ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่หลวงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยทุกคน แม้จะมีมาตรการของความร่วมมืองดการกระทำที่เป็นต้นเหตุของฝุ่นและมลพิษในอากาศมาตลอด แต่ก็ยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ทั้งจากรัฐบาล พรรคการเมือง และประชาชนรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่แม้ว่าชื่อของกฎหมายจะแตกต่างกันออกไป แต่เป้าหมายก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือต้องการอากาศที่สะอาดและบริสุทธิ์
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ มีอะไรบ้าง?
- ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .… โดย เครือข่ายอากาศสะอาดฯ หรือร่างฉบับประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ พรรคเพื่อไทย
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ พรรคภูมิใจไทย
- ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .… ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือ ร่างฉบับคณะรัฐมนตรี
- ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... โดย ร่มธรรม ขํานุรักษ์ และคณะ พรรคประชาธิปัตย์
- ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ พรรคพลังประชารัฐ
- ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. …. โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ พรรคก้าวไกล

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ ต่างกันอย่างไร?
แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะมีประเด็นที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่า เหตุใดร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสู่สภาฯ เพียงแค่ 4 ฉบับ แต่สุดท้ายอุปสรรคก็คลี่คลาย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพิ่มอีก 3 ฉบับแบบฉิวเฉียด วันนี้ทีมข่าว SPACEBAR จะพามาส่องไฮไลท์ ของร่างกฎหมายเหล่านี้ว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร

1. ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชน
ร่างกฎหมายที่ยื่นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดแนวทางการดูแลเรื่องฝุ่นควันด้วยการตั้งคณะกรรมการพิเศษ ได้แก่
- คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ที่กำหนดแผนแม่บทระยะกลางและระยะยาว มาจากประชาสังคมและภาครัฐ
- คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติตามแผนแม่บท
- คณะกรรมการบริหารเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด
- คณะกรรมการกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ที่มีหน้าที่บริหารเงินและควบคุมการใช้จ่ายของทุนด้วย
จุดเด่นที่สำคัญคือการตั้ง ‘องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ’ (อ.อ.ส.ส.) เพื่อกำกับ ดูแลและติดตามการจัดการอากาศสะอาด โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจูงใจลดการเกิดหมอกควัน เช่น การเพิ่มหรือลดการเก็บภาษี และมีบทลงโทษด้วยการเก็บเงินค่าปรับจากเจ้าของมลพิษ หากมีการทำผิด รวมทั้งเจ้าของแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบค่าเสียหายด้วย

2. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ พรรคเพื่อไทย
กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษได้แก่
- คณะกรรมการอากาศเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศ และพิจารณาให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- คณะกรรมการอากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการที่มีอยู่เดิมเดิมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอากาศสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
- คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีหน้าที่กำหนดประเภทและลักษณะของมลพิษ กำหนดค่าความเป็นพิษขั้นสูงขั้นต่ำ
โดยมีจุดเด่นคือ เน้นพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์ ทำรายงานประจำปี และโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบดิจิทัลของแหล่งมลพิษ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าพนักงานอากาศสะอาด ที่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของแหล่งมลพิษส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะมีบทลงโทษกรณี กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท หรือปรับอัตราก้าวหน้าร้อยละ 200 กรณีกรณีผิดซ้ำ 1 ปี

3. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ พรรคภูมิใจไทย
ร่างกฎหมายฉบับนี้คล้ายคลึงกับร่างของพรรคเพื่อไทย คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์ การทำรายงานประจำปีและโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบดิจิทัลของแหล่งมลพิษ โดยมีเจ้าพนักงานอากาศสะอาดที่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของแหล่งมลพิษส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่มีบทลงโทษ กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คือ โทษจำคุก 3-6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ สิ่งที่แตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทย คือ การตั้งคณะกรรมการพิเศษ ได้แก่
- คณะกรรมการอากาศสะอาด มีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนจัดการระบบสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการที่มีอยู่เดิมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด
- คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีหน้าที่กำหนดค่าความเป็นเป็นพิษขั้นสูงและขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล

4. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .… ของคณะรัฐมนตรี
ไฮไลท์สำคัญคล้ายกับร่างกฎหมายฉบับประชาชน คือ ใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์จงใจลดการเกิดหมอกควัน กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศนอกราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย เพียงแต่ไม่ได้มีการตั้งกองทุนขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่มีเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดที่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของแหล่งมลพิษส่งข้อมูลให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายมีความผิดทางพินัย ปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 2 ล้านบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษได้แก่
- คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศ มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานและดัชนีคุณภาพคุณภาพอากาศควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
- คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด มีหน้าที่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ
- คณะกรรมการอากาศสะอาดกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่เหมือนกับคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด

5. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... โดย ร่มธรรม ขํานุรักษ์ และคณะ พรรคประชาธิปัตย์
มีไฮไลท์สำคัญคือ จัดทำแผนแม่บทระยะกลางและระยะยาว ให้มีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือลดหมอกควันพิษและส่งเสริมอากาศเพื่อสุขภาพ โดยกำหนดโทษกรณีเจ้าของแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษนอกราชอาณาจักรแพร่กระจายหมอกควันพิษเข้ามาในราชอาณาจักร จนเกิดความเสียหาย มีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาทและปรับเป็นรายวัน อีกวันละไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษ ได้แก่
- คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ มีหน้าที่กำหนดแผนแม่บทและให้ความเห็นชอบมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนแม่บท
- คณะกรรมการร่วมด้านอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพระดับจังหวัด มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทในจังหวัดและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้กฎหมาย

6. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... โดย ตรีนุช เทียนทอง และคณะ พรรคพลังประชารัฐ
จุดเด่นคือ จัดให้มีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต พร้อมดำเนินการในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขมลพิษทางอากาศ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในระดับประชาคมอาเซียนเพื่อจัดให้มีแผนงานโครงการอากาศสะอาด มีระบบตรวจคุณภาพอากาศและฐานข้อมูล พร้อมแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาด ที่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของแหล่งมลพิษจัดเก็บข้อมูลให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษได้แก่
- คณะกรรมการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการจัดการสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศ
- คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัดบูรณาการ
- คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีหน้าที่กำหนดค่าความเป็นขั้นสูงและขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล
- คณะกรรมการด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศ มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี เรื่องการประกาศพื้นที่มลพิษทางอากาศ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

7. ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. …. โดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ และคณะ พรรคก้าวไกล
จุดเด่น คือ จัดให้มีนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต มีแผนยุทธศาสตร์ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ และแผนปฏิบัติการฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน เพื่อจัดทำระบบข้อมูลดิจิทัลของแหล่งก่อฝุ่นพิษทั้งในและนอกราชอาณาจักร
ขณะเดียวกัน ยังกำหนดว่าหากพบว่า การก่อมลพิษข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องใช้มาตรการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อจัดการการก่อมลพิษข้ามพรมแดน และคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ประชาชนโดยเร่งด่วน โดยผู้ใดที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนในการก่อให้เกิดฝุ่นพิษทั้งในและนอกราชอาณาจักรที่แพร่กระจายฝุ่นพิษเข้ามาในประเทศไทยจนเกิดความเสียหาย มีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท ปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 200,000 บาทจนกว่าจะควบคุมฝุ่นพิษได้ พร้อมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายที่เกิดจากอากาศเสียด้วย
นอกจากนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษได้แก่
- คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนเกี่ยวกับการจัดการสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศ
- คณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน มีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ กำหนดระดับการแจ้งเตือนภัย กรณีคุณภาพอากาศมีค่าเกินกว่ามาตรฐานของค่าอากาศบริสุทธิ์
- คณะกรรมการกำกับตรวจสอบฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนประจำจังหวัด มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกรอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
ลุ้น! ถกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดพร้อมกัน 7 ฉบับ
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ร่างทั้ง 7 ฉบับจะเข้าพิจารณาอย่างพร้อมเพรียงกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระแรก ซึ่งตามกระบวนการปกติของการพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะผ่านชั้นรับหลักการมาได้กี่ฉบับ สุดท้ายจะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะ และในชั้นกรรมาธิการฯ ก็จะนำส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละฉบับ มาเคาะแคะแกะเกา เพื่อให้กลายเป็นร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่สมบูรณ์แบบเพียงฉบับเดียวเท่านั้น