‘ดินแดนแคชเมียร์’ ชนวนความขัดแย้งร้าวลึกอินเดีย-ปากีสถาน

25 เม.ย. 2568 - 07:56

  • ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงหลังเหตุยิงนักท่องเที่ยว นิวเดลีและอิสลามาบัดได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและขับไล่เจ้าหน้าที่ทูตของกันและกันเป็นการตอบโต้

  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า “ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานอยู่ในระดับสูงสุดในขณะนี้”

  • แคชเมียร์ถูกแบ่งระหว่างอินเดียและปากีสถานนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1947 แต่ทั้งสองประเทศต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือแคชเมียร์ทั้งหมด แต่ได้ปกครองกันคนละส่วน

crisis_deepens_for_india_and_pakistan_over_kashmir_attack_SPACEBAR_Hero_a3a7fed7e4.jpg

การสังหารนักท่องเที่ยว 26 คนในแคว้นแคชเมียร์ หรือกัศมีร์ ได้จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานซึ่งต่างก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยนักวิเคราะห์เตือนถึงความเป็นไปได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียใต้ ซึ่งเคยทำสงครามกันมาแล้วหลายครั้งอาจบานปลาย บางคนกังวลว่าการใช้หนทางการทูตของอินเดียอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และมองว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเคลื่อนไหวทางทหารขึ้น 

  อินเดียกล่าวหาว่าปากีสถานเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่เมืองปาฮัลกัมในแคชเมียร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “สวิตเซอร์แลนด์น้อย” จากความงดงามของภูเขา การสังหารครั้งนี้นับเป็นการสังหารพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุดในแคว้นแคชเมียร์ในรอบ 25 ปี

  ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง นิวเดลีและอิสลามาบัดได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและขับไล่เจ้าหน้าที่ทูตของกันและกันเป็นการตอบโต้ นิวเดลีปิดด่านผ่านแดนทางบกเพียงแห่งเดียวระหว่างสองประเทศ พร้อมสั่งให้ชาวปากีสถานที่ถือวีซ่าอินเดียออกจากประเทศภายในวันที่ 27 เมษายน และผู้ถือวีซ่าแพทย์ออกภายในวันที่ 29 เมษายน รวมทั้งประกาศระงับสนธิสัญญาแม่น้ำสินธุกับปากีสถาน (Indus Water Treaty) ซึ่งกำหนดให้อินเดียกับปากีสถานแบ่งบันแม่น้ำสินธุกันตั้งแต่ปี 1960

  ปากีสถานประกาศว่าการตัดสินใจของอินเดียในการระงับสนธิสัญญาแบ่งปันน้ำแม่น้ำสินธุซึ่งมีอายุเกือบหกทศวรรษนับเป็น “การทำสงคราม” และประกาศปิดน่านฟ้าปากีสถาน ระงับการค้า รวมทั้งขับไล่นักการทูตอินเดีย โดยบอกว่ามาตรการของอินเดียเป็น “มาตรการฝ่ายเดียว ไม่ยุติธรรม มีแรงจูงใจทางการเมือง ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง และไร้คุณธรรมทางกฎหมาย”

“ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานอยู่ในระดับสูงสุดในขณะนี้”

ฟารัน เจฟฟรีย์ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายเอเชียใต้ของสถาบัน Islamic Theology of Counter Terrorism ในสหราชอาณาจักร

  “ปากีสถานก็กำลังคาดการณ์ว่าจะมีการตอบโต้ทางทหารจากอินเดีย อย่างน้อยนั่นคือสัญญาณในตอนนี้ กองทัพปากีสถานอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมสูง” เจฟฟรีย์เสริม “สถานการณ์ตอนนี้ไม่ดีเลย”

  ความเคลื่อนไหวใน 2 วันที่ผ่านมา หลังเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 22 เมษายน แสดงให้เห็นว่าอินเดียอาจเพิ่มระดับการตอบโต้ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ดร. ศรีนาถ รากาวัน กล่าว

“การโจมตีครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงอย่างยิ่งที่จะเกิดวิกฤตครั้งใหม่ระหว่างอินเดียและปากีสถาน และอาจเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ความขัดแย้งทางทหารที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ในปี 2019”

ไมเคิล คูเกลแมน นักวิเคราะห์เผยกับ Channel News Asia

ขณะที่นักวิเคราะห์ชาวปากีสถานบางคนเตือนว่า การเผชิญหน้าในปัจจุบันอาจรุนแรงขึ้นเกินกว่าการเผชิญหน้าในปี 2019

“การยกระดับความรุนแรงของอินเดียได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคืนนี้แล้ว และมันจะอยู่ในระดับที่ใหญ่กว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2019”

ไซเยด มูฮัมหมัด อาลี นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในอิสลามาบัด

อาลีอ้างว่าอินเดียใช้การโจมตีครั้งนี้เพื่อแสวงหาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสหรัฐฯ และคลี่คลายความตึงเครียดจากการคุกคามของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีศุลกากร รวมถึงเพื่อเปลี่ยนกรอบการผลักดันเอกราชในแคชเมียร์ให้เป็นขบวนการก่อการร้าย 

  แคชเมียร์ถูกแบ่งระหว่างอินเดียและปากีสถานนับตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้อิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี 1947 แต่ทั้งสองประเทศต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือแคชเมียร์ทั้งหมด แต่ได้ปกครองกันคนละส่วน อินเดียกล่าวหาว่าปากีสถานสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอด

สองประเทศนี้เคยทำสงครามและมีความขัดแย้งเกี่ยวกับแคชเมียร์มาแล้ว 3 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน ครั้งแรกไม่กี่เดือนหลังจากได้อิสรภาพจากอังกฤษ ครั้งต่อมาในปี 2016 อินเดียข้ามเส้นแบ่งเขตหยุดยิง  (Line of Control) ซึ่งเป็นชายแดนที่ไม่เป็นทางการระหว่างสองประเทศ เพื่อโจมตีเป้าหมายก่อการร้ายเป็นการตอบโต้เหตุโจมตีฐานทัพอินเดียในเขตอูรีของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์  

และในปี 2019 อินเดียได้โจมตีทางอากาศที่ค่ายฝึกก่อการร้ายในบาลาโกต เพื่อตอบโต้เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในพูลวามา ที่ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 40 นาย 

กลุ่มก่อการร้ายในประเทศหลายกลุ่ม เรียกร้องให้แคชเมียร์เป็นเอกราชหรือให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานเป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยต่อสู้กับกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงดังกล่าวนับหมื่นคน 

ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานในเรื่องแคชเมียร์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลชาตินิยมฮินดูของโมดี เพิกถอนอำนาจปกครองตนเองตามรัฐธรรมนูญในปี 2019 ของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ส่งผลให้แคชเมียร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของอินเดีย

crisis_deepens_for_india_and_pakistan_over_kashmir_attack_SPACEBAR_Photo01_76fc8cd3e3.jpg
ทหารปากีสถานเฝ้ายามหน้าป้อมขณะที่รถยนต์ของผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติเดินทางมาเยี่ยมชมบริเวณเส้นแบ่งเขตหยุดยิง ซึ่งเป็นพรมแดนโดยพฤตินัยระหว่างอินเดียและปากีสถาน ในแคชเมียร์ Photo by Aamir QURESHI / AFP

“จะเป็นเรื่องยากมากสำหรับอินเดียที่จะไม่ตอบโต้ต่อเหตุโจมตีครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาอินเดียได้ทำการโจมตีข้ามพรมแดนในปี 2016 และโจมตีทางอากาศในปี 2019 ดังนั้นครั้งนี้ก็ยากที่จะไม่ทำอะไรที่ต่ำกว่าระดับนั้น”

ดร. รากาวัน กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Straits Ti

  “พวกเขาได้ดำเนินมาตรการทางการทูตเบื้องต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้รีบร้อน และส่งสัญญาณทั้งในประเทศและระหว่างประเทศว่าการตอบโต้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการวางแผน” ดร. รากาวันเผย

  ความสงบที่ไม่มั่นคงเกิดขึ้นในภูมิภาคหลังรัฐบาลกลางยกเลิกสถานะพิเศษของแคชเมียร์ในปี 2019 และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สถานะพิเศษนี้เคยอนุญาตให้แคว้นสามารถออกกฎหมายเองได้ในทุกเรื่อง ยกเว้นการเงิน กลาโหม การต่างประเทศ และการสื่อสาร

  อินเดียซึ่งเคยมีความขัดแย้งกับปากีสถานในปี 1999 ก็ได้ระงับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางชายแดนตอนเหนือกับจีน ความตึงเครียดกับจีนได้คลี่คลายลงหลังเหตุปะทะชายแดนในปี 2020

  นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กล่าวว่า “อินเดียจะระบุ ติดตาม และลงโทษผู้ก่อการร้ายและผู้สนับสนุนของพวกเขาทุกคน เราจะไล่ล่าพวกเขาจนสุดขอบโลก จิตวิญญาณของอินเดียจะไม่ถูกทำลายด้วยการก่อการร้าย การก่อการร้ายจะไม่ถูกปล่อยให้ลอยนวล”

  ปากีสถานตอบโต้เมื่อวันที่ 24 เมษายน โดยกล่าวว่าจะ “ใช้สิทธิระงับข้อตกลงทวิภาคีกับอินเดียทั้งหมด รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงข้อตกลงซิมลา”

  ข้อตกลงซิมลาเป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่มีผลบังคับใช้หลังสงครามปี 1971 ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยเป็นแนวทางสำหรับความสัมพันธ์เพื่อนบ้านที่ดีและการเคารพเส้นแบ่งเขตหยุดยิง

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป 

ขณะนี้ ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การตอบสนองของนิวเดลีและอิสลามาบัด ขณะที่นักวิเคราะห์เกรงว่าอาจเกิดการยกระดับการทหาร 

  ดร. นูร์ อาห์หมัด บาบา จากภาควิชาการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยกลางแคชเมียร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็น “คำถามที่ยากมาก” และว่า “การตอบโต้ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจแคชเมียร์ได้เกิดขึ้นแล้ว”

“โมดีจะมีพลังทางการเมืองที่แข็งแกร่งมาก หากไม่ถูกต้าน ในการตอบโต้ด้วยกำลัง” อาร์ซาน ทาราโปเร นักวิจัยจากศูนย์ความมั่นคงระหว่างประเทศและความร่วมมือแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว 

“เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร และการคาดเดาในตอนนี้ก็ดูไม่มีความหมายนัก แต่ผมคิดว่าวิกฤตการณ์บาลาโกตในปี 2019 จะให้เบาะแสบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องจับตามองในการตอบสนองของอินเดีย” ทาราโปเรกล่าวโดยอ้างถึงการตอบสนองของนิวเดลีต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธต่อกองทหารอินเดียซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่กึ่งทหารเสียชีวิตอย่างน้อย 40 นายในแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง 

นิวเดลีตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศต่อปากีสถาน ซึ่งถือเป็นการบุกรุกดินแดนครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามระหว่างทั้งสองประเทศในปี 1971 

“คำถามสำคัญคือ พวกเขาจะพยายามทำให้กลุ่มก่อการร้ายต้องรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการโจมตีผู้นำหรือสำนักงานใหญ่ของพวกเขาด้วย หรืออินเดียจะไปไกลกว่านั้นอีก โดยก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อโจมตีกองทัพปากีสถานหรือไม่” ทาราโปเรกล่าว 

 Photo by Narinder NANU / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์