เดนมาร์กเตรียมปรับอายุเกษียณเป็น 70 ปีภายในปี 2040 ซึ่งสูงที่สุดในยุโรป หลังจากรัฐสภาไฟเขียว
เดนมาร์กกำหนดอายุเกษียณอย่างเป็นทางการให้สอดคล้องกับอายุขัยตั้งแต่ปี 2006 และแก้ไขทุก ๆ 5 ปี โดยปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 68 ปีในปี 2030 และเป็น 69 ปีในปี 2035
อายุเกษียณใหม่ที่ 70 ปีนี้จะใช้กับทุกคนที่เกิดหลังวันที่ 31 ธันวาคม 1970
กฎหมายใหม่ผ่านสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้ว 81 เสียง และไม่เห็นด้วย 21 เสียง
อย่างไรก็ดี ปีที่แล้วนายกรัฐมนตรี เมตเต เฟรเดอริกเซน จากพรรคสังคมประชาธิปไตยเผยว่า หลักเกณฑ์ส่วนนี้จะมีการทบทวนกันในท้ายที่สุด “เราไม่เชื่ออีกต่อไปแล้วว่าอายุเกษียณงานควรบวกเพิ่มขึ้นได้อัตโนมัติ” และว่า ในมุมมองของพรรคของเธอ “เราไม่สามารถเอาแต่บอกให้ประชาชนทำงานเพิ่มต่อไปอีก”
โทมัส เจนเซน คนงานซ่อมหลังคาวัย 47 ปีเผยกับสื่อเดนมาร์กว่า การขยับอายุเกษียณ “ไม่มีเหตุผล” และ “เราต้องทำงาน ทำงาน แต่เราไม่สามารถทำงานต่อไปเรื่อยๆ” และเผยอีกว่า สถานการณ์อาจแตกต่างไปสำหรับคนที่นั่งทำงานในสำนักงาน แต่คนที่ต้องทำงานใช้แรงงานมองว่าเป็นเรื่องยาก
“ผมจ่ายภาษีมาตลอดชีวิต ผมควรมีเวลาอยู่กับลูกหลาน”
— โทมัส เจนเซน คนงานซ่อมหลังคาวัย 47 ปีเผยเผยกับสำนักข่าว DK
การประท้วงการปรับเพิ่มอายุเกษียณที่มีสหภาพแรงงานหนุนหลังเกิดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกนในช่วงสองสามปีมานี้
ก่อนจะมีการลงมติร่างกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณ เจสเปอร์ รัสมุสเซน ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานเดนมาร์กเผยว่า ข้อเสนอให้เพิ่มอายุเกษียณนั้น “ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง” และว่า “เดนมาร์กมีเศรษฐกิจที่ดี แต่กลับมีอายุเกษียณสูงที่สุดในอียู เมื่ออายุเกษียณสูงขึ้น หมายความว่า (ผู้คน) จะสูญเสียสิทธิที่จะมีชีวิตอาวุโสอย่างมีศักดิ์ศรี”
ยุโรปกำหนดอายุเกษียณแตกต่างกัน รัฐบาลหลายประเทศปรับเพิ่มอายุเกษียณในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพื่อสะท้อนอายุขัยที่ยาวนานขึ้นและแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ในสวีเดน อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถรับผลประโยชน์บำนาญได้อยู่ที่ 63 ปี อิตาลี 67 ปีและกำลังจะปรับเพิ่มตามอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นโดยอาจปรับในปี 2026 ในอังกฤษ ผู้ที่เกิดระหว่าง 6 ตุลาคม 1954 ถึง 5 เมษายน 1960 อายุเกษียณอยู่ที่ 66 ปี ส่วนคนที่เกิดหลังจากนี้อายุเกษียณจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในฝรั่งเศสผ่านกฎหมายเมื่อปี 2023 ให้ขับอายุเกษียณจาก 62 ปีเป็น 64 ปี ครั้งนั้นส่งผลให้เกิดการประท้วงและความโกลาหลจนต้องผ่านสภาโดยอาศัยอำนาจประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง โดยไม่ผ่านการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสภา
Photo by Thibault SAVARY / AFP