Now I am become Death, the destroyer of worlds.
ตอนนี้ผมได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายล้างโลก
— เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)
นี่คือสิ่งที่ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) กล่าวขึ้นหลังจากที่ชมการทดสอบทรินิตี้ (Trinity Test) หรือการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ในนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) โดยตอนนั้นออพเพนไฮเมอร์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานให้กับแล็ปลอส อาลามอส (Los Alamos Laboratory)
ประโยคท่อนนี้ได้กลายเป็นที่โด่งดังหากพูดถึงระเบิดนิวเคลียร์ และออพเพนไฮเมอร์ โดยเขาหยิบมาจากข้อความใน ‘ภควัทคีตา’ (Bhagavad Gita) คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ เชื่อว่าแต่งขึ้นโดยฤๅษีวยาส (Vyasa) ประกอบด้วยบทกวีภาษาสันสกฤตจำนวน 700 บท เนื้อหาส่วนใหญ่ดึงคำสอนมาจากคัมภีร์อุปนิษัท หนึ่งในคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดในศาสนาฮินดู การที่ออพเพนไฮเมอร์นึกถึงบทกวีนี้อาจเป็นนัยว่าเขาเป็นคนสนใจเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนามากกว่าที่หลายคนคิดไว้

ภควัทคีตาเป็นการสนทนาระหว่าง 2 คน คือ อรชุน (Arjuna) นักรบยิ่งใหญ่จากฝ่ายปาณฑพ และกฤษณะ (Krishna) คนขับรถม้า เพื่อนคนสนิทของอรชุน และเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ที่มาของบทสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาเกิดจากการที่อรชุนต้องออกรบ แต่มีความรู้สึกไม่อยากรบเพราะจำเป็นต้องฆ่าฟันกับญาติตัวเอง รวมถึงครูบาอาจารย์ที่ตัวเองเคยเป็นลูกศิษย์ ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า มหากาพย์ภารตะเป็นความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองตระกูล คือตระกูลปาณฑพ และตระกูลเการพ กฤษณะคิดว่าหากให้คำปรึกษาในร่างนี้คงไม่เป็นผล จึงจำแลงกายเป็นพระวิษณุต่อหน้าอรชุน และให้คำสอนสำคัญแก่เขา

คำสอนหลักที่กฤษณะหรือพระวิษณุให้กับอรชุนเป็นหัวใจหลักของศาสนาฮินดู ส่วนใหญ่พูดถึงกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’ (Dharma) ซึ่งมีความแตกต่างจากธรรมะในศาสนาพุทธ ธรรมะในฮินดูหมายถึงหน้าที่ที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต อีกนัยหนึ่งคือกฎเกณฑ์ที่มอบให้กับแต่ละคน รวมถึงแต่ละวรรณะในสังคม เพื่อความเป็นระเบียบของจักรวาล การที่จะทำตามกฎเกณฑ์จักรวาลนี้ต้องทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘โยคะ’ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ กรรมโยคะ (Karma Yoga) ภักติโยคะ (Bhakti Yoga) และฌานโยคะ (Jnana Yoga) บุคคลที่สามารถทำตามได้จะบรรลุสู่โมกษะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดู
พระวิษณุเน้นย้ำให้กับอรชุนเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ที่ควรทำ เพราะเป็นไปตามกฎของธรรมะที่ควรเอาชนะเหนือฝ่ายอธรรม แม้ว่าจะต้องบุกรบฆ่าฟันกับญาติพี่น้องตัวเองก็ตาม ตอนที่กฤษณะเผยร่างตัวเองเป็นพระวิษณุ ทุกอย่างรอบตัวอรชุนแผ่ซ่านเป็นแสง ใบหน้าของทุกสรรพสิ่งปรากฎอยู่เบื้องหน้าเขา มือเริ่มแยกออกมาเป็นร้อยเป็นพัน ในเงื้อมมือถืออาวุธหลากชนิด ทั้งหมดคือการแสดงถึงความไม่มีที่สิ้นสุด การเป็นจุดสูงสุดของจักรวาลที่ไม่มีใครเทียบได้ ฉากนี้ยังเป็นสิ่งที่ออพเพนไฮเมอร์นึกถึงตอนเห็นนิวเคลียร์ที่กำลังระเบิดอยู่เบื้องหน้า

If the radiance of a thousand suns were to burst at once into the sky, that would be like the splendour of the mighty one
ถ้าแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นับพันปะทุขึ้นพร้อมกันบนท้องฟ้า มันคงเป็นภาพความงดงามของผู้ยิ่งใหญ่
คำพูดที่ออพเพนไฮเมอร์กล่าวนั้นมาจากภควัทคีตาบทที่ 11 ซึ่งถูกเรียบเรียงอยู่ในบทชื่อ ‘The Universal Form’ หรือ รูปแบบสากล (ครอบจักรวาล) ซึ่งอันที่จริงแปลว่า “ฉันคือกาลและเวลา ผู้ทำลายล้างโลก” (I am become Time, the destroyer of worlds) ไม่ใช่ “ฉันคือความตาย” (I am become Death) เป็นการสื่อว่าหากอรชุนไม่ได้ลงมือฆ่าใครก็ตามในสนามรบ ‘เวลา’ จะเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างพวกเขาอยู่ดี (อาจหมายถึงแก่เฒ่าจนหมดอายุไข) กาลเวลาคือการทำลายล้าง ทุกอย่างจะถูกกำจัดจากความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นกฎเกณฑ์ของจักรวาลที่มิอาจปฏิเสธได้ เพราะฉะนั้นต่อให้อรชุนลงมือหรือไม่ลงมือ ญาติของเขาต้องตายอยู่ดี ดังนั้นเขาควรหันมาสนใจกับภาระหน้าที่ (ฐานะนักรบ) ที่ถูกกำหนดโดยกฎจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์

ตามข้อมูลที่บันทึกและจากการสัมภาษณ์ของออพเพนไฮเมอร์ เขามีความรู้สึกคลุมเครือเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ที่เขาคิดขึ้น แม้ว่าเขาจะรู้สึกเสียใจในการสร้างระเบิดขึ้นมา แต่เขาก็มองว่าระเบิดคือกุญแจสำคัญในการจบสงคราม ขณะเดียวกันเมื่อคิดว่ามันต้องจบชีวิตใครหลายคน เขาก็รู้สึกเสียใจมากเช่นกัน ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้กล่าวประโยคที่กล่าวไปอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการตีความจากประโยคที่เขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม มีบทสัมภาษณ์ที่เขากล่าวก่อนที่จะเสียชีวิต เป็นเชิงว่าเขาไม่เคยเสียใจที่ต้องสร้างระเบิดขึ้นมา เพราะเขาตั้งใจทำหน้าที่ออกมาอย่างตั้งใจในช่วงเวลานั้น ในช่วงที่ทุกอย่างเป็นขาวกับดำ
ทั้งหมดนี้เมื่อหันกลับไปมองตอนที่อรชุนกำลังท้อแท้ใจเพราะไม่สามารถลงมือสังหารญาติตัวเองในศึกสงครามได้ อาจมีบางคนเห็นภาพออพเพนไฮเมอร์กำลังรับบทเป็นอรชุนอยู่จางๆ นั่นคือการทำหน้าที่ของตัวเองท่ามกลางความรู้สึกผิดอยู่ภายในใจ ไม่มีใครรู้ว่าทำไมเขาถึงหันมาชอบปรัชญาอินเดีย แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าเขาอาจพึ่งพา ‘ภควัทคีตา’ เป็นคำสอนสำคัญที่ปรับใช้กับชีวิตเขาในยามที่เขาต้องแบกรับภาระหน้าที่ที่เกี่ยวโยงกับชีวิตคนนับล้าน
สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ได้แล้ววันนี้ ทาง Netflix