‘วิโรจน์’ ขนลุก! ยอดทุจริตในไทย ปีละ 3 แสนล้านบาท

8 ธันวาคม 2566 - 07:58

wiroj-lakkhanaadisorn-shocked-by-the-corruption-numbers-per-year-up-to-300-billion-baht-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘ก้าวไกล’ ชำแหละปัญหาคอร์รัปชัน ‘วิโรจน์’ ขนลุก! ตัวเลขทุจริตต่อปีสูงถึง 3 แสนล้านบาท ซัดเป็นผลพวงของ ระบบอุปถัมภ์-ขาดความโปร่งใส-ใช้กฎหมายปิดปาก

วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่พรรคก้าวไกล ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลละ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ในหัวข้อ ‘ก้าวไกล Policy Watch ชำระปัญหา-เสนอทางแก้คอร์รัปชัน’ เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ที่จะจัดขึ้นทุกวันที่ 9 ธ.ค. ของทุกปี 

โดย ‘วิโรจน์’ ได้พูดถึงตัวเลขการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยว่า มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ 1 ปี หมายความว่าหากจัดการเงินทุจริตนี้ได้จะสามารถนำเงินมาอุดหนุนเด็กยากจนได้ถึง 3 ช่วงอายุ หรือหากเปรียบเทียบกับเบี้ยผู้สูงอายุ จะสามารถเทียบได้เป็น 3 เท่า ถือเป็นภัยร้ายที่น่าขนลุก 

พร้อมมองว่าการรัฐประหารทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันแย่ลง แผนปฏิรูปประเทศเป็นเพียงกระดาษปึกหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย นอกจากนี้ยังมีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกจนแก้ไม่ได้อีกด้วย

“ถ้าเกิดประเทศเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน หากนักลงทุนต้องจ่ายเงินสีเทา จ่ายเงินใต้โต๊ะ เราจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างไร เราจะกระตุ้นให้คนในประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์กล้าลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้อย่างไร ถ้าสังคมนี้เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ระบบผูกขาด ที่ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ และมีกฎหมายหนุนหลังให้ทุนผูกขาดมีความได้เปรียบ”

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  กล่าว

สำหรับปัญหาสำคัญที่ ‘วิโรจน์’ มองว่าเป็นตัวบ่อนทำลายประเทศไทย และเป็นตัวการของการทุจริต มีทั้งหมด 9 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.ระบบอุปถัมภ์ และการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งเป็นปฐมบทแห่งการคอร์รัปชัน

2.การขาดความโปร่งใส และอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล

3.กฎหมายปิดปาก การคุกคามสื่อ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

4.การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

5.กฎหมายที่ล้าสมัย ที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ

6.การบังคับใช้กฎหมายอย่าง 2 มาตรฐาน การตั้งชงทำนิติสงครามกับคนที่คิดต่าง

7.ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามคอร์รัปชัน

8.การตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชันที่ล่าช้า ไม่ยอมรับความจริง จับได้แต่ราชการชั้นผู้น้อย

9.การที่สังคมมองว่าการรีดไถ ส่งส่วย เป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับ

Untitled design (19).png
Photo: ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล วันที่ 8 ธ.ค.66

และหากประเทศไทยยังอยู่ในระบบนิเวศแบบนี้ ‘วิโรจน์’ เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันจะไม่มีทางดีขึ้น และสุดท้ายจะกลายรากฐานของปัญหาที่ร้ายแรงของสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จีนสีเทา และมาเฟียข้ามชาติ ซึ่งการคอร์รัปชันในไทย มองว่าหลักๆ มี 4 ประเภท คือ การซื้อขายตำแหน่ง, การเรียกรับส่วย, การใช้ช่องทางทางกฏหมาย และดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการรีดไถ และ การล็อกสเปก

ขณะที่ ‘ณัฐพงษ์’ ระบุว่า ได้ตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณปี 2567 ที่จะเข้าสู่วาระในที่ประชุมสภาฯ ช่วงปีใหม่นี้ว่า มีข้อน่าสังเกตว่าอาจมีการทุจริตหรือไม่ ที่งบประมาณจัดทำฝายเอลนีโญ่ จำนวน 2,000 ล้านบาท จำนวน 4,000 แห่ง มีการตั้ง ชง อนุมัติภายใน 1 เดือน 

‘ณัฐพงษ์’ ยังเรียกร้องให้ ‘นายกรัฐมนตรี’ ประกาศจุดยืนเข้าร่วมเป็นสมาชิกรัฐบาลโปร่งใส OGP หรือ Open Government Partnership ภายใน 2 ปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์