กรณีการทำคำของบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารและสถานที่รัฐสภา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความจำเป็นหรือไม่? โดยเฉพาะเป็นเด็นที่มีการของบฯ ที่มีจำนวนสูง
เรื่องนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า ความจริงไม่ได้เป็นการต่อเติมแต่อย่างใด เพราะอาคารรัฐสภาสร้างเสร็จและมีการตรวจรับแล้ว แต่สิ่งที่เป็นข่าวเท่าที่ผมติดตาม เป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ เช่น ห้องประชุมชั้น B2 ที่สร้างเสร็จแล้วจุได้ 1,500 คน แต่ไม่มีโต๊ะเก้าอี้ ไม่มีเวทีการประชุม ไม่มีจอ ไม่มีเครื่องเสียง รวมถึงไฟไม่สว่าง
ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนผู้บริหารสภาฯ เห็นว่าควรจะทำให้สมบูรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ก่อนหน้านี้เราทำงานมา 5-6 ปี ไม่มีใครกล้าไปทำ เพราะยังไม่มีการส่งมอบการก่อสร้างอาคารฯ เกรงว่าจะเป็นปัญหา นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมชั้น B1 ที่เป็นในลักษณะเดียวกันอีกด้วย ก็ต้องทำให้สมบูรณ์ รวมถึงศาลาแก้วที่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็อยากจะเติมให้สมบูรณ์
ขณะที่ขั้นตอนการของบประมาณ ขณะนี้เป็นการเสนอไปยังสำนักงบประมาณ และสำนักงบฯ ต้องตัดตอนไปอีกหลายอย่าง บางอย่างอาจจะไม่ได้เลยก็ได้ บางอย่างจำเป็นแต่ราคาไม่ตรงกับมาตรฐานราคา หากสำนักงบฯ เห็นว่าราคาไม่ตรงตามมาตรฐานราคา ก็ต้องตัดออก เมื่อผ่านสำนักงบฯ รัฐบาลก็จะส่งมาให้ กมธ.งบประมาณของสภาฯ พิจารณา ก็จะมีการตัดอีกรอบ
ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการตรวจสอบงบประมาณของสภาฯ ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด เพราะเราเป็นหน่วยงานของนิติบัญญัติ การที่ สส. ทุกคน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ช่วยกันตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นเรื่องที่ดี หากในขั้นตอนการใช้งบฯ เมื่อได้รับงบฯ มาแล้ว การประมูล การประกวดราคาไม่โปร่งใส ก็อยากให้ สส. ตรวจสอบ รวมถึงใช้แล้วได้ประโยชน์อย่างไร
ทางเลขาธิการสภาฯ แจ้งมายังผมแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคำของบประมาณ บางอย่างก็ไม่ได้ เช่น ที่จอดรถไม่ได้ทั้งหมด เพราะยังจำเป็นน้อย บางอย่างที่จำเป็น ก็ให้เป็นบางส่วน ผมเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ กมธ.งบประมาณฯ คงจะมีการตัดลดงบฯ อีก หาก สส.ฝ่ายค้านยังติดใจ สามารถสงวนคำแปรญัตติในชั้น กมธ. เพื่อมาอภิปรายตัดลดงบฯ ในสภาฯ ได้อีกรอบ สำหรับสภาฯ ไม่มีปัญหา อยากให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ ผมอยากเรียนว่าสภาฯ เป็นสถาบันของชาติ อยากให้เห็นว่าทำอะไรด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง สมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี เมื่อประชาชนเข้ามาจะได้เห็นว่าสภาฯ เป็นสถาบันที่สง่างาม มีศักดิ์ศรี เป็นเกียรติเป็นศรีต่อผู้ที่มาใช้ ไม่ใช่แค่ สส. แต่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้ามาใช้ได้ รวมถึงผู้นำ ทูตต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมสภาฯ เราจึงอยากให้ทำอะไรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่ทำอะไรแค่พอเสร็จ ต้องทำให้เกิดความภาคภูมิใจในสถาบันนิติบัญญัติของชาติ
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
เมื่อถามว่าเป็นการของบฯ เผื่อตัดใช่หรือไม่? ประธานสภาฯ กล่าวว่า “คำขอทุกอย่างก็มีมาตรฐาน แต่สำนักงบฯ จะดูความจำเป็นของงบฯ ก่อนใหญ่ เขาไม่ได้ให้ทุกอย่าง แต่ให้ตามความจำเป็น ส่วนราคาจะถูกจะแพง ขึ้นอยู่กับระเบียบกฎหมายว่าด้วยราคากลางที่มีกำหนดอยู่ ซึ่งทางสภาฯ ได้ถามเลขาสภาฯ ว่าราคากลางต่าง ๆ มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ ทางเลขาสภาฯ ก็บอกว่าได้ประชุมแล้ว สำนักนายกฯ ที่ดูแลการจัดซื้อ กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมก็ต้องให้กรมศิลปากรมาช่วยกำหนดด้วย”
ขอย้ำว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส เราเห็นด้วยที่ สส. หรือสื่อมวลชนจะตรวจสอบทุกอย่างของสภาฯ เพราะเราตรวจสอบคนอื่น ตัวเราก็ต้องได้รับการตรวจสอบให้โปร่งใสด้วย
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
เมื่อถามถึงกรณีศาลาแก้วที่มีการวิจารณ์ว่ายังไม่ได้ใช้งานแต่กลับของบฯ มาปรับปรุง วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “ศาลาแก้วยังไม่ได้ใช้งาน ก็ยังไม่ทราบว่าตอนที่สร้าง สร้างไว้ทำไม เพราะดูอาคารรัฐสภากับศาลาแก้วไม่รู้ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่เมื่อสร้างเสร็จและตรงนั้นก็เป็นลานสำหรับที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ส่วนศาลาแก้วอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ 2 ข้าง เมื่อมีพิธีต่าง ๆ อาจต้องใช้ศาลาแก้ว ฉะนั้น ที่มีงบฯ เข้าไปเป็นการปรับปรุงให้ใช้งานได้”
ทำแล้วไม่ได้ใช้งานกลายเป็นอนุสาวรีย์เปล่า ๆ อย่างนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์ และสภาฯ ในยุคที่ผมและเลขาธิการสภาฯ เข้ามาบริหาร เราไม่ได้เป็นคนจัดสร้าง แต่เราจะเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ใช่ใช้ประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของสภาฯ และรัฐสภา แต่จะใช้กับประชาชนด้วย
— วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ส่วนเมื่อถามว่า เลขาธิการสภาฯ ระบุว่าก่อนที่จะทำคำของบฯ ครั้งนี้ได้ผ่านประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ แล้ว แสดงว่าประธานฯ ได้เห็นชอบแล้วใช่หรือไม่? วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “ต้องผ่านตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ผอ.สำนักต่าง ๆ จนกระทั่งผู้ที่ได้รับจากประธานคือรองประธานสภาฯ แต่ทั้งหมดเป็นไปตามระบบของการบริหาร ไม่ได้หมายความว่าคนใดคนหนึ่งจะมีสิทธิ์”
“และเมื่อผ่านงบฯ แล้ว ตอนที่จะจัดงบก็ต้องมีการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ประจำเท่านั้น ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาไม่มีส่วนที่จะกำหนดได้”