Design for Sustainability: AIS 3BB Fibre3 เปลี่ยนขยะเป็นศิลปะเพื่อชุมชน

1 ก.ค. 2568 - 03:29

  • AIS 3BB Fibre3 ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเครือข่ายชุมชนในอีสาน ชุบชีวิตของเหลือใช้ให้กลับมามีคุณค่าผ่านการออกแบบที่ยั่งยืน ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568

Design for Sustainability: AIS 3BB Fibre3 เปลี่ยนขยะเป็นศิลปะเพื่อชุมชน

ในแต่ละปีมีสายไฟเบอร์ออฟติก (Drop-wire fiber optic) ปลดระวางเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจดูไร้ค่าในสายตาคนทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง AIS 3BB Fibre3 (เอไอเอส สามบีบี ไฟเบอร์ทรี) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเครือข่ายชุมชนในอีสาน ผ่านโครงการ “Design for Sustainability” ชุบชีวิตวัสดุเหลือใช้ ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้งผ่านการออกแบบที่ยั่งยืน ที่ดีทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

สายไฟเบอร์ออฟติก (Drop-wire fiber optic) ที่ปลดระวางของ AIS 3BB Fibre3
สายไฟเบอร์ออฟติก (Drop-wire fiber optic) ที่ปลดระวางของ AIS 3BB Fibre3

การออกแบบชุบชีวิตขยะเก่า...สู่คุณค่าใหม่

แม้จะหมดหน้าที่ในงานสื่อสารข้อมูล แต่สายไฟเบอร์ออฟติกยังคงคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ เนื่องด้วยตัวสายที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนแดด ทนฝน มีอายุการใช้งานยาวนานโดยไม่เปราะกรอบและไม่เป็นสนิม จึงเหมาะกับการใช้งานกลางแจ้งและในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง อีกทั้งยังมีผิวสัมผัสที่เรียบ เส้นสายที่ยาว มันวาว ซึ่งเอื้อต่อการถักทอหรือสานเพื่อใช้ในงานประดับตกแต่งหรือเป็นงานศิลปะร่วมสมัย

 สายไฟเบอร์ออฟติก วัสดุทางเลือกสำหรับโครงการออกแบบเพื่อความยั่งยืน
 สายไฟเบอร์ออฟติก วัสดุทางเลือกสำหรับโครงการออกแบบเพื่อความยั่งยืน

ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่กล่าวมา ทำให้สายไฟเบอร์ออฟติกกลายเป็นวัสดุทางเลือกสำหรับโครงการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเบา เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง หรืองานจักสานเชิงทดลอง เช่น “Sawathi Goods X AIS 3BB Fibre3”ที่รอรถเมล์กระติบ” (Katib Bus Stop) ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนำสายไฟเบอร์ออฟติกปลดระวางมาผสานกับโครงเหล็กสานด้วยลวดลายกระติบ ไอเท็มที่มีทุกบ้านของชาวอีสาน กลายเป็นสิ่งที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันและใช้งานได้จริงในชุมชน พร้อมสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น และแนวคิดการออกแบบที่เชื่อมโยงระหว่างฟังก์ชั่น ศิลปะ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว

อ.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับเบื้องหลังของที่รอรถเมล์กระติบ คือการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบท้องถิ่นและช่างฝีมือในพื้นที่ที่ถ่ายทอดทักษะและความเชี่ยวชาญ สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีรากทางวัฒนธรรมอีสาน โดยมี อ.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ออกแบบ ผ่านหลักแนวคิด Design for Sustainability ที่ไม่ได้มองการผลิตเพียงเพื่อสร้างของใหม่ แต่คือการออกแบบชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ลดขยะ เพิ่มมูลค่า เปลี่ยนสายไฟเบอร์ที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าใช้งานได้จริง สร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้ชาวบ้านสาวะถีมีส่วนร่วมในการผลิต สร้างอาชีพเสริมและรายได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับทักษะฝีมือ พัฒนาศักยภาพของช่างไม้ ช่างจักสาน ช่างเชื่อมโลหะในท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น

ในกรณีของสายไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งปกติเป็นวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในกระบวนการติดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต AIS 3BB Fibre3 ได้ริเริ่มแนวทางใหม่ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ โดยสนับสนุนวัสดุ กระบวนการผลิต และช่องทางการตลาด เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้และต่อยอดได้อย่างยั่งยืน

นายธยานนท์ วิเศษจิตเลิศ Head of BB Area Management 3 AIS 3BB FIBRE3 กล่าว

“Sawathi Goods X AIS 3BB Fibre3” ที่รอรถเมล์กระติบ” (Katib Bus Stop) ในจังหวัดขอนแก่น
“Sawathi Goods X AIS 3BB Fibre3” ที่รอรถเมล์กระติบ” (Katib Bus Stop) ในจังหวัดขอนแก่น

เมื่อ “กระติบ” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางที่ปลอดภัย

ผลงานที่รอรถเมล์กระติบได้รับแรงบันดาลใจจากที่กระติบข้าวเหนียว ที่ไม่เพียงเป็นงานจักสานเชิงหัตถกรรม แต่ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิต การเดินทาง และความอบอุ่นของครอบครัว นักออกแบบจึงตีความรูปทรงของกระติบข้าว เพื่อสื่อถึงการเดินทางจากจุดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่งอย่างปลอดภัย พร้อมกับติดตั้งไฟส่องสว่าง

วัฒนธรรมกับสิ่งแวดล้อม สองเส้นเรื่องที่เชื่อมด้วยดีไซน์

อ.ขาม จาตุรงคกุล อธิบายว่า การผสมผสานศิลปะอีสานเข้ากับวัสดุสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงเพื่อความงามหรือความร่วมสมัยเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างบทสนทนาใหม่ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิม กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์กว่า 19 ปีในการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านสตูดิโอ “ก-อ” อ.ขาม พยายามนำแนวคิด “การออกแบบอย่างรับผิดชอบ” มาสร้างระบบนิเวศใหม่ที่คนกับของใช้จะไม่ทอดทิ้งกันกลางทาง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟเบอร์ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยถูกมองข้าม

เก้าอี้อีสานโชว์พราว และม้านั่งสาวะถีสีทันดร ที่ทำจากวัสดุสายไฟเบอร์ออฟติกจัดแสดงในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 “อีสานโซว์พ(ร)าว – ISAN Soul Proud”
เก้าอี้อีสานโชว์พราว และม้านั่งสาวะถีสีทันดร ที่ทำจากวัสดุสายไฟเบอร์ออฟติกจัดแสดงในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 “อีสานโซว์พ(ร)าว – ISAN Soul Proud”

แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่า สู่งานออกแบบร่วมสมัย

นอกจากที่รอรถเมล์กระติบ (Katib Bus Stop) แล้ว สายไฟเบอร์ออฟติกเก่ายังถูกรังสรรค์เป็น “เก้าอี้อีสานโชว์พราว” (ISAN Show Proud Stool Chair) ที่ทำจากวัสดุสายไฟเบอร์ออฟติก (Drop-wire fiber optic) โรลเก็บสายไฟเบอร์ (Drum) และสายรัดพลาสติก (Polypropylene) ครีเอทออกมาเป็นเก้าอี้นั่งน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้ทักษะช่างจักสานเส้นพลาสติกผสมกับเส้นไฟเบอร์ สานเป็นทรงกระติบข้าวสไตล์ขอนแก่น พร้อมติดเบาะนั่งเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน และใช้ทักษะช่างไม้ โดยถอดส่วนประกอบทั้งหมดของแกนเก็บสายไฟเบอร์ ก่อนจะทาสีให้สวยสะอาดตา และใช้เส้นไฟเบอร์เพื่อยึดให้คงทนและสวยงาม

ม้านั่งสาวะถีสีทันดร (Sawathi Sithandon : Round Bench Seat) ที่ อ.ขาม ดีไซน์โดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของ “ฮูปแต้ม” จิตกรรมของวัดไชยศรี
ม้านั่งสาวะถีสีทันดร (Sawathi Sithandon : Round Bench Seat) ที่ อ.ขาม ดีไซน์โดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของ “ฮูปแต้ม” จิตกรรมของวัดไชยศรี
“ฮูปแต้ม” จิตกรรมของวัดไชยศรี
“ฮูปแต้ม” จิตกรรมของวัดไชยศรี

ยังมี “ม้านั่งสาวะถีสีทันดร” (Sawathi Sithandon : Round Bench Seat) ที่ทำจากวัสดุสายไฟเบอร์ออฟติก (Drop-wire fiber optic) กับโครงเหล็กแทรมโพลีนเก่า ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของ “ฮูปแต้ม” วัดไชยศรี เรื่องสินไซ วรรณกรรมยอดนิยมอายุกว่าร้อยปี ในตอนที่ 8 ซึ่งกล่าวถึง “มหานทีสีทันดร” โดยพระเอกในเรื่องได้พบรักกับนางกินรี ก่อนหลุดพ้นจากทุกสิ่งยั่วยุ และกลับมาทำหน้าที่ของตนต่อไป ลวดลายนี้จึงถูกตีความใหม่ให้กลายเป็นเส้นสายแห่งการเคลื่อนไหว ที่สื่อถึงความรัก การหลงใหล และการหลุดพ้น เช่นเดียวกับที่วัสดุเหลือใช้สามารถหลุดพ้นจากชะตากรรมของการเป็น “ขยะ” และกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

อ.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายธยานนท์ วิเศษจิตเลิศ Head of BB Area Management 3 AIS 3BB FIBRE3
อ.ขาม จาตุรงคกุล อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายธยานนท์ วิเศษจิตเลิศ Head of BB Area Management 3 AIS 3BB FIBRE3

เตรียมขยายผลสู่ภาคใต้

ความสำเร็จของโครงการในขอนแก่น ทำให้ AIS 3BB Fibre3 มีแผนขยายแนวคิดนี้ไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อร่วมออกแบบชีวิตที่ดีขึ้นในอีกบริบทของชุมชนภาคใต้ โดยยังคงหลักการเดิมในการใช้วัสดุเหลือเป็นแกนหลัก สร้างงานด้วยความเคารพต่อท้องถิ่น และเชื่อมโยงผู้คนผ่านดีไซน์ที่มีความหมาย

สำหรับเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 “อีสานโซว์พ(ร)าว – ISAN Soul Proud” จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เริ่มโชว์ของประลองไอเดียกันแล้ววันนี้ ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ณ TCDC ขอนแก่น, ย่านชุมชนสร้างสรรค์ Columbo Craft Village, โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น และชุมชนสาวะถี เมืองขอนแก่น

โครงการนี้คือบทพิสูจน์ว่า “ของเก่า” ที่ใส่ไอเดียสร้างสรรค์ ออกแบบด้วยความคิด ความเข้าใจ และความรักต่อชุมชน สามารถกลายเป็น “สิ่งใหม่” ที่มีความหมายต่ออนาคต ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์