เจ้าแมวส้ม! สีนี้นี่ได้แต่ใดมา...นักวิทย์รู้แล้วทำไมขนแมวถึงเป็น ‘สีส้ม’

16 พ.ค. 2568 - 08:38

  • เคยสงสัยหรือไม่ว่าสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘เจ้าเหมียว’ ตัวแสบนี้นี่ได้แต่ใดมา...?

  • แต่ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบปริศนาลับทางพันธุกรรม (DNA) ที่ทำให้เพื่อนขนฟูของเรามี ‘สีส้ม’ ได้แล้ว

 

‘แมวส้ม’ เจ้าตัวแสบที่อยู่ไหนก็มีแต่คนหลงรักตกทาสได้มากมายเป็นว่าเล่น แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์นี้นี่ได้แต่ใดมา...? ทว่าตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์จากทั้งสองทวีปได้ค้นพบปริศนาลับทางพันธุกรรม (DNA) ที่ทำให้เพื่อนขนฟูของเรามี ‘สีส้ม’ ได้แล้ว 


งานวิจัยพบว่า

“แมวสีส้มขาดรหัสพันธุกรรม (DNA) บางส่วน ซึ่งส่งผลให้เซลล์ที่ควบคุมสีผิว สีตา และขนผลิตเม็ดสีที่อ่อนกว่าปกติ ทำให้แมวเหล่านี้มีสีส้มอันเป็นเอกลักษณเฉพาะตัว”

 

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี้ไม่เพียงแต่สร้างความดีใจให้กับนักวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นข่าวดีสำหรับคนรักแมวหลายพันคนที่ร่วมกันระดมทุนสนับสนุนการวิจัยนี้ตั้งแต่แรกอีกด้วย นักวิจัยยังหวังด้วยว่าการไขปริศนานี้อาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าแมวสีส้มมีความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพบางอย่างเพิ่มขึ้นหรือไม่ 

 

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าพันธุกรรมเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวลายสีส้มมีสีที่เป็นเอกลักษณ์ แต่จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถระบุรหัสพันธุกรรมได้ 

 

ทีมวิจัยสองกลุ่มจากมหาวิทยาลัยคิวชูในญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยปริศนานี้พร้อมกันในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดี (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาพบว่าในเซลล์เมลาโนไซต์ (melanocytes) เซลล์ที่ควบคุมสีของผิวหนัง รากขน และดวงตาของแมวนั้นมียีนอยู่ตัวหนึ่งชื่อว่า ‘ARHGAP36’ ซึ่งทำงานสูงกว่าปกติ 


เมื่อเปรียบเทียบ DNA ของแมวหลายสิบตัวที่มีขนสีส้มและไม่มีขนสีส้ม พบว่า แมวที่มีขนสีส้มจะมีรหัส DNA บางส่วนในยีน ARHGAP36 หายไป หากไม่มี DNA นี้ การทำงานของยีน ARHGAP36 จะไม่ถูกระงับ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยีนจะทำงานมากขึ้น นักวิจัยเชื่อว่ายีนนี้มีหน้าที่สั่งให้เซลล์เมลาโนไซต์ผลิตเม็ดสีที่อ่อนกว่า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวสีส้มมีสีขนที่สว่างและโดดเด่นกว่าแมวสีอื่นๆ

แมวส้มส่วนใหญ่เป็น ‘ตัวผู้’ 

decades-long-mystery-of-ginger-cats-revealed-SPACEBAR-Photo01.jpg
Shutterstock / Lalandrew

 

นักวิทยาศาสตร์สังเกตมานานหลายทศวรรษแล้วว่า แมวที่มีขนสีส้มเต็มตัวมักเป็นตัวผู้มากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ายีนที่ควบคุมสีส้มนี้ปรากฎอยู่บนโครโมโซม X อีกทั้งแมวตัวผู้ก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ที่มีโครโมโซม X และโครโมโซม Y ซึ่งมีจำนวนยีนที่แตกต่างกัน 

 

แต่เนื่องจากยีนนี้อยู่บนโครโมโซม X เท่านั้น ในกรณีนี้ ยีน ARHGAP36 ควบคุมการผลิตเม็ดสี ดังนั้น DNA ที่หายไปเพียงชิ้นเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้แมวมีขนสีส้มเต็มตัว เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว แมวตัวเมียที่มีโครโมโซม X สองตัว หมายความว่า จะต้องขาด DNA ในทั้งสองโครโมโซมเพื่อให้ผลิตเม็ดสีที่อ่อนกว่าในระดับเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้แมวตัวเมียมักมีสีผสมมากกว่า   

 

“ลายสีส้มและสีดำบนขนเกิดจากกระบวนการที่โครโมโซม X ตัวใดตัวหนึ่งในแต่ละเซลล์ถูกปิดใช้งานแบบสุ่ม เมื่อเซลล์แบ่งตัว จะสร้างพื้นที่ที่มียีนสีขนที่ทำงานอยู่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดจุดสีที่แตกต่างกัน” ศาสตราจารย์ฮิโรยูกิ ซาซากิ นักพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคิวชู อธิบาย 

  

นอกจากนี้ นักวิจัยยังคิดว่าเป็นไปได้ที่การกลายพันธุ์ของ DNA ในยีนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ หรืออารมณ์ “เจ้าของแมวหลายคนเชื่อมั่นว่าสีขนและลวดลายที่แตกต่างกันจะมีความเชื่อมโยงกับบุคลิกที่แตกต่างกัน...ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันเรื่องนี้ แต่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและเป็นแนวคิดที่ผมอยากจะศึกษาวิจัยต่อไป” ศาสตราจารย์ซาซากิ กล่าว   

 

Photo by : Shutterstock / TarasBeletskiy 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์