิชาการก่อน พร้อมๆ กับการดูลำดับภาวะของปัญหา ก่อนจะเข้าสู่การผลักดันเชิงนโยบายต่อไป

ดร.โอฬาร.jpg
Photo: ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ในส่วนปัญหาที่พรรคก้าวไกลอาจต้องพบเจอต่อจากนี้ โอฬารเชื่อว่า ฝั่งอนุรักษ์นิยมคง ‘ไม่กล้ายุบพรรค’ เพราะกังวลต่อโมเมนตัมทางการเมือง ที่จะมีผลต่อฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่สิ่งที่โอฬารแสดงความกังวลมากกว่า คือการเอาผิดกับ สส. ทั้ง 44 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมาย และช่วยประกันตัวผู้ต้องโทษ ม.112 เพราะหากวันหนึ่งต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้แทนฯ ตลอดชีวิต ย่อมทำให้มิติการเมืองของพรรคถดถอยลง เนื่องจากคนเหล่านี้เปรียบดั่ง ‘ตัวตึง’ มีบทบาทในการผลักดันประเด็นการเมืองและสังคมเป็นที่ประจักษ์ และไม่ใช่เรื่องง่ายแบบเร็ววัน ในการสร้างบุคลากรทางการเมืองที่มีศักยภาพแบบนี้  

“ยากครับมันต้องใช้เวลาและการสั่งสมประสบการณ์ และยิ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยม เขาคงไม่ตัดสินให้ยุบพรรคด้วย เพราะจะใช้โอกาสในการยืดเวลาแล้วดำเนินคดีแทนเป็นรายคน ค่อยๆ บ่อนเซาะทำลายไปเรื่อยๆ เพราะเขารู้ว่ายุบไปแล้วตั้งพรรคใหม่จะมีแรงเหวี่ยงสูง อาจจะชนะการเลือกตั้ง และคุมเกมของชนชั้นนำได้ในที่สุด”

เมื่อถามว่า อะไรคือแนวทางสร้างสมดุลของกระบวนการประชาธิปไตย และจุดยืนของวัฒนธรรมจารีต โอฬาร อธิบายว่า ทุกอย่างจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดันสอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ซึ่งเป็นการกัดกร่อนความนิยมให้ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เพราะกลไกดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องตามคำพูดที่บอกว่า ‘สิ่งเก่ากำลังจะตาย แต่ยังไม่ตาย สิ่งใหม่กำลังจะเกิด แต่ยังไม่เกิด’

แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับรูปแบบการขับเคลื่อนของมวลชนฝ่ายซ้ายด้วย อย่างที่โอฬารได้กล่าวไว้ในข้างต้น ในการติดอาวุธในความรู้ให้กับกลุ่มมวลชน

“ผมพูดแบบนี้ก็โดนวิจารณ์มาตลอดว่า ม็อบไม่ควรถูกครอบงำ ถูกต้องครับมวลชนคือเสรีชน แต่บนหนทางการต่อสู้ มันต้องมีอาวุธทางปัญญาในการสู้ด้วย ไม่ใช่ใครมาด่าพิธา มาด่าก้าวไกล ก็พร้อมจะปะทะแบบเอามัน มันจึงเป็นความท้าทายของตัวพรรคการเมือง เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะยกระดับมวลชนให้เป็น พลเมือง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความคิด ที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยไม่มีอารมณ์ความโกรธมาเจือปน” 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองต่างมุมว่า อันที่จริงนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่เป็นเพียง 1 ใน 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภาพใหญ่ ซึ่งการที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง ล้วนมีองค์ประกอบจากความนิยมต่อนโยบายต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่วนแนวทางที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ก็แสดงความชัดเจนมาตลอด ว่าการออกมาผลักดันเรื่องดังกล่าวมาจากเจตนารมณ์ ไม่ต้องการให้ใคร นำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม 

ในส่วนคำสั่งศาลรธน. ก็ไม่ได้ห้ามการแก้ไข แต่ต้องปฏิบัติโดยวิธีการที่เป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งส่วนที่บอกว่า ‘โดยชอบ’ ศาลก็ไม่ได้บอกว่าลักษณะไหน ซึ่งนันทนา มองว่า เท่าที่เห็นท่าทีของพรรคก้าวไกล ก็เสนอผ่านแก้กฎหมายด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ มีการทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ทราบผ่านนโยบายหาเสียง ก่อนจะยื่นเข้าสู่สภาฯ  ตามกรอบที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น

“ดิฉันจึงไม่แน่ใจว่า การที่ศาลระบุว่า ต้องเป็นการกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบคืออย่างไร เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำ ก็เป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก.jpg
Photo: ‘รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส’ คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลและประชาชนต้องปรับตัวอย่างไรบ้าน กรณีพูดถึงเรื่อง ม.112 นันทนา มองว่า การนำเสนอของพรรคก้าวไกลเป็นไปตามหลักที่ถูกต้อง มีการระบุถึงมารายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจน ตามหลักการแก้ไขประมวลกฎหมายทั่วไป ไม่ได้มุ่งนำเสนอ เพื่อปลุกระดมประชาชนหรือเร้าอารมณ์ให้คนเข้าร่วมอยู่แล้วมาแต่ต้น  

แต่ในส่วนของมวลชนที่มีการชุมนุมบนท้องถนน ย่อมมีการใช้อารมณ์ เพื่อให้ทุกคนมีอารมณ์ร่วมกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล เพราะบทบาทอยู่คนละสถานะ ดังนั้นแนวคิดที่บอกว่าต้องละมุมละม่อมมากขึ้น ส่วนตัวจึงไม่ทราบว่าต้องปรับอย่างไร เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอสู่สาธารณะก็เป็นไปตามหลักที่ถูกต้องอยู่แล้ว 

การจะไปห้ามมวลชนที่สนับสนุนหรือเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะภาคประชาชนก็ใช้บทบาทของตนเองในแสดงออกภายใต้สิทธิและเสรีภาพอันพึงมีอยู่แล้ว จึงไม่ได้มองว่า พรรคก้าวไกลผิดพลาดในเรื่องการสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับแต่อย่างใด  

นันทนา กล่าวต่อว่า การที่มีประชาชนส่วนหนึ่ง มีความเห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมาย และเสนอความคิดเห็นให้กับทาง สส. (พรรคก้าวไกล) เพื่อขับเคลื่อนผ่านกลไกที่ถูกต้อง ส่วนตัวเชื่อว่าสามารถทำได้ไม่ผิด แต่ตอนนี้โมเม้นตัมเปลี่ยนไป หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการเช่นนี้ จึงคิดว่าประชาชนคงต้องมีปฏิกิริยาและดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะตัวแทนของเขาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จากข้อจำกัดข้างต้น 

ส่วนสถานการณ์ภายภาคหน้าพรรคจะถูกยุบ - สส.จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่ นักสื่อสารการเมืองมองว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้วสำหรับประชาชนในวันนี้

“ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคการเมืองแล้วนะคะ แต่เป็นอุดมการณ์และจิตวิญญาณของประชาธิปไตย ฉะนั้นไม่ว่าจะยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ สส. ตลอดชีวิตก็ไม่อาจจยุติความเป็นประชาธิปไตยที่เบ่งบานในสังคมได้ ตรงกันข้างจะส่งเสริมให้ผู้คนได้รู้สึกว่า กลุ่มคนที่มารวมกันภายใต้อุดมการณ์เหล่านี้ คือความหวังของเขา และจะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า นำไปสู่ความชัดเจน เรื่องความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง  ”

นันทนา นันทวโรภาส กล่าวทิ้งท้าย

3 (1).JPG

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์