การตัดสินใจของทรัมป์ในการ ‘ระงับ’ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากที่ทรัมป์ยืนกรานว่าภาษีศุลกากรที่สูงเป็นประวัติการณ์จะคงอยู่ต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเขากำลังพิจารณาที่จะระงับการขึ้นภาษี
“ใจเย็นๆ! นี่เป็นเวลาที่ดีเยี่ยมสำหรับการซื้อ (หุ้น)!!!” ทรัมป์กระตุ้นชาวอเมริกันบนแพลตฟอร์ม Truth Social ของเขา แต่ในเวลาต่อมา ทรัมป์ก็ออกมาบอกว่า เขาตัดสินใจเมื่อวันพุธ (9 เม.ย.) ว่าจะ ‘ระงับ’ ภาษีนำเข้าต่อประเทศที่ไม่ตอบโต้สหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน
ทรัมป์ผู้เคยเขียนหนังสือ ‘Art of the Deal’ (ศิลปะแห่งการตกลง) ดูเหมือนจะอยู่ในอารมณ์ครุ่นคิดขณะตอบคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจระงับภาษีในครั้งนี้ “ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ขณะกำลังลงนามในคำสั่งบริหารหลายฉบับ พร้อมเผยว่าเมื่อช่วงเช้าวันพุธ (9 เม.ย.) ว่าเขาได้พบกับ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
และสิ่งที่ปรากฏออกมาคือโพสต์ยาวเหยียดบนเครือข่าย Truth Social ของทรัมป์ที่ระบุว่า เขาอนุญาต ‘ระงับ’ ภาษีนำเข้าต่อประเทศที่ไม่ตอบโต้สหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน ยกเว้นจีน ซึ่งเขาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 125%
รัฐบาลของทรัมป์ยืนกรานว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์อันยิ่งใหญ่ที่จะดึง 75 ประเทศเข้าสู่โต๊ะเจรจาในการลดการขาดดุลการค้าของอเมริกา
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวกับนักข่าวในเวลาต่อมาว่า “สื่อมวลชนหลายคนมองข้ามศิลปะในการทำข้อตกลงครั้งนี้อย่างชัดเจน”
นอกจากนั้น ทำเนียบขาวยังโพสต์ข้อความของทรัมป์เมื่อปี 2014 อีกด้วย โดยระบุว่า “การทำข้อตกลงคือรูปแบบศิลปะของผม คนอื่นวาดภาพหรือเขียนบทกวีได้สวยงาม แต่ผมชอบทำข้อตกลง โดยเฉพาะข้อตกลงใหญ่ๆ”
‘สัปดาห์แห่งการปลดปล่อยประเทศ’ กลายเป็นสัปดาห์แห่งความวุ่นวายที่ทำเนียบขาวพยายามอย่างหนักเพื่อส่งสารให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมที่จะเจรจาหรือไม่ ขณะที่ทรัมป์ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ที่ฟลอริดาเพื่อเล่นกอล์ฟ แต่ดูอารมณ์เสียขณะบินกลับวอชิงตัน โดยกล่าวว่า “บางครั้งคุณต้องกินยาเพื่อรักษาบางอย่าง” ซึ่งหมายถึง ‘ภาษีศุลกากร’
ลุตนิค ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของทรัมป์กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะไม่มีการเจรจา เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้า แต่แล้ว เบสเซนต์ก็เผยในวันจันทร์ (7 เม.ย.) ว่า “การเจรจาอาจเป็นไปได้”
และสิ่งที่ตามมาคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง อีลอน มัสก์ และทรัมป์ที่อาจส่อแววร้าว เพราะมัสก์ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเก็บภาษี ทั้งยังโต้เถียงกันดุเดือดบนโซเชียลมีเดียกับ ปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายภาษีทรัมป์
“มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นผลดีต่อโลกและต่อเรามาก” ทรัมป์ กล่าว
(Photo by SAUL LOEB / AFP)