ไบโอพลาสติกอาจไม่ใช่คำตอบ ผลวิจัยใหม่ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป

27 พ.ค. 2568 - 11:28

  • ไบโอพลาสติกจากแป้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม งานวิจัยชี้ควรทบทวนความปลอดภัยของวัสดุทางเลือกเพื่อผลในระยะยาว

  • การทดลองในหนูที่ได้รับไบโอพลาสติกจากแป้งในระดับที่ใกล้เคียงกับการสัมผัสในสิ่งแวดล้อมจริง พบว่ามีการสะสมของสารในอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ รังไข่ และลำไส้

ไบโอพลาสติกอาจไม่ใช่คำตอบ ผลวิจัยใหม่ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป

แม้จะเป็นมิตรกับโลก แต่ “พลาสติกชีวภาพ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไบโอพลาสติก” ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นวัสดุรักษ์โลก ทางเลือกใหม่ที่ย่อยสลายได้และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม กำลังเผชิญกับคำถามสำคัญด้านความปลอดภัย หลังผลการศึกษาล่าสุดพบว่า พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากแป้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับใกล้เคียงกับพลาสติกจากปิโตรเลียม

“พลาสติกชีวภาพจากแป้งที่สามารถย่อยสลายได้ อาจไม่ปลอดภัยและไม่ส่งเสริมสุขภาพอย่างที่เคยเข้าใจไว้”

หย่งเฟิง เติง หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว พร้อมแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงของการได้รับสารเหล่านี้โดยไม่ตั้งใจ

ผลการศึกษาในหัวข้อ Starch-based microplastics could cause health risks in mice, study finds ที่แผยแพร่ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry ระบุว่า จากการให้หนูทดลองบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนด้วยไบโอพลาสติกในระดับที่พบได้จริงในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 3 เดือน พบการสะสมของสารเคมีจากไบโอพลาสติกในเนื้อเยื่อตับ รังไข่ และลำไส้ของหนู พร้อมกับตรวจพบรอยโรคขนาดเล็ก (Microlesions) และความผิดปกติทางชีวภาพอื่นๆ ที่อาจเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


พบผลกระทบต่อระบบอวัยวะและพันธุกรรม

ผลการทดลองยังพบว่า กลุ่มหนูที่ได้รับไบโอพลาสติกในปริมาณสูง แสดงอาการผิดปกติในตับและรังไข่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยวัสดุไบโอพลาสติกยังส่งผลต่อเส้นทางพันธุกรรม (Genetic Pathways) และก่อให้เกิดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าอาจส่งผลต่อวงจรนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythms) ของร่างกาย


ไบโอพลาสติกอาจไม่ใช่คำตอบ ผลวิจัยใหม่ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป
ไบโอพลาสติกอาจไม่ใช่คำตอบ ผลวิจัยใหม่ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป

 

ไบโอพลาสติก ทางเลือกที่ยังต้องตั้งคำถาม

แม้ไบโอพลาสติกจะถูกโปรโมทว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและยั่งยืนกว่าพลาสติกทั่วไป เนื่องจากผลิตจากพืชหรือแหล่งชีวภาพอื่น ๆ แต่การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า ไบโอพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้รวดเร็วอย่างที่อุตสาหกรรมเคลมไว้ โดยกระบวนการย่อยสลายมักเกิดขึ้นได้เฉพาะในสภาวะเฉพาะ เช่น อุณหภูมิสูง ความชื้น และสภาพแวดล้อมทางชีวภาพเฉพาะทาง

ยิ่งไปกว่านั้น ไบโอพลาสติกก็สามารถสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกได้เช่นเดียวกับพลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งเป็นแหล่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนของโลกในปัจจุบัน

 

อุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อกังวลที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากสมาคมการค้าอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีการผลิตไบโอพลาสติกมากถึง 2.5 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลับสวนทางกับปริมาณงานวิจัยด้านพิษวิทยาและผลกระทบต่อสุขภาพที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า การพึ่งพาวัสดุทางเลือกเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในระยะยาว หากยังคงมีการผลิตและบริโภคในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะหากวัสดุเหล่านั้นยังคงมีความเสี่ยงที่ไม่ได้รับการประเมินอย่างรอบด้าน


ถึงเวลาทบทวนแนวทาง “วัสดุทดแทน” อย่างรอบคอบ

การศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้วัสดุที่มีฉลากว่า “ย่อยสลายได้” หรือ “ชีวภาพ” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยอย่างแท้จริง การตัดสินใจใช้งานไบโอพลาสติกจึงควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอ พร้อมทั้งต้องมีการกำกับดูแลและพัฒนานโยบายที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

ท้ายที่สุด การลดการใช้พลาสติกควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงวงจรชีวิต (Life Cycle) ของวัสดุ อาจเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าในการเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่แท้จริง

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์