อีกไม่กี่วันการพักชำระภาษีที่ทรัมป์ประกาศก็ใกล้ครบกำหนดแล้ว นั่นหมายความว่า มาตรการภาษีของทรัมป์กำลังจะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 9 กรกฎาคมนี้นั่นเอง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าประเทศต่างๆ จะเผชิญกับผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการนี้ได้แก่ :
1.บรรลุกรอบข้อตกลงทางการค้าได้
“จะมีข้อตกลงกลุ่มหนึ่งที่เราจะบรรลุก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม” สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (27 มิ.ย.) ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่เปิดเผยชื่อประเทศในกลุ่มนี้ แต่เบสเซนต์ระบุว่า “สหรัฐฯ กำลังมุ่งเน้นเจรจากับพันธมิตรสำคัญประมาณ 18 ประเทศ”
“ในจำนวนนี้ เวียดนาม อินเดีย และไต้หวัน ถือเป็นประเทศที่มีโอกาสสูงในการบรรลุข้อตกลง” เวนดี้ คัทเลอร์ รองประธานสถาบัน ‘Asia Society Policy Institute’ (ASPI) กล่าว เพราะหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ อัตราภาษีตอบโต้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเวียดนามจะเพิ่มจาก 10% เป็น 46% อินเดียเพิ่มเป็น 26% และไต้หวันเพิ่มเป็น 32%
จอช ลิปสกี้ ประธานเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของสภาแอตแลนติกอ้างถึงการขยายเวลาการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของคณะเจรจาของอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า “ดูเหมือนอินเดียจะอยู่อันดับต้นๆ ในการบรรลุข้อตกลง” พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า “ญี่ปุ่นเคยอยู่ในกลุ่มนั้น แต่สถานการณ์กลับล่าช้าไปเล็กน้อย” ซึ่งเป็นการอ้างถึงคำกล่าวของทรัมป์เมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ่ซึ่งทรัมป์บอกว่าญี่ปุ่นไม่เต็มใจนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่น่าจะถือเป็นข้อตกลงการค้าเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีความซับซ้อนในการเจรจาข้อตกลง ซึ่งนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้ประกาศข้อตกลงกับอังกฤษ และข้อตกลงลดภาษีชั่วคราวกับจีนเท่านั้น
2.ได้รับการขยายเวลา ‘พักชำระภาษี’ เพิ่มเติมออกไปอีก
“ประเทศที่ ‘เจรจาด้วยความจริงใจ’ สามารถรักษาอัตราภาษีไว้ที่ระดับพื้นฐาน 10% ได้ แต่การขยายเวลาหยุดพักการขึ้นภาษีเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทรัมป์”
— เบสเซนต์ กล่าว
ขณะที่ คัทเลอร์ จาก ASPI ระบุว่า “เกาหลีใต้ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ดูเหมือนจะได้ขยายเวลาพักชำระภาษี”
ลิปสกี้ คาดว่าประเทศจำนวนมากจะอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งจะได้รับการขยายเวลาหยุดพักการขึ้นภาษีที่อาจยาวนานจนถึงวันแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 กันยายน
อย่างไรก็ดี เบสเซนต์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ อาจสรุปวาระการเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ ได้ภายในวันแรงงาน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าข้อตกลงเพิ่มเติมอาจเกิดขึ้น แต่การเจรจาน่าจะยืดเยื้อเกินกว่ากำหนดเส้นตายในเดือนกรกฎาคม
3.บางประเทศอาจเจอขึ้นภาษีอย่างรวดเร็ว...
“สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ มองว่า ‘ไม่ให้ความร่วมมือ’ ภาษีอาจพุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอัตราภาษีดังกล่าวอยู่ระหว่าง 11-50%”
— เบสเซนต์ เตือน
“การที่ญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะเปิดตลาดข้าว ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ต่อต้านการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ อาจส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องจ่ายภาษีตอบโต้ 24% อีกครั้ง” คัทเลอร์ กล่าว
ตัวทรัมป์เองกล่าวเมื่อวันอังคาร (1 ก.ค.) ว่า “ข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่นนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ และประเทศดังกล่าวอาจต้องจ่ายภาษี 30% 35% หรืออัตราใดก็ตามที่เรากำหนด”
ลิปสกี้เชื่อว่าสหภาพยุโรปมีความเสี่ยงที่ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจเป็น 20% ตามที่ประกาศไว้เมื่อเดือนเมษายน หรือ 50% ตามที่ทรัมป์ขู่ไว้เมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นความตึงเครียดอาจมาจากแนวทางของยุโรปในการกำกับดูแลด้านดิจิทัล โดยทรัมป์กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าเขาจะยุติการเจรจาการค้ากับแคนาดา ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากกำหนดเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อเป็นการตอบโต้ภาษีบริการดิจิทัลของแคนาดา แต่ในเวลาต่อมาแคนาดาก็ได้ประกาศว่าจะยกเลิกภาษีดังกล่าว
ในสัปดาห์นี้ มารอส เซฟโควิช หัวหน้าฝ่ายการค้าของสหภาพยุโรปเดินทางมากรุงวอชิงตันเพื่อผลักดันการบรรลุข้อตกลงการค้า โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้รับร่างข้อเสนอเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่
(Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP)