หลังกระทรวงพาณิชย์ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยถึงตัวเลขเงินเฟ้อไทย โดยระบุว่า เงินเฟ้อ มิ.ย. ติดลบ 0.25% ต่อเนื่อง 3 เดือน เหตุราคาพลังงานและอาหารสดลดลง พร้อมยืนยันว่ายังไร้ภาวะเงินฝืด คาดเดือนหน้ายังลงต่อ และคงเป้าทั้งปี 0.0 – 1.0%
ด้านนักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ CGS International (ประเทศไทย) กรรณ์ หทัยศรัทธา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน และ นักเศรษฐศาสตร์ (Vice President) สายงานวิจัย (ลูกค้ารายย่อย) ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงกรณีเงินเฟ้อไทยโดยระบุว่า
อัตราเงินเฟ้อลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สามในเดือนมิถุนายน 2568 โดยลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่เราคาดไว้ รวมถึงการคาดการณ์ของ Bloomberg ที่คาดว่าจะลดลง 0.1% yoy
ปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าพลังงานที่ลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง (ราคาน้ำมันเบนซินลดลง 18% yoy, ราคาดีเซลลดลง 3% yoy) และ ค่าไฟฟ้า (3.98 บาท/หน่วย เทียบกับ 4.18 บาท/หน่วยปีที่แล้ว) รวมถึงราคาสินค้าอาหารสดหลายรายการ โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และ ผลไม้สดที่ลดลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอาหารบางประเภทที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู และ อาหารแปรรูป
จากการวิเคราะห์ของ CGS International พบว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (คือ การบริโภคที่อ่อนแอเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าที่ต่ำ) และ เรายังพบความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เนื่องจากน้ำหนักของราคาพลังงานมีสัดส่วนถึง 13% ในตะกร้า เงินเฟ้อของไทย
ดังนั้น จากแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และประมาณการราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของเรา
เรายังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปี 2568 ไว้ที่ 0.00% yoy และยังคงมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1-day repo) ของธนาคารแห่งประเทศไทยจะอยู่ที่ 1.00% ภายในปี 2569
การแข่งขันจากสินค้าจีน มาตรการประชานิยม แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง และ ฐานที่สูงในปี 2567 คือ ปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเงินเฟ้อของไทยในปี 2568
อ่านฉบับเต็ม : https://rfs.cgsi.com/api/download?file=d5011ab3-0c44-46fb-8ebe-76258c95ecd6