อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ในฐานะตัวแทนประชาชน ยื่นหนังสือเรื่องการนิรโทษกรรมถึง ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้าน
โดย อดุลย์ กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีต้องมาทำหน้าที่เพราะคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นม็อบพรรคการเมือง รวมถึงรัฐบาลและฝ่ายค้าน ล้วนแต่ติดปัญหาคดีที่สั่งสมกันมาหลายสิบปี ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วันนี้ผมคิดว่าบ้านเมืองถึงเวลาต้องแก้ไขปรองดองสามัคคีกัน หากไม่รวมเป็นหนึ่งเดียวคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งภายนอกและภายใน ควรจะได้เวลาสามัคคีกันแล้ว จึงมายื่นหนังสือ
ผมได้ศึกษาเรื่องความปรองดองและเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬว่า ทำอย่างไรจะสามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกคนได้ เพื่อเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ และบ้านเมืองจะขัดแย้งแบบนี้ไม่ได้
— อดุลย์ เขียวบริบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม อำนาจของกฎหมายฉบับนี้คืออะไร ในประเทศไทยคงไม่มีใครรู้เท่าผม อำนาจแรกที่จะแก้ได้คืออำนาจของรัฐสภา การนิรโทษกรรมจะใช้ชื่อกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ก็พิจารณาโดยสภา ส่วนที่มีการแย้งว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันคือมาตรา 112 เห็นว่าเป็นพระราชอำนาจ ผู้ใดก็ละเมิดมิได้ จึงขอให้แยกทุกอย่างออกจากกัน และให้เข้าใจกฎหมาย ตราบใดที่สภาไปยุ่งเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีวันออกมาได้ เพราะกฎหมายขัดแย้งกันในตัว จึงคิดว่าทุกฝ่ายควรได้รับการพิจารณา และได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรม
มีการถอดเทปยืนยันว่าพรรคประชาชนไม่ได้พูดเรื่องมาตรา 112 เลย อะไรที่เป็นประโยชน์และรัฐสภาสามารถทำได้ ผมขอวิงวอน คนพวกนี้บ้านแตกสาแหรกขาด บางคนทนทุกข์ทรมานมากแล้ว ขอให้เริ่มต้นใหม่นับหนึ่งใหม่ทุกคน เพื่อนำพาพวกเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ผมขอวิงวอนด้วย
— อดุลย์ เขียวบริบูรณ์
ด้าน ศศินันท์ กล่าวว่า ขอยกคำที่บอกว่าเราอยากให้ทุกฝ่ายกลับสู่ภาวะปกติ และคืนความปกติให้กับทุกฝ่าย ซึ่งทั้ง 4 ร่างที่จะเข้าในวันนี้ หรืออีกหนึ่งร่างของพรรคภูมิใจไทยที่ไม่แน่ใจจะเข้าวันนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งทุกร่างจะมีความเหมือนกันคือต้องการคืนความสงบ และคืนความปกติสุขให้กับสังคมไทย แต่จะมีอยู่ 2 ร่างที่มีเนื้อหาแตกต่าง คือ ร่างของพรรคก้าวไกล และภาคประชาชน
ในร่างของภาคประชาชนที่ระบุถึงมาตรา 112 ชัดเจน ที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก แต่ในร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งน่าจะเป็นร่างที่มีความปรานีประนอมมากที่สุด เราไม่ได้ระบุส่วนไหนเลยถึงมาตรา 112 แต่มีการพูดถึงการตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละการชุมนุม เราไม่สามารถกำหนดตัวมาตรากฎหมายลงไปได้ชัดเจน
เราไม่สามารถตัดมาตราใดมาตราหนึ่งออกจากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ได้ และวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่จะร่วมใช้กลไกรัฐสภาในการผ่าทางตัน เพื่อนำความสงบสุขและคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนในสังคม
— ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ขณะที่ ครูมานิตย์ กล่าวว่า “ทางวิปรัฐบาลก็ได้หารือกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีมติรับร่างของพรรคครูไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ นอกนั้นมีมติไม่รับร่าง เนื่องจากมีมาตรา 112”
