เป็นที่จับตากันมาสักพักใหญ่ว่า ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ จะตัดสินใจซักฟอก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ หรือไม่? ในที่สุด ‘พวกเขา’ ก็ได้ฤกษ์เคาะมติร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยบรรดาแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านฯ ทั้ง พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม พร้อมประกาศลั่น! เตรียมขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาล โดยยื่นญัตติในวันพุธที่ 13 มี.ค.นี้

การตัดสินใจขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในครั้งนี้ ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ได้ทำการบ้านกันมาแล้ว พร้อมเห็นตรงกันว่า “หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำตาม ‘คำมั่นสัญญา’ ที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ ‘รีดนาทาเร้นประชาชน’ หลักนิติธรรมถูกทำลาย โดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ”

‘พรรคประชาธิปัตย์’ ยังจับมือกับ ‘พรรคก้าวไกล’ หรือไม่?
ส่วนข้อสงสัยว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ยังร่วมงานหวานชื่นกับ ‘พรรคก้าวไกล’ หรือไม่ วันนี้ก็ได้รับคำตอบแล้วเช่นกัน หลัง ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า “พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเดินหน้าร่วมอภิปรายฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ร่วมกับพรรคก้าวไกล” อีกทั้ง แกนนำฝ่ายค้านในสภาฯ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้เตรียมเนื้อหาในการอภิปรายครั้งนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมย้ำชัดๆว่า “สส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 25 คน พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการอภิปรายรัฐบาลครั้งนี้”

ประเด็นที่เตรียมอภิปรายในหัวข้อ ‘การเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม’ เกี่ยวกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือไม่?
‘ชัยชนะ’ ยอมรับว่า ใช่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ว่าเรื่องของ ‘ทักษิณ’ หรือเรื่องอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม ที่ดูแล้วว่า ไม่มีความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ก็จะตรวจสอบทั้งหมด ส่วนพรรคใดจะรับเป็นเจ้าภาพในการอภิปรายเรื่องนี้ ‘ชัยชนะ’ ยืนยันว่า ต้องรวมพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ทำหน้าที่ด้วยกัน เพราะการอภิปรายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว
“วันนี้การเมืองต้องทำรูปแบบใหม่ อย่าเล่นการเมืองเพื่อสร้างวาทกรรม แต่ต้องนำข้อเท็จจริงมาพูดให้เห็นภาพ และวิจารณ์ให้สังคมได้รับรู้ว่ากว่า 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไว้บ้าง” ชัยชนะ กล่าว

‘ฝ่ายค้าน’ เตรียมอภิปรายรัฐบาลช่วงไหน?
‘ฝ่ายค้าน’ คาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน ในการอภิปราย ซึ่งเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงหลังการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2-3 แล้วเสร็จ คือ หลังจากวันที่ 27-28 มี.ค.นี้ ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายฯตามมาตรา 152 คือ ช่วงวันที่ ‘3-5เม.ย.67’ ก่อนที่สภาฯ จะปิดสมัยประชุมนั่นเอง