เฮือกสำคัญของ ‘ยิ่งชีพ’ ต่อการชวนคนสมัครคัดเลือก ‘สว.’

23 เมษายน 2567 - 09:34

Yingcheep-iLaw-invites-people-to-election-as-senators-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านความท้าทายในการชวนประชาชนร่วมกระบวนการ ‘เลือกตั้งสว.’ ตามความเชื่อ ‘สร้างความชอบธรรมในสภาสูง’ ก้าวแรกของการล้างมรดกคสช. ของ ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการ iLaw

การที่ ‘คณะรัฐมนตรี’ เห็นชอบตามที่ ‘กกต.’ เสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยเริ่มกำหนดรับสมัคร ในวันที่ 13 พฤษภาคม และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก 3 ระดับในช่วงมิถุนาย ก่อนจะมีการประกาศผลรับรองการเลือก วันที่ 2 กรกฎาคมนี้ เป็นการโหมโรง ‘ศึกเลือกตั้งสว.’ ในรอบ 5 ปี หลังการเข้ามามีบทบาทของ ‘สว.’ จัดตั้ง ที่หลายคนเชื่อว่าเป็น ‘มรดกก้อนสุดท้ายของ คสช.’

หากอ่านท่าทีจากภาคประชาชน จะเห็นได้ชัดเจน ว่าฝากฝั่งการเมืองและประชาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มหัวก้าวหน้า เริ่มจุดกระแสเชิญชวนให้ผู้คนลงรับสมัคร และเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก สว. ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว กลับกันในฝากฝั่งกลุ่มอำนาจเก่า หรืออีกนัยคือผู้สนับสนุนการคงอยู่แบบสมบูรณ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ ยังคงนิ่งสนิท ทำเอาแปลกตายิ่ง ในห้วงที่กระบวนการคัดสรรที่ออกมาได้อย่าง ‘พิศดาร’ มีใช้เป็นชาติแรกของโลก  

หลายคนไม่รู้จะตั้งความหวังใดๆ กับการเลือกตั้ง สว. ที่กำลังจะมาถึง เพราะดูแล้วตีบตันอยากเข้าถึง แต่มีอีกหลายคนพยายามสร้างแรงกระเพื่อมเชิญชวนให้ควักเงินในกระเป๋าบ้านละ 2,500 บาท เพื่อเข้าสู่กลไกของการ ‘โหวตเลือก สว.’ ท่ามกลางกระแสชื่นชม และคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสัญญาณส่อเคล้า ว่าเข้าใกล้ช่วงสำคัญของประเทศเข้าไปทุกที

“หากที่ผ่านมาทำแล้วไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชน เราคงเลิกไปแล้ว ซึ่งการทำแคมเปญเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้มีองค์ประกอบหลายประการ ที่ท้าทาย แต่เราเชื่อมั่นว่าประชาชนที่มีพลังงาน และตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมอยู่ตลอด จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนใหญ่ในครั้งนี้”

เป็นเหตุผลที่ ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน)’ ได้กล่าวไว้ ในฐานะที่เขาเป็นแกนนำหลักของกลุ่มรณรงค์ ‘สมัครเพื่อโหวต’ ที่ชวนภาคประชาชน ตรวจสอบสิทธิ์และเข้าร่วมกระบวนการ ‘เลือกตั้ง สว.’ ปี 2567 นี้  

ด้วยความเชื่อส่วนตัว ว่ายังมีประชาชนตื่นตัวกับสถานการณ์ทางการเมือง และอยากมีส่วนร่วมในทุกมิติ จึงอยากเป็นส่วนร่วมในการให้ความรู้และเชิญชวนให้ทุกคน เข้าเป็นหูเป็นตาในการกระบวนการเลือกตั้ง สว. ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ทราบความเป็นไปเลย ว่าการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งจะทยอยเข้าสู่กลไกการคัดเลือก จะส่งผลให้สามารถทำให้ ‘มรกด คสช.’ หายไปได้หรือไม่ เพราะส่วนตัวไม่ได้ตั้งเป็นธงรบไว้แต่แรก อันเนื่องมาจากระบบการเลือกตั้งอันซับซ้อน (แบบที่กำลังจะถูกใช้) ยังไม่เคยมีประเทศไหนเคยใช้เลย ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้น ในห้วงเลือกตั้ง 

อนึ่ง ยิ่งชีพมองแก่นลึกของการชักชวนผู้คนให้เข้าสู่กระบวนการ ไม่จำเป็นต้องต่อต้าน ‘ระบอบประยุทธ์’ เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มีใจอยากขับเคลื่อนประเทศ ผ่านกลไกการตรวจสอบ อย่างมี ‘อิสระ’ และมีความ ‘เป็นธรรม’ ทุกคนสามารถร่วมกลไกนี้ได้ แม้ทางเครือข่ายจะไม่เหตุด้วยกับเจตนารมณ์ของ ‘กกต.’ ที่อยากจะให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอาชีพเป็นผู้สมัคร และเข้ามาเลือกกันเองแบบ ‘ระบบปิด’ ทางกลุ่มจึงทำได้ตามที่กฎหมายเปิดช่อง ตามที่ได้ศึกษาจากเจตนาร่างรัฐธรรมนูญ คือ ‘การเลือกตั้ง สว. ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด’

เมื่อมีข้อจำกัด จึงจัดทำระบบที่เปิดกว้างมากที่สุด (เท่าที่ทำได้) โดยให้ผู้รับสมัครประกาศก่อน เพื่อให้สามารถศึกษาผู้สมัครแต่ละเขตพื้นที่ ว่ามีท่านใดเหมาะสมหรือเป็นที่พึงพอใจ แล้วเข้าสู่กระบวนการด้วยตนเอง โดยมีเครื่องมือผ่านเว็บไซต์ senate67.com ในการกระจายข่าว หรือเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบคุณสมบัติ คอยช่วยแบ่งเบาระเบียบการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างว้าวุ่น

“ ให้เขาได้ทำการบ้านก่อนแล้วไปศึกษาผู้สมัครผ่านเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ไม่ต้องไปกินข้าว หรือนัดจัดเลี้ยงกันเพื่อแอบลอบบี้ ซึ่งจะทดแทนการสร้างเครือข่ายการฮั้วในแบบออฟไลน์ได้”

สมัคร สว. ‘เพื่อล้ม’ สว. ? 

ยิ่งชีพ แบ่งประชากรที่จะมีส่วนร่วม ในการเลือกตั้ง สว. รอบนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้เห็นชอบต่อการคงอยู่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และกลุ่มหัวก้าวหน้าที่อยากเห็น สว. มีอิสระในการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา และแม้นกลุ่มอำนาจเก่า ยังไม่แสดงท่าทีในการลงรับสมัครอย่างคึกคัก แต่เชื่อได้ว่า อาจจะมีการใช้เครือข่าย หรือคอนเนคชันเข้าช่วยหาเสียงโหวต โดยเฉพาะผู้สมัครที่ทรงอิทธิพล ในระดับอำเภอ จังหวัด หรือตามสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีเพื่อนฝูงจำนวนมากที่พร้อมให้การสนับสนุน แต่ทุกๆแง่มุมไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการ ‘ฮั้ว’ กันหรือไม่ เพราะด้วยระบบที่ไม่เปิดกว้างของขั้นตอน  

ดังนั้น ผู้ที่จะได้เห็นกระบวนการต่างๆ คือผู้ที่ลงรับสมัครเข้าไปคัดเลือก หากบุคคลที่ตั้งใจเข้าทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ เพียบพร้อมด้วยองค์ความรู้และรู้จักผู้สมัครอย่างทั่ว อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ แม้จะทราบดีอยู่แล้วว่า ‘ไม่ใช่งานง่าย’ ไม่มีใครหรือหลักเกณฑ์ใดๆ บ่งชี้ชัดว่า หากร่วมกันสมัครรับเลือกตั้ง สว. กันเยอะๆ แล้วจะทำให้เกิดอำนาจการถ่วงดุลที่เป็นธรรมในสภาสูงหรือไม่

“ขึ้นอยู่กับดวงด้วย แต่ก็ต้องอาศัยคนจำนวนมากๆ เข้าไปในระบบด้วย แต่ภาพสุดท้ายที่ผมอยากเห็น คือคนที่เข้าไปพร้อมจะยกมือให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีจิตใจเข้มแข็งไม่สามารถถูกซื้อ ไม่สามารถรับกล้วย แล้วก็เปลี่ยนใจภายหลังได้ ขอแค่ 67 คนจาก 200 คน เท่านั้น ซึ่งผมไม่รังเกียจคนที่มีจุดยืนอย่างอื่น แต่ที่ทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลโดยตรงเลยว่าจะได้ สว. ประชาธิปไตย 67 คน แต่ผมอยากให้ สว. มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และประชาชนชนจะสามารถมีส่วนร่วมกับกระบวนการได้ทั้งหมด ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่พวกเขาจะเลือกอย่างมีข้อมูลเพียงพอ” 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์