พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีจำนวนช้างเลี้ยงจำนวนมาก คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรช้างเลี้ยงทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการเลี้ยงช้างจำนวนมากในพื้นที่หลายอำเภอ เช่น ในอำเภอแม่แตง มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศกว่า 418 เชือก
แต่เนื่องจากสถานที่เลี้ยงช้างในจังหวัดเชียงใหม่หลายแห่งอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลสัตว์ที่สามารถรองรับช้างป่วยได้ และการขนย้ายช้างป่วยเป็นระยะทางไกลมีความยากลำบาก ทำให้เกิดแนวคิดที่จะสร้างสถานที่ในการดูแลช้างเมื่อช้างเจ็บป่วยภายในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้น
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จึงได้เดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า หวังที่ให้เป็นพื้นที่รองรับการดูแลและรักษาช้างป่วยอย่างทันท่วงที รวมถึงเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพช้างและสัตว์ป่าที่ถูกต้องให้กับนักศึกษาสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจ บนพื้นที่ 26 ไร่ ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ล่าสุดโครงการดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า แห่งใหม่นี้ ประกอบไปด้วย อาคารโรงพยาบาลช้าง อาคารสำนักงาน อาคารพักฟื้นช้างป่วย อาคารโรงเก็บอาหารและบ้านพักควาญช้าง ระบบไฟฟ้าและน้ำประปา ครุภัณฑ์ประกอบอาคาร ครุภัณฑ์สำนักงาน และ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์
โดยหากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน จะสามารถรองรับช้างป่วยที่มีอาการหนักหรืออยู่ในขั้นวิกฤตไว้รักษาได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 6 เชือก พร้อมสามารถจัดการอบรมภาคปฏิบัติระยะสั้นสำหรับนักศึกษาคณะสัตวแพทย์และผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง สัตว์ป่า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน



ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวให้ข้อมูลว่า ภาคเหนือซึ่งมีจำนวนช้างเลี้ยงคิดเป็น 1 ใน 3 มีจำนวนช้างราว 1,500-1,600 เชือก ของประชากรช้างเลี้ยงทั้งหมดของประเทศกว่า 4,000 เชือก ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีช้างรวมทั้งสิ้นราว 838 เชือก เฉพาะอำเภอแม่แตง มีจำนวนช้างเลี้ยงมากที่สุดถึง 418 เชือก
“เมื่อมีโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า อำเภอแม่แตง จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาสัตวแพทย์ ได้มาฝึกปฏิบัติงานในพื้นที่ได้จริง และจะมีหมอช้างที่เป็นแพทย์เฉพาะทางเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อช้างที่เจ็บป่วยที่จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที”
“ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคุณกัญจนา ศิลปอาชา ที่สนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลช้างศูนย์สุขภาพและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่าทางทีมงานจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อที่จะช่วยดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้างสร้างนักศึกษาสัตวแพทย์ และ หมอช้าง และสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยที่ประโยชน์ต่อช้าง” ดร.น.สพ.ฉัตรโชติ กล่าว
โดย กัญจนา ศิลปอาชา ได้มอบเงินจำนวน 49.25 ล้านบาท ในการร่วมก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า และได้ประกาศว่าการสร้างโรงพยาบาลช้างดังกล่าวจะเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนลาวงการช้างอย่างสมบูรณ์ ซึ่งหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการรักษาและดูแลช้างเมื่อยามเจ็บป่วย รวมถึงการฝึกคนรุ่นใหม่ในการดูแลช้าง การส่งเสริมวิชาชีพควาญช้างให้ควบคู่กับวงการช้างไทยต่อไป



ขณะที่ วาสนา ทองสุข เจ้าของปางช้างแม่แตง เชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลช้างแห่งนี้จะมีศักยภาพและเป็นประโยชน์กับช้างไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งทางปางช้างแม่แตงก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว อย่างที่ดินที่กำลังจะก่อสร้างนั้นทางปางช้างแม่แตงก็ได้มีส่วนในการหาพื้นที่เสนอให้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


“ถ้าหากโรงพยาบาลช้างแห่งนี้เปิดทำการเชื่อว่าจะเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในการดูแลรักษาช้างไทยได้เป็นอย่างดี การที่มีโรงพยาบาลช้างเพิ่มขึ้นก็เป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาช้างได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ช้างในอำเภอแม่แตงอย่างเดียวที่จะได้รับประโยชน์ ช้างในจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงก็จะสามารถเข้ามารับบริการในการรักษาสุขภาพของช้างได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามก็อยากจะให้นางสาวกัญจนาได้คิดทบทวนในการที่จะยุติบทบาทในวงการช้างอีกครั้ง เนื่องจากมีชาวช้างอีกมากที่รักและซาบซึ้งในตัวนางสาวกัญจนา” เจ้าของปางช้างแม่แตง กล่าว

