พรรคสองนางพญา ! ‘เพื่อไทย’ ในมิติ ‘วันสตรีสากล’ เป็นอย่างไร?

8 มีนาคม 2567 - 10:24

Yingluck-Paetongtarn-Pheuthai-Party-International-Women-Day-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ท่าที ‘พรรคเพื่อไทย’ เคยสร้างประวัติศาสตร์ ‘นายกฯหญิง’ คนแรก ชื่อ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ผ่านมา 13 ปี เกิด ‘ผู้นำหญิง’ คนใหม่ ชื่อ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ทั้งคู่ต่างได้รับ ‘แรงผลักดัน’ จาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในการขึ้นสู่ ‘ผู้นำสตรี’ ในทางการเมือง

  • เนื่องใน ‘วันสตรีสากล’ พรรคเพื่อไทย มีท่าที-บทบาทต่อสตรีอย่างไร ? ในยุคที่ ‘สตรี’ มีสัดส่วนในสนามการเมืองมากขึ้น ย้อนอดีต ‘นโยบาย’ จากยุค ‘รัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ที่เป็น ‘ฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์’ แล้วยุค ‘แพทองธาร’ เป็นอย่างไร?

ปรากฏการณ์ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ทำให้ประเทศไทยมี ‘นายกฯ หญิง’ คนแรก เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 13 ปีก่อน ทำให้บทบาท ‘ผู้หญิง’ ในทางการเมืองถูกจับตามากขึ้น แม้ ‘ยิ่งลักษณ์’ จะขึ้นมาด้วย ‘แรงผลักดัน’ จาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พี่ชาย ที่ให้การสนับสนุน อีกทั้งคู่ก็มี ‘ชะตากรรมการเมือง’ ที่เหมือนกัน ในการต้องไปอยู่ ‘ต่างแดน’ หลังถูก ‘รัฐประหาร’ แต่ในวันนี้ ‘บริบทการเมืองเปลี่ยนไป’ ทำให้ ‘ทักษิณ’ ได้เดินทางกลับไทย 

มาพร้อมบทบาทของ ‘ผู้นำหญิง’ คนใหม่ ของขั้ว ‘พรรคเพื่อไทย’ นั่นคือ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ บุตรสาวคนเล็ก ที่ได้รับ ‘แรงผลักดัน’ จาก ‘ทักษิณ’ ที่เป็นบิดา ในการเข้าสู่ ‘สนามการเมือง’ เช่นกัน และมีชื่อเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย’ ที่ตีคู่รัศมีเป็น นายกฯ อีกคน ทำให้เกิดคำกล่าวที่ว่า ‘1 ประเทศ 2 นายกฯ’ ขึ้นมา 

เนื่องใน ‘วันสตรีสากล’ ไม่พลาดที่ทั้ง ‘ยิ่งลักษณ์ - แพทองธาร’ จะต้องมีแอคชั่นในเรื่อง ‘บทบาทสตรี’ ทั้งในทางการเมือง-สังคม รวมทั้งปัญหาการ ‘ใช้ความรุนแรง’ ต่อสตรีที่เกิดขึ้น  

รวมทั้ง ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็มีการจัดงานเสวนา เพื่อรื้อฟื้น ‘นโยบายเพื่อสตรี’ ที่พรรคเพื่อไทย เคยดำเนินการในยุค ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ ที่ในอีกแง่ก็ถูกมองว่าเป็น ‘ขุมกำลังการเมือง’

Yingluck-Paetongtarn-Pheuthai-Party-International-Women-Day-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' กับบทบาทในกองทุนสตรี ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี

อดีต ‘นายกฯหญิง’ กับบท ‘ผู้นำสตรี’ ที่ไม่มีตอนจบ 

แม้ ‘ยิ่งลักษณ์’ จะอยู่ต่างประเทศมาหลายปี พ้นจากเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว 10 ปี แต่ ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังคงไม่ลืมบทบาท ‘ผู้นำสตรี’ ที่ต้องแสดงความคิด-ท่าที ผ่านโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะวันสตรีสากล 8 มี.ค. ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก (8มี.ค.) ว่า “ดิฉันอ่านเจอข้อมูลตัวเลขของ UNODC และ สสส. ที่ระบุว่า จำนวนผู้หญิงไทยถูกคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย จิตใจ และทางเพศ โดย 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนเคสผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง สูงถึง 30,000 เคสต่อปี นี่คือปัญหาที่ยังไม่หมด และต้องได้รับการแก้ไข 

สิทธิสตรี คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคน คือคนเท่ากัน ดังนั้นในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ดิฉันรู้ถึงบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันของผู้หญิง บางคนเป็นแม่ บางคนเป็นลูกสาว เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว แต่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ‘สิทธิ’ ที่ควรได้รับต้องไม่แตกต่างกัน 

เนื่องในวันสตรีสากล ดิฉันขอให้ผู้หญิงทุกคนเชื่อมั่นในคุณค่า และศักยภาพของตัวเราเอง และขอส่งกำลังใจให้ทุกคน กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตัวเองในทุกกรณี และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่กล้ายืนหยัดได้มีหนทางในการช่วยเหลือตัวเองต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี  

ซึ่งก่อนหน้านี้ภายใต้รัฐบาลของดิฉัน เคยมีการก่อตั้ง OSCC - One Stop Crisis Center หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการขึ้นเพื่อรองรับตรงนี้ โดยทำงานบูรณาการการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาเพื่อสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของ กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ดิฉันยังเห็นการทำงานของศูนย์ฯนี้ ดิฉันหวังว่าจะเป็นทางสายเล็กๆที่ขยายเป็นทางสายใหญ่ให้ผู้หญิงทุกคนเดินต่อไป เหมือนเช่นเดิมที่ได้ก่อตั้งไว้ สุดท้าย ดิฉันยังเชื่อเสมอว่า หากเรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง เราจะไม่มีวันยอมให้ใครมาลดทอนคุณค่าของเรา Happy International Women’s Day”

Yingluck-Paetongtarn-Pheuthai-Party-International-Women-Day-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ‘แพทองธาร ชินวัตร’ร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องในวันสตรีสากล ที่ UNESCAP องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย 

‘แพทองธาร’ เล่นบท ‘ผู้นำสตรี’ หนีไม่พ้น Soft Power 

ขณะที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ไปร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องในวันสตรีสากล ที่ UNESCAP องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย  

แพทองธาร ยืนยันว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เรามีผู้นำหญิงมากมายทั้งในภาครัฐและเอกชน แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศและประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงมาแล้ว แต่การผลักดันผู้หญิงให้เข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองยังเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย  

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อัตราส่วนของ สส.หญิง มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากอดีต แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของสภาทั่วโลก โดยพรรคเพื่อไทยถือเป็นพรรคการเมืองที่มีสัดส่วนนักการเมืองผู้หญิงมากที่สุดในประเทศไทย 

แพทองธาร ย้ำว่า ที่ผ่านมาการทำงานของพรรคเพื่อไทยเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนวิธีคิดที่สังคมมีต่อผู้หญิง (Empowerment) ให้โอกาสผู้หญิง และผลักดันนโยบายเพื่อลดอุปสรรคทางเพศ และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ผลักดันเพียงเพศใดเพศหนึ่ง แต่คำนึงถึงความสามารถ ความเป็นไปได้ และความพร้อมของบุคลากรเป็นหลัก โดยไม่ได้มีข้อจำกัดทางเพศ 

แพทองธาร ได้พูดถึงแนวทางนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่พร้อมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงไทยไม่ว่าจะเป็น นโยบายฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อปกป้องและเยียวยาเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว นโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ (One Family one Soft Power) และกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  

พร้อมย้ำถึงประเด็นที่ยังต้องผลักดันเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศกันต่อไป ทั้งการขยายวันลาคลอด สิทธิในการเข้าถึงผ้าอนามัย สวัสดิการเด็กแรกเกิด และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมและมายาคติในสังคม โดยอาศัยเวลาและเชื่อมั่นจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ 

“พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล เราเชื่อว่า เศรษฐกิจที่ดีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ทุกเพศทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมในระยะยาวได้มากที่สุด เพราะการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด” แพทองธาร กล่าว

Yingluck-Paetongtarn-Pheuthai-Party-International-Women-Day-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา ‘สตรีไทย Drive สภา : บูสท์ๆ ไม่อ่อมๆ’ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เนื่องในวันสตรีสากล

เสียง ‘ผู้แทนสตรี’ ระดับพื้นที่ รุ่น ‘ไทยรักไทย-เพื่อไทย’ 

พรรคเพื่อไทยได้มีการจัดงานเสวนา ‘สตรีไทย Drive สภา : บูสท์ๆ ไม่อ่อมๆ’ เสวนาโดย ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส. บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส. กรุงเทพ และกรรมการบริหารพรรค และ จิรัชยา สัพโส สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย 

‘ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์’ สส.กรุงเทพฯ  ได้เล่าถึงการทำงาน ‘นักการเมืองสตรี’ ที่พรรคเพื่อไทยไม่มีการแบ่งเพศ ที่ผ่านมามีเพื่อน สส. และประชาชนให้การสนับสนุน ‘นักการเมืองสตรี’ และในการเสริมสร้าง ‘พลังสตรี’ ให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้บทบาทสตรีให้ขึ้นมามีสัดส่วนใน ‘ระดับบริหาร’ ที่มี ‘อำนาจตัดสินใจ’ เรื่องสำคัญมากขึ้น  

**‘จิรัชยา สัพโส’**สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเป็น สส. อายุน้อย และอยู่พื้นที่ต่างจังหวัด ค่านิยมในพื้นที่ก็อยากได้นักการเมืองผู้ชาย เพราะจะมีเข้มแข็ง-แข็งแกร่งกว่า เพราะผู้หญิงต่างจังหวัดอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ได้ออกไปทำงาน ซึ่งตอนที่ตนเองเสนอตัวครั้งแรก มีคนถามคุณพ่อ ทำไมเอาลูกสาวลง ทำไมไม่เอาลูกชายลง ซึ่งก็ถามกันอยู่มาก เขากลัวเราไม่ไหว แต่หลังจากเรามาเป็น สส. พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ที่ผู้หญิงมาเป็นผู้นำได้ เวลาลงพื้นที่พบกับแม่ๆ ยายๆ ด้วยเพศเดียวกัน ก็จะมาพูดคุนยมากขึ้น ดังนั้นเราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ต้องแสดงให้คนเห็นความแข็งแกร่ง 

‘ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์’ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้สมัคร สส. มาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ในยุคนั้นเราทำเรื่อง ‘ฮาร์ดแวร์’ ที่ นายกฯ ทักษิณ เคยตั้งกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ขึ้นมา ในการดูแลสตรีในภาคส่วนต่างๆ ในการยกระดับและสัดส่วนสตรี เช่น ในเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ถือเป็นบอร์ดแรกที่ให้มีการเลือกสัดส่วนสตรี-ผู้ชายที่เท่าเทียมกัน  

มาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะเป็น ‘ซอฟต์แวร์’ ผ่าน ‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี’ เป็นกองทุนที่ทำให้ผู้หญิง Empowerment ในเรื่องเงินทุนประกอบอาชีพในครอบครัว เครือข่าย ความเป็นผู้นำ ที่สำคัญปัญหาที่ผู้หญิงถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่ง ‘ยิ่งลักษณ์’ ได้โพสต์ข้อความแนวทางแก้ปัญหาผ่าน ก่อตั้ง "OSCC" One Stop Crisis Center หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม เพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่มีแนวคิดมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย แต่มาสำเร็จยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องประสานกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กับ กระทรวงสาธารณสุข 

ส่วนในยุค ‘แพทองธาร’ จะเน้นในเรื่อง Enhance ก็คือการนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าถึงบริการของรัฐบาลมากขึ้น 

‘ศรัณย์ ทิมสุวรรณ’ สส.บัญชีรายชื่อ ผู้ชายหนึ่งเดียวของวงเสวนา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้แบ่งแยก เราเป็นตัวแทนของทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และคนทุกเพศ เราต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ที่ประชาชนเลือกมาเป็นผู้แทน ซึ่งในฐานะ สส. ต่างจังหวัด ตนเคยไปตามคุณพ่อคุณแม่ ก็จะมีคำถามที่พบและสัมผัสได้ว่าเกี่ยวกับการทำงาน สส. เป็นเรื่องหนักและกดดัน ไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่วันนี้แนวคิดเช่นนี้น้อยลง จากสัดส่วนต่างๆ เพราะการทำงานไม่มีสิ่งใดกำหนดว่าเพศใดจะทำอะไรได้ดีกว่าเพศใด เพราะว่าเพศไม่ได้ข้อกำหนดว่าใครจะทำงานอะไรได้หรือไม่ได้ 

‘เพื่อไทย’ เคยหาเสียง ‘สิทธิสตรี’ ไว้อย่างไร ? 

ย้อนนโยบาย ‘พรรคเพื่อไทย’ เกี่ยวกับ ‘สิทธิสตรี’ ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 จะพบว่า ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ขณะเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย นำแถลงข่าวนโยบายเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันสตรีสากล ภายใต้ธีม “DigitALL: Innovation and technology for gender equality นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ” โดยมีการเปิดนโยบาย 2 อย่าง ที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างทั่วถึง 

นโยบายแรก คือ การยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทักษะ ซึ่งเดิมที กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คือหนึ่งในความสำเร็จของการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  

โดยมีกรอบความรับผิดชอบ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การพัฒนาทักษะอาชีพ, และการดูแล ปกป้องสิทธิสตรี, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เพื่อดูแลประชากรหญิงครอบคลุมทุกมิติ 

ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหญิงยังเป็นปัญหา จากข้อมูลธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ประกอบการหญิงมีจำนวนเพียง 30 % และมีถึง 70% ที่ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคค้าปลีกซึ่งเติบโตน้อย กำไรน้อย และยังขาดเทคโนโลยี 

นโยบายที่ 2 คือ การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์