หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องถอดถอน แพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้วินิจฉัย พร้อมมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ก่อน
หลายคนคาดไม่ถึงว่าศาลจะจ่ายยาแรง
กล่าวสำหรับมติเอกฉันท์ที่ให้รับเรื่องไว้นั้น พอคาดเดาได้ว่า เป็นกระบวนการที่มาตามช่องทางของวุฒิสภา และเข้าตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย
แต่มติหลัง 7 ต่อ 2 ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ตรงนี้ต่างหากที่คาดไม่ถึงจะมีเสียงเห็นด้วยท่วมท้น
ยิ่งดูจากเหตุผลเสียงข้างน้อย ที่ให้ใช้มาตรการชั่วคราวเฉพาะหน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ประเด็นคำร้องที่กล่าวหานั้น เหตุอันควรน่าสงสัยมีน้ำหนักขนาดไหน
เมื่อแพทองธาร ถูก "แขวนไว้" ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ในอนาคตหากมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง จะกลายเป็นคำตัดสินที่มีผลผูกพันทุกองค์กร ไม่ต่างจากคดีพรรคก้าวไกล ที่ถูกร้องกระทำการล้มล้างฯ และถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นร้องยุบพรรคในเวลาต่อมา
ฉันใด ก็ฉันนั้น หากแพทองธาร ที่ถูกร้องให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว อันสืบเนื่องจากคลิปเสียงสนทนา ที่เข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
หากศาลรัฐธรรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ก็ย่อมถูกนำไปใช้อ้างอิงกับการพิจารณาคำร้องหรือคดีเดียวกันนี้ ที่ยื่นร้องไว้ตามที่ต่าง ๆ ทั้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.และที่อยู่ในกระบวนการศาลยุติธรรมด้วย
แน่นอน เมื่อผลแห่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีความผูกพันกับทุกองค์กร ก็ย่อมทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่เหลือมีความกระชับและรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เวลายืดยาว
แต่ผลหนักเบาแห่งคดีจะต่างกันลิบลับ
เพราะเรื่องที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เป็นแค่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเท่านั้น แต่หากนำไปใช้กับที่อื่น ๆ เช่น ป.ป.ช.ความผิดจริยธรรมร้ายแรง จะทำให้นำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป
เท่ากับโทษประหารชีวิตทางการเมือง
หรือถ้าเป็นคดีความผิดในทางอาญา ซึ่งมีผู้ไปยื่นร้องเอาไว้แล้ว โทษานุโทษที่ได้รับก็จะถึงขั้นติดคุกติดตะรางกันเลยทีเดียว ส่วนจะหนักเบาขนาดไหน ต้องรอไว้ไปเผชิญเอง
เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลตรงนี้แล้ว คงต้องมีปฏิบัติการ "ตัดไฟต้นลม" ไม่ให้ลุกลามขยายวงไปถึงขั้นเอาชีวิตทางการเมือง หรือต้องไปเสี่ยงคุก เสี่ยงตะราง ที่รอออยู่ข้างหน้า
ดังนั้น แผนยุบสภาหนีตาย เพื่อรักษาชีวิตทางการเมืองของแพทองธาร น่าจะถูกกำหนดขึ้นอย่างช้าไม่เกินต้นเดือนกันยายน หลังสภาผ่านงบประมาณปี 69 และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีไปแล้ว
ไม่ต้องถามเรื่องอำนาจรักษาการนายกฯ จะยุบสภาได้-ไม่ได้ เพราะถึงตอนนั้น คงเคลียร์ทางให้คนที่รักษาการมีอำนาจเต็มเองนั่นแหล่ะ และถึงตอนนั้น แต่ละคนคงมุ่งหน้าสู่สนามเลือกตั้ง ไม่มีใครมาสนใจยื่นร้องเอาผิดใครอีก
ส่วนคำร้องสอยแพทองธาร ที่ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อเหตุที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยไม่มีอยู่แล้ว ก็คงจะถึงกาล "เอวัง" แต่เพียงเท่านั้น
เมื่อแพทองธาร "ถูกแขวน" แผนการยุบสภารักษาชีวิต หนีไปตายเอาดาบหน้า น่าจะถูกกำหนดขึ้นตีคู่ไปกับการสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างจบลงก่อนที่ศาลจะชี้คดี
ส่วนในระหว่างนี้ ทีมกฎหมายจะตีมึนให้แพทองธาร ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ เพื่อทำหน้าที่รมว.วัฒนธรรม ตามที่ออกแบบกันไว้อย่างไร ก็ต้องตะแบงกันไปให้สุดทาง
เพราะนี่คือ สัญญาณสู้หมดหน้าตักจากสทร.ก่อนยุบสภารักษาชีวิตลูกสาว