แม้จะมีการรณรงค์และให้ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ภัยจาก ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ก็ยังไม่จาง ล่าสุด ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 รายงานเคสล่าสุดที่น่าตกใจ – เหยื่อถูกโทรศัพท์จากมิจฉาชีพที่ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย โทรมาข่มขู่ว่า “บัญชีของคุณมีความผิดปกติ อาจโยงกับบัญชีม้า” ก่อนส่งต่อให้คุยกับ ‘ตำรวจปลอม’ ทาง Line แล้วหลอกให้โอนเงินเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
ผลคือ สูญเงินกว่า 4 ล้านบาทในเคสเดียว! และหากนับรวมทั้ง 5 เคสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายพุ่งทะลุ 12 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่แอบอ้างแบงก์หรือเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ยังมีหลากหลายกลโกง ทั้งหลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล, ล่อลวงลงทุนผ่าน TikTok, และชวนทำงานพิเศษผ่าน Instagram ซึ่งสุดท้ายล้วนพาไปจบที่การ “โอนเงินแล้วไม่ได้เงินคืน” และหายเงียบ
AOC 1441 ชี้ กลลวงของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์มีพัฒนาการซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการปลอมตัวเป็นบุคลากรจากสถาบันที่ประชาชนเชื่อถือ เช่น ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการติดต่อผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้ง โทรศัพท์ Facebook Line Instagram และ TikTok พร้อมใช้ระบบแชตอัตโนมัติปลอม (Chatbot) สร้างความน่าเชื่อถือ
AOC 1441 ย้ำว่า เจ้าหน้าที่รัฐและธนาคารจะไม่โทรแจ้งให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น หากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด นอกจากนี้ ยังเตือนให้ยึดหลัก ‘4 ไม่’ ประกอบด้วย ไม่กดลิงก์-ไม่เชื่อคนง่าย-ไม่รีบโอน-ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
AOC 1441 สรุป 5 คดีอาชญากรรมออนไลน์ ที่เกิดขึ้นช่วงวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2568 ทำประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง ประกอบด้วย
1. หลอกสมัครสมาชิกแลกรางวัล มูลค่าความเสียหาย 1.89 ล้านบาท
2. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (อ้างกรุงไทย) มูลค่าความเสียหาย 4.02 ล้านบาท
3. หลอกค่าธรรมเนียมแจ้งความออนไลน์ มูลค่าความเสียหาย 1.42 ล้านบาท
4. หลอกทำงานพิเศษ (IG) มูลค่าความเสียหาย 3.59 ล้านบาท
5. หลอกลงทุนเทรดหุ้น (TikTok) มูลค่าความเสียหาย 1.71 ล้านบาท
ความเสียหายสะสมสะท้อนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือน
จากสถิติสะสมของ AOC 1441 ระหว่าง 1 พ.ย. 2566 – 23 พ.ค. 2568 มีประชาชนโทรเข้าสายด่วน 1441 กว่า 1.74 ล้านสาย มีการระงับบัญชีต้องสงสัย กว่า 671,000 บัญชีธนาคาร
ประเภทคดีสูงสุด คือ
- หลอกซื้อขายสินค้า
- หลอกหารายได้พิเศษ
- หลอกลงทุน
- หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล
- หลอกให้กู้เงิน
สะท้อนว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์กำลังกลายเป็น ‘ภัยเศรษฐกิจครัวเรือน’ ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขความเสียหาย หากแต่บั่นทอนความมั่นใจในการทำธุรกรรมออนไลน์ของประชาชนจำนวนมาก
