ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีหมายเลขพิจารณาที่ 16/2568 และมีมติเป็นเอกฉันท์ “ไม่รับคำร้อง” ของ ณฐพร โตประยูร ไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่กล่าวหาว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย และเครือข่าย ในการจัดตั้ง ส.ว. จำนวน 138 คน เพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยมิชอบ
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ เป็นเรื่องที่กล่าวอ้างถึงความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของหน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง สว. กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
สำหรับคำร้องดังกล่าวยื่นโดย ณฐพร โตประยูร กล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการ กกต. (ผู้ถูกร้องที่ 2) ว่าจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3), กรรมการบริหารพรรค (ผู้ถูกร้องที่ 4), เนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6), กรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) และเครือข่าย รวมทั้งหมด 12 ราย
ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 3, 4, 6 และ 7 ได้วางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริต ทำให้ได้มาซึ่ง สว. จำนวน 138 คน และสำรองอีก 2 คน เพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยมิชอบ และเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึง 12 ถูกกล่าวหาว่าดำเนินการตามแผนดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เป็น สว. และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เป็นกลาง ขาดความสุจริต และไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 12 รายมีความเชื่อมโยงกัน และถูกมองว่าเป็นขบวนการจัดตั้ง สว. โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ณฐพร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสามกำหนด จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-12 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้ศาลสั่งเลิกการกระทำดังกล่าว รวมถึงให้ผู้ถูกร้องบางรายหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา คดีก็ถือว่าสิ้นสุดลง