‘วิโรจน์’ ลั่นยื่น ‘ป.ป.ช.’ เอาผิดอาญา-จริยธรรม ‘อิ๊งค์’ แน่นอน

25 มี.ค. 2568 - 06:18

  • ‘วิโรจน์’ ตามบี้ ‘อธิบดีกรมสรรพา’ ปม ‘อิ๊งค์’ ออก ‘ตั๋ว P/N’ ส่อเลี่ยงภาษี 218 ล้าน

  • หวั่นสร้างมาตรฐานผิด คนทำธุรกิจแห่เลี่ยงกฎหมาย

  • เหน็บสงสัย ‘เงียบปาก’ เพราะเป็นลูก ‘ปลอดประสพ’ คน ‘เพื่อไทย’

  • ลั่นยื่น ‘ป.ป.ช.’ เอาผิดอาญา-จริยธรรม ‘นายกฯ’ แน่นอน

Wiroj-confirms-will-submit-case-to-NACC-to-take-action-against-Prime-Minister-SPACEBAR-Hero.jpg

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ายื่นเอาผิดกรณีการเลี่ยงภาษี 218 ล้านบาท โดยวิธีออก ‘ตั๋วสัญญาการใช้เงิน’ (Promissory Note: P/N) ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า สังคมยังรอให้นายกฯ ออกมาชี้แจง ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการซื้อหุ้นของคนในครอบครัว โดยนายกฯ ได้ยอมรับกลางสภาว่า “จริง” และยอมรับว่า “คิดที่จะจ่ายกันในปีหน้า”

และเชื่อว่าสังคมกำลังรอคำตอบจาก ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน และนายกฯ ก็ยอมรับด้วยว่าเป็นเรื่องปกติที่คนในแวดวงธุรกิจทำกัน

จึงอยากเรียกร้องว่า ใครที่ทำแบบนี้ช่วยแสดงตัวหน่อย และตอบหน่อยว่าคนที่ใช้วิธีตั๋ว P/N แบบ แพทองธาร ซื้อหุ้น ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีกำหนดวันจ่าย มีใครทำแบบนี้บ้าง? โดยผมได้สอบถามบุคคลอื่นแล้ว ไม่มีใครกล้าแสดงตัว เพราะกลัวกรมสรรพากรตรวจสอบ, จึงขอตั้งคำถามในเรื่องนี้

ปิ่นศักดิ์ อธิบดีกรมสรรพากร จะต้องมาตอบว่านายกฯ ทำแบบนี้ได้มั้ย? กำลังมีเจ้าของกิจการ เจ้าของห้างร้านอีกจำนวนมากที่กำลังจะโอนหุ้น โอนทรัพย์สินให้กับลูก เขาจะได้นำพฤติกรรมของ แพทองธาร ไปเป็นแบบอย่าง โดยไม่ต้องมีการให้เงิน แต่ให้ออกเป็นตั๋ว P/N โดยไม่ต้องกำหนดว่าจะจ่ายวันไหนและไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ และหุ้นก็เปลี่ยนมือจากพ่อไปสู่ลูก แม่ไปสู่ลูก โดยไม่ต้องชำระภาษีการรับให้, ผมยังรอคำตอบว่า อธิบดีกรมสรรพากรจะตอบเรื่องนี้อย่างไร จะมีระเบียบเกี่ยวกับการ ‘รับให้’ ออกมาให้หรือไม่? เพื่อให้การจัดเก็บภาษีการรับให้ ร้อยละ 5 มีความเสมอภาคกันทั้งประเทศ ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ, มีการตั้งข้อสังเกตว่าที่ ปิ่นสาย ไม่ออกมาชี้แจง เพราะเป็นบุตรชายของ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ แพทองธาร หรือไม่?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ออกมายืนยัน ถ้าใช้ตั๋ว P/N ในลักษณะจำแลง, การซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริง ต้องมีความผิดทางกฎหมาย และผมขอตั้งคำถามว่า ภาษีการรับให้ เจตนารมณ์ของภาษีการรับให้ เกิดมาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของ แพทองธาร เช่นนี้เหรอ? และหากผมไม่ออกมาอภิปรายเรื่องนี้ นายกฯ จะยอมรับว่าจะจ่ายเงินกลางสภาหรือไม่?

ผมยืนยันว่าเรื่องนี้มีความผิดทางอาญาแน่ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร และจะยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมสรรพากร หลังเสร็จการอภิปรายภายในสัปดาห์นี้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า นิติบุคคลใดที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ กรมสรรพากรมักจะเข้าไปตรวจสอบทันที และขอตั้งคำถามว่าในกรณีของ แพทองธาร ครั้งนี้, ทำไมถึงยังไม่เข้ามาตรวจสอบ เพราะผมมองว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งเป็นความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย

ถ้า แพทองธาร ทำได้ ภาษีการรับให้ก็คงไม่มีความหมาย จึงขอถามว่า กงสีของ แพทองธาร ขายหุ้นแบบนี้ให้ผมบ้างได้หรือไม่? ถ้าสังคมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ก็จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีของประเทศ และคนที่เป็นผู้นำประเทศ ควรทำพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่

ปัญหาคือคุณเสียภาษีครบหรือไม่ หรือใช้เทคนิคเล่ห์เพทุบาย หรือใช้เทคนิคใดมาหลบเลี่ยง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า การที่จะยื่นความผิดอาญาและผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรออธิบดีกรมสรรพากร เพราะมีแนวคำพิพากษาที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไปแล้ว

จะยื่นวันไหนนั้น ผมขอหารือกับพรรคก่อน แต่ยืนยันว่าจะยื่นแน่นอน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

บี้ ‘นายกฯ-กรมที่ดิน​’ ปมออกโฉนดโรงแรมเขาใหญ่​ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย​​’ เหตุเป็นที่ต้นน้ำลำธาร

วิโรจน์ ระบุด้วยว่า ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรี กรณีถือครองที่ดินโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่  มีเพียง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงแทน แต่ตนยังมีความสับสนอยู่

เนื่องจาก วราวุธ อ้างถึงประกาศคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง แต่ไม่ได้ยกเลิกมติ ครม. ปี 2514 ที่กำหนดว่าพื้นที่แปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรม เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร แสดงว่าประกาศคณะปฏิวัติไม่ได้ยกเลิกพื้นที่ต้นน้ำลำธารตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2514

เมื่อปี 2567 คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎรได้ขอข้อมูลไป และมีการส่งแผนที่ของที่ดินแปลงดังกล่าวมาให้ ก็ยังปรากฏว่าเป็นที่ดินต้นน้ำลำธารอยู่ และหากที่ดินต้นน้ำลำธารยังคงอยู่ ตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ข้อ 14(5) ก็ออกโฉนดไม่ได้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ล่าสุด การชี้แจงของกรมที่ดินน่าแปลกใจและน่าตกใจมาก คณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติจึงขอตั้งคำถามว่า มติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ สามารถลบล้างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2514 ได้หรือไม่?

ซึ่งกรมที่ดินต้องยืนยันว่า มติคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติดังกล่าว ใหญ่กว่ามติคณะรัฐมนตรีได้อย่างไร? ศักดิ์และสิทธิ์ของกฎหมายเป็นอย่างไร?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

สิ่งสำคัญที่สุด อยากให้สื่อฯ เข้าไปดูมติของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ โดยเฉพาะกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ประกาศกฎ ในรายละเอียดบอกว่าให้สิทธิการครอบครอง แต่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ ซึ่งหมายความว่า ถ้ายึดตามมติคณะกรรมการจัดรูปที่ดินแห่งชาติ ที่ดินแปลงนี้ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์แต่ให้สิทธิครอบครอง ก็ยังยืนยันว่า ออกโฉนดไม่ได้

คำถามไม่ได้คือการออกโฉนดแล้วถูกกฎหมาย แต่คำถามคือ “ออกโฉนดมาได้อย่างไร?” ที่ตรงนั้นเป็นที่ต้นน้ำลำธาร ตรงนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ตอบสังคม และชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ประชาชนรับทราบ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์