ชี้ช่องรัฐบาล ใช้กฎหมายเดิมทำ ‘ประชามติ’

24 เมษายน 2567 - 05:30

Wan-Muhamad-Noor-Suggests-government-can-use-existing-laws-to-hold-a-referendum-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘ปธ.สภาฯ’ แนะรัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่ก็ทำ ‘ประชามติ’ ได้

  • ชี้แค่ถามประชาชน “เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่?”

  • เผยหากต้องการแก้ ‘กฎหมายประชามติ’ ให้ชงเข้ามาช่วงเปิดวิสามัญ เชื่อออกมาใช้สิทธิ์กันเกินครึ่ง

ยังคงมีข้อถกเถียงและความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องสำหรับประเด็นการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 หรือ ‘กฎหมายประชามติ’ แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นด้วยในหลักการให้แก้ไข

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นกฎหมายประชามติ ที่มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขบางมาตรา ว่า ขณะนี้กฎหมายประชามติมีอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำประชามติก็สามารถทำได้เลย เว้นแต่ว่ารัฐบาลเห็นว่า อยากจะแก้ไขบางมาตราก่อน ก็เสนอมาแก้ไขได้ในช่วงสมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอเข้ามาหรือไม่

แต่ความจริง กฎหมายที่มีอยู่ก็สามารถทำประชามติได้ เพราะทำแค่ถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าอยากแก้ไข ก็ลงมติว่าแก้ไข ถ้าไม่อยากแก้ไขก็ No โหวต

ผมชื่อว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งหนึ่ง เพราะหากทุกคน ทุกฝ่าย ช่วยกันรณรงค์ทั้งรัฐบาล สื่อมวลชน ประชาชน เมื่อรณรงค์แล้ว จึงไม่คิดว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง แต่หากประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่ง ก็แสดงว่าประชาชนไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น

ส่วนหากการทำประชามติครั้งแรกแล้ว ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งจะทำให้งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทสูญเปล่าหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์ มองว่า เนื่องจากกฎหมายเป็นเช่นนั้น แต่ยังมั่นใจว่า ประชาชนจะออกมาเกินครึ่งเพราะเวลาเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับไหน ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และระยะหลังมีการรณรงค์มาก ประชาชนก็ออกมาใช้สิทธิ์ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์

Wan-Muhamad-Noor-Suggests-government-can-use-existing-laws-to-hold-a-referendum-SPACEBAR-Photo01.jpg

รอรัฐบาลเคาะวันเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ถก ‘งบฯ ปี 68’ แนะเดือน มิ.ย.เหมาะสม

ส่วนในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568

ทางประธานสภาฯ ชี้แจงว่า อยู่ที่รัฐบาลจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เข้าเมื่อไหร่ ถ้ารัฐบาลต้องการเอางบฯ เข้าวาระแรก ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐบาล ก็แจ้งมายังรัฐสภาได้ เพื่อที่จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ และมองเป็นเรื่องดี เพราะมีอะไรที่ค้างเร่งด่วนก็จะได้ทำช่วงนั้น ส่วนจะเป็นวันที่ 5-6 มิ.ย. ตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นคนกำหนด เพราะช่วงเดือน พ.ค.นั้น สส.อาจมีภารกิจต่างๆ หากเป็นเดือน มิ.ย. ก็เหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาก่อนเปิดสมัยประชุม 1 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สามารถขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้

ร่างแก้ รธน.ยังนำเข้าพิจารณาไม่ได้ เหตุต้องรอทำประชามติก่อน

ส่วนในการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ นอกจากจะมีเรื่องงบประมาณฯ แล้ว ยังมีการนำเรื่องอื่นมาพิจารณาด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบว่าจะมีอะไรบ้าง เพราะเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลจะต้องไปทำประชามติ ในรอบแรกก่อน ซึ่งเห็นว่าจะเสร็จประมาณเดือน ก.ค.นี้ แต่มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างคาอยู่ ถ้ารัฐบาลอยากนำเข้าสมัยประชุมวิสามัญ สภาฯ ก็พร้อม

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากใครเสนอมา สภาฯ ก็จะรับไว้พิจารณา ส่วนจะบรรจุได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบดูว่า จะสามารถบรรจุได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะชัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งต้องรอให้ทำประชามติด้วย ส่วนที่เป็นกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการเงิน ก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีให้การรับรองก่อน

สำหรับกรณีพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ประธานสภาฯ เร่งบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคก้าวไกลสามารถเสนอมาได้ แต่จะบรรจุหรือไม่ ต้องดูอีกที เพราะรัฐบาลก็มีมติว่าจะทำประชาติก่อน

ต้องพูดอย่างต่อไปตรงมาว่า ถ้าเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาไปแล้ว หากไปมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็ทำให้เสียเวลาไปมากกว่าที่รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าจะทำประชามติ 3 รอบ อย่างน้อยรอบแรก ก็เพื่อถามประชาชนก่อนว่า จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากจะมีการแก้ไข ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้น ก็ค่อยเสนอร่างเข้ามาแก้ไขก็จะทำให้ไม่เสียเวลา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนและปลอดภัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์