ทำไมต้องใช้คำว่า "ล่าแต้ม" กับความพยายามในการยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 3 ร่างล่าสุดของพรรคประชาชน ที่ยื่นต่อประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ไปในช่วงบ่ายอ่อนวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เพราะตลอดสองปีของอายุสภาชุดปัจจุบัน พรรคประชาชน ได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วเกินกว่า 10 ร่าง ทั้งการแก้ไขแบบรายมาตรา และการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การจัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
จนถูกมองว่าแผ่นเสียงตกร่อง เนื่องจากแกนนำบางคนหายใจเข้าออกมีแต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายหมกมุ่นเป็นรัฐธรรมนูญลิซึ่มด้วยซ้ำ
แต่เอาเถอะ คงเป็นความพยายามของชาวพรรคสีส้ม ที่ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากรัฐประหาร และไม่อยากฟังเสียงค่อนแคะเรื่องเกลียดปลาไหล แต่กินน้ำแกง หรือเลือกกินผลไม้เป็นลูก ๆ ไป แม้จะมาจากต้นไม้พิษต้นเดียวกันก็ตาม
อันสืบเนื่องจากพฤติกรรมของพรรคส้ม ที่ก่อกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญนี้ด้วย แต่มีหลายครั้งที่ตั้งข้อรังเกียจอ้างเป็นกลไกของเผด็จการ จึงเลี่ยงไม่ใช้กลไกนั้น กับฝ่ายบริหารที่กระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
เท่ากับไม่ยอมรับต้นไม้พิษ แต่เลือกกินผลเป็นลูก ๆ ไป
ทีนี้ที่ว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้เป็นแค่การล่าแต้ม ก็เพราะรู้ทั้งรู้ว่าโอกาสจะสำเร็จแทบเป็นศูนย์ แต่ก็ยังพากันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพิ่มอีก ได้แก่
ร่างแรก แก้ไขที่มาและกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เดิมให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการ เปลี่ยนเป็นให้สส.รัฐบาล สส.ฝ่ายค้านและสว.เป็นผู้เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหา
ร่างที่สอง แก้ไขประเด็นการคัดเลือกและการรับรอง เดิมให้วุฒิสภาดำเนินการ แก้ไขให้เป็นการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และเกินกึ่งหนึ่งของสส.รัฐบาล สส.ฝ่ายค้านและสว.ด้วย
ร่างที่สาม แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการถอดถอน ให้สิทธิสส.และประชาชนเข้าชื่อ 2 หมื่นคน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ในกรณีที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่เป็นโต้โผใหญ่ ยืนยันเป็นการปรับแก้เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยึดโยงกับประชาชน "ให้ศาลและองค์กร ไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่อิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง"
ฟังดูก็มีเหตุผลดีอยู่หรอก!!
แต่อย่างที่บอกไว้ โอกาสสำเร็จนั้นเป็นศูนย์ เพราะขนาดจับมือทำร่วมกันมาตั้งแต่ปีแรกสมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้สภาผ่านเข้าสู่ปีที่ 3/1 แล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ยังค้างเติ่งอยู่ในสภา รอศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าจะเดินหน้าไปต่อได้-ไม่ได้?!
ส่วนสามร่างล่าสุดที่เสนอไป แม้ไม่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน เพราะเป็นการแก้ไขรายมาตรา แต่เนื่องจากเป็นการแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวกับศาลและองค์กรอิสระ เมื่อแก้ไขเสร็จก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติอยู่ดี
ไม่ได้กังวลว่า ร่างแก้ไขกฎหมายประชามติที่ถูกแช่แข็งอยู่ในสภามาเกิน 180 วัน จะถูกนำมายืนยันในสภาผู้แทนราษฎรวันไหน และจะมีปัญหาอะไรอีกหรือไม่ แต่ปัญหาคือรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะประคองสภาไปต่อได้อีกกี่วัน
ไม่นับการรวบรวมเสียงสส.และสว.ให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องมีเสียงสว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ไม่รู้พรรคส้มจะไปหามาจากไหน เพื่อให้สภารับหลักการในวาระแรก หากบรรจุร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้จริง
ลำพังกติกาที่ใช้อยู่ ก็ยุ่งยากมากพอแล้ว ยิ่งมาเจอเข้ากับความไม่แน่นอนของการเมือง ในภาวะที่รัฐบาลขาดหัว รักษาการนายกฯ ไม่มีอำนาจเต็ม นายกฯ ตัวจริง นับถอยหลังรอวันเก็บของกลับบ้าน
ในสถานการณ์ที่รัฐบาลถูกล็อกหัว ล็อกท้าย ยุบสภาไม่ได้ ปรับครม.ไม่ได้ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิ่งที่พรรคส้มเสนอ อย่างมากก็ได้เป็นข่าวและเพิ่มยอดเป็นพรรคที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุดให้สภาบันทึกไว้เท่านั้น
มีบางซุ้มเสียงค่อนแคะด้วยซ้ำไปว่า ถ้าพรรคส้มเปลี่ยนเป็นเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแทน น่าจะเป็นอะไรที่จับต้องได้ในทางการเมืองมากกว่า