ตำแหน่ง ‘ปธ.สภาฯ’ ต้องมีเกียรติ ไร้การแทรกแซง!

19 เมษายน 2567 - 04:05

wannor-19apr2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ถึงส่งสัญญาณแบบนี้ก็รับไม่ได้! ‘วันนอร์’ ยก ‘รัฐธรรมนูญ-ข้อบังคับสภาฯ’ คนละเรื่องโยง ’ปรับครม.’ ลามเปลี่ยนเก้าอี้ ‘ประธานสภาฯ’ ลั่นตำแหน่งนี้มีเกียรติ เป็นเสาหลักปชต. ทำหน้าที่เป็นกลาง ต้องไร้การแทรกแซง-ตกเป็นเครื่องมือการเมือง ย้ำไม่ติดยึดตำแหน่ง พร้อมไปหากทำไม่ได้

  • ปัดตอบปมร้อนวิจารณ์แซ่ด ‘สว.’ ถลุงงบฯทิ้งทวนดูงานตปท.

  • ชี้ เดินตามแนว ‘รัฐบาล’ ชงทำประชามติ 3รอบก่อนแก้รธน. เป็นทางปลอดภัย แม้เสียเวลา-งบประมาณ แต่ถ้า 2 รอบอาจขัดคำวินิจฉัยศาลฯ หวั่นแก้ไขไปก่อนถูกตีตก แย้มถกร่างแก้ไขฯได้ในสมัยวิสามัญได้ ระบุ หากเสนอใหม่ สาระ-สถานการณ์จะเปลี่ยน

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาให้สัมภาษณ์กรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีการเชื่อมโยงมาถึงการเปลี่ยนตำแหน่งประธานสภาฯ มีการส่งสัญญาณมาหรือไม่ว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไร แต่การปรับครม.กับตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นคนละเรื่องกัน การปรับครม.เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯต้องมีการเสนอชื่อเพื่อเลือกในที่ประชุมสภาฯ มีผู้รับรอง แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อบังคับการประชุมสภาฯ 

“ในส่วนตัวของผม ไม่เคยติดยึดกับตำแหน่งใดๆ ถ้าทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผมก็ต้องทำเต็มที่ แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่สามารถทำได้ ผมก็ไม่ติดยึด พร้อมที่จะไป แต่ผมขอเรียนว่าตำแหน่งประธานสภาฯเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่สามารถมีใครมาแทรกแซงได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดชัดเจน ประธานและรองประธานสภาฯ ต้องไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผูกพัน หรือมีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ยืนยันอีกครั้งว่าการปรับครม.เป็นเรื่องของนายกฯ แต่ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับฯ ผมไม่มีอะไรส่วนตัว แต่เกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ ผมในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องรักษาไว้” วันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่าตำแหน่งประธานสภาฯ เลือกมาจากที่ประชุมฯ จึงไม่มีเหตุใดที่จะต้องเปลี่ยนกลางคัน วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประเพณีที่เคยปฏิบัติมาไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่เครื่องมือของพรรคการเมืองใด เมื่อถามว่า ยืนยันจะทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ถ้าละเลย เท่ากับว่าไม่รักษาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบให้ไว้ ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีใครส่งสัญญาณมา ถึงส่งสัญญาณก็เป็นสัญญาณที่รับไม่ได้

“มันไม่มีเหตุใดๆที่จะต้องเปลี่ยนตำแหน่ง ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องไปเอง ผมถือว่าต้องให้ประโยชน์ประชาชนเกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ เดินไปให้ตรงแนวทาง จะมาบิดๆเบี้ยวๆเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่งผมว่าไม่ถูก ถ้าถามว่าให้ประเมินว่าผมยังทำหน้าที่ได้หรือไม่ ผมประเมินเองไม่ได้ สื่อและประชาชนจะเป็นคนประเมิน” วันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่มีใช้งบฯจำนวนมากเดินทางไปดูงานต่างประเทศ วันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่า ต้องขออภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องของวุฒิสภา ดังนั้นต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานวุฒิสภา

วันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดที่ไม่รับคำร้องที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเสียงข้างมากให้ตนเองส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้น และเป็นเพียงข้อสงสัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน และส่งไทม์ไลน์เวลาการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและรัฐสภาประกอบคำวินิจฉัย อย่างชัดเจนว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทังฉบับ รัฐสภาสามารถแก้ไขได้แต่ต้องทำประชามติก่อน

“หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะแก้ มาตรา 256  ที่มีบทกำหนด อาทิ เกี่ยวกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ หรือบางข้อต้องนำไปทำประชามติก่อน ดังนั้นต้องปฏิบัติตาม” ประธานรัฐสภา กล่าว

วันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปลอดภัย เป็นไปตามที่ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องดำเนินการ ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบ ที่จะปลอดภัย แต่เสียเวลาและงบประมาณ แต่หากทำ2รอบ อาจจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

“เมื่อชัดเจนแล้ว อย่าทำอะไรตามคิดเอง เพราะมีกรอบคำวิจิจฉัยและรัฐธรรมนูญกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญให้ไทม์ไลน์ เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญต้องทำอะไรก่อนหลัง หากทำโดยไม่ตรงกับคำวินิจฉัย จะเสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกหากมีเวลาทำให้ดีที่สุด เพราะประชาชน อยากให้แก้ไข และเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง  แต่ทำให้ถูกต้อง อาจจะไม่พอใจแต่ต้องเลือกเส้นทางที่เดินไปได้ หากไม่ทำประชามติก่อน แล้วมีคนส่งไปตีความอีกจะเสียเวลา” ประธานรัฐสภา กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องมีคนเสนอร่างแก้ไขฯเข้ามา หากเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำประชามติต้องทำประชามติก่อน แต่หากมีเนื้อหาที่ไม่ต้องทำประชามติก่อน สามารถดำเนินการได้ แต่ที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้นเป็นร่างที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งเคยตีตกแล้ว แต่จะเสนอกลับมาได้ เพราะเป็นคนละสมัยประชุม เช่น กรณีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สภาฯต้องพิจารณาว่าบรรจุได้หรือไม่

“จะบรรจุหรือไม่ ผมพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่าเป็นร่างที่เหมือนเดิม หรือร่างที่ปรับปรุง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณา ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะถามผมตอนนี้ว่า ทบทวนหรือไม่ ยังพูดไม่ได้ สถานการณ์ต้องเปลี่ยนไป” วันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์