สิงคโปร์ออกกฏใหม่ ‘ห้ามขับขี่บนทางเท้า’ ฝ่าฝืนเจอโทษจำคุก 3 เดือน

3 ก.ค. 2568 - 09:29

  • นักปั่นจักรยานชาวสิงคโปร์บางคนต่างแสดงความกังวลกับกฎหมาย ‘ห้ามปั่นจักรยานบนทางเท้า’ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า “กฎหมายใหม่นี้ไม่ยุติธรรมเสียเลย”

  • กฏหมายดังกล่าวระบุว่า “ผู้ปั่นจักรยานและผู้ที่ใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่แบบไม่มีเครื่องยนต์ (PMDs) เช่น สกู๊ตเตอร์แบบเตะ บนทางเท้าจะถูกลงโทษ”

  • ผู้ฝ่าฝืนกฎครั้งแรกอาจถูกปรับสูงสุดถึง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 5 หมื่นบาท) หรือถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ ส่วนผู้เดินเท้าที่เผลอเดินล้ำเข้าไปในเส้นทางจักรยาน จะไม่ถูกลงโทษดังกล่าว

สิงคโปร์ออกกฏใหม่ ‘ห้ามขับขี่บนทางเท้า’ ฝ่าฝืนเจอโทษจำคุก 3 เดือน

นักปั่นจักรยานชาวสิงคโปร์บางคนต่างแสดงความกังวลกับกฎหมาย ‘ห้ามปั่นจักรยานบนทางเท้า’ เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าและลดความเสี่ยงจากการปะทะกับผู้ใช้จักรยานบนทางเท้า ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า “กฎหมายใหม่นี้ไม่ยุติธรรมเสียเลย” 

กฏหมายดังกล่าวระบุว่า “ผู้ปั่นจักรยานและผู้ที่ใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่แบบไม่มีเครื่องยนต์ (PMDs) เช่น สกู๊ตเตอร์แบบเตะ บนทางเท้าจะถูกลงโทษ” สำหรับทางเท้าเฉพาะคนเดินจะระบุว่า ‘pedestrians only’ (เฉพาะคนเดินเท้า) เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางทราบอย่างชัดเจน โดยเส้นทางจักรยานจะทาพื้นสีแดง 

ส่วนผู้ใช้ยานพาหนะช่วยเคลื่อนที่ส่วนบุคคล เช่น รถเข็นไฟฟ้าและอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนที่อื่นๆ (PMAs) ยังคงได้รับอนุญาตให้ใช้บนทางเท้าเฉพาะคนเดินเท้าได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดความเร็วใหม่ที่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงลดลงจากข้อจำกัดเดิมที่ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

ตั้งแต่สำนักงานคมนาคม (LTA) ประกาศโครงการนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 ทางเท้าริมเลนจักรยานกว่า 200 กิโลเมตร ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อแยกทางเท้าเฉพาะคนเดินเท้าออกจากเลนจักรยาน โดยเส้นทางเหล่านี้พบได้ในหลายเขตเมือง เช่น ย่านแทมปิเนส, ย่านปุงกอล, ย่านเซ็งกัง, ย่านยิชุน และย่านเคลเมนตี รวมถึงย่านโต๊ะปาโยด้วย 

ผู้ฝ่าฝืนกฎครั้งแรกอาจถูกปรับสูงสุดถึง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 5 หมื่นบาท) หรือถูกจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ ส่วนผู้เดินเท้าที่เผลอเดินล้ำเข้าไปในเส้นทางจักรยาน จะไม่ถูกลงโทษดังกล่าว แต่ทาง LTA แนะนำให้ผู้เดินเท้าควรใช้ทางเท้าเฉพาะคนเดินเท้าเพื่อความปลอดภัยจะดีกว่า 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เบย์ ยัม เค็ง เผยกับผู้สื่อข่าวว่า “...เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้านการเคลื่อนที่ (AMEO) มีอำนาจหยุดนักปั่นจักรยานที่ขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด หรือขี่อย่างอันตราย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ AMEO จะติดตั้งกล้องติดตัว (body-worn cameras) เพื่อบันทึกเหตุการณ์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด้วย” 

สาวกนักปั่นไม่เห็นด้วยเท่าใดนัก... 

แทน เคย์ ซิง วัย 81 ปี ผู้ปั่นจักรยานมากกว่า 20 กิโลเมตรต่อวันเผยว่าถ้าไม่ปรับคนเดินเท้า พวกเขาก็จะเดินล้ำเข้าไปในเลนจักรยาน แล้วนักปั่นจักรยานจะไปทางไหนล่ะ?...ระบบมันดูขัดแย้ง เพราะนักปั่นจักรยานมักต้องปั่นบนทางเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงผู้เดินเท้าที่ใช้เลนจักรยาน” 

กเวนโดลิน โชว์ วัย 53 ปี ผู้ปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แสดงความรู้สึกไม่พอใจในทำนองเดียวกันว่า “ฉันไม่มีปัญหาในการใช้เลนจักรยาน แต่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมที่คนเดินเท้าหลายคนเดินล้ำเข้าไปในเลนจักรยาน” 

ขณะที่ เดยาลัน สาธาสิยัม วัย 47 ปี ผู้ใช้สกู๊ตเตอร์เล่าว่า เขาต้องระวังคนเดินเท้าที่ไม่เดินบนทางของตัวเอง “พวกเขามักจะมองโทรศัพท์ แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า” และเสริมว่า เขาเคยเกือบชนคนเดินเท้า แต่โชคดีที่เบรกทันเพราะขี่ช้า 

ส่วน ไฟกัล พนักงานส่งอาหารวัย 28 ปี เผยว่า “กฏดังกล่าวนั้น ‘ไร้สาระ’...แน่นอนว่าตอนนี้ผมจะระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกปรับ”  

(Photo by Roslan RAHMAN / AFP) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์