เกาะสีชังได้เฮ! ครม.อนุมัติโซลาร์เสริมเสถียรภาพไฟฟ้า

1 ก.ค. 2568 - 06:59

  • ครม.เคาะ 255 ล้าน ลุยโซลาร์-ไมโครกริดเกาะสีชัง

  • เสริมเสถียรภาพพลังงาน

  • หนุนท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฐานราก

เกาะสีชังได้เฮ! ครม.อนุมัติโซลาร์เสริมเสถียรภาพไฟฟ้า

ภาคพลังงาน ถือเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเฉพาะทางที่อยู่ห่างไกลโครงข่ายหลัก เช่น ‘เกาะสีชัง’ จังหวัดชลบุรี ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาเผชิญปัญหาไฟฟ้าไม่มั่นคงจากสายเคเบิลใต้น้ำที่ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านพลังงานต่อเนื่อง และรัฐต้องชดเชยต้นทุนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบไมโครกริด” ในพื้นที่เกาะสีชัง วงเงินลงทุนรวม 255 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในประเทศ 191 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ. 64 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากดีเซล เพิ่มความมั่นคงของระบบพลังงานในพื้นที่เกาะ และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ

โครงสร้างโครงการประกอบด้วย
• ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดไม่น้อยกว่า 6 เมกะวัตต์พีค (MWp)
• ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage) ขนาด 2 MW/2.5 MWh
• ระบบควบคุม Monitoring และสื่อสาร
• การปรับปรุงระบบไฟฟ้าดีเซลและระบบจำหน่ายเดิมให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายใหม่

ระยะเวลาดำเนินการ ครอบคลุม 2 ปี (พ.ศ. 2569 - 2570) บนพื้นที่ 52 ไร่ของเกาะสีชัง โดยคาดว่าจะสามารถเสริมเสถียรภาพไฟฟ้าในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับกิจกรรมเศรษฐกิจในอนาคต

ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการจัดการพลังงานในพื้นที่เกาะหรือพื้นที่ห่างไกล ที่ผสมผสานพลังงานสะอาดเข้ากับระบบไมโครกริด (Microgrid) ซึ่งสามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างยืดหยุ่น และไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้าหลักมากเท่ากับในอดีต

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
• ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยดีเซล
• ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องเป้าหมาย Carbon Neutrality ของภาครัฐ
• หนุนศักยภาพด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
• ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนบนเกาะให้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างเท่าเทียม
•  สร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อรัฐบาล ลดความเหลื่อมล้ำ แม้จะอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ห่างไกล โดยประชาชนต้องได้รับการให้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการปักธงพลังงานสะอาดในพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออก และเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุน-ผู้ประกอบการในเขตเมืองท่องเที่ยวว่ารัฐพร้อมขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์